posttoday

ยุทธการยึดแบงก์ชาติ (2) เป้าหมายคือ เก้าอี้ผู้ว่าฯ

17 ตุลาคม 2567

การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาของนายกฯ แพทองธาร มีประเด็นแหล่งเงินทุน 4 แหล่ง เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า 1 ใน 4 คือ กองทุนฟื้นฟูฯ โดยดึงเงินนำส่งหรือค่าต๋งของแบงก์พาณิชย์ปีละ 7 หมื่นล้าน ออกมาซื้อหนี้เสียแบงก์

ยุทธการยึดแบงก์ชาติ (2) เป้าหมายคือ เก้าอี้ผู้ว่าฯ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้เหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ควรแทรกแซงธนาคารกลาง มี 2 ประเด็นหลัก 1.ธนาคารกลางต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินระยะยาว ต่างกับรัฐบาลที่ต้องเอาใจโหวตเตอร์และนโยบายประชานิยม 2.เพื่อแยกคนที่มีหน้าที่ “พิมพ์เงิน” กับ “คนใช้เงิน” ออกจากกัน ดังนั้นธนาคารกลางจึงต้องมีอิสระจากรัฐบาล เพื่อดูแลเสถียรภาพที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

          หากรัฐบาลชาติใดแทรกแซงธนาคารกลาง เพื่อหวังผลทางการเมือง มักจะพบจุดจบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนล้มละลายในที่สุด!.....

          ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกให้ความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของธนาคารกลางมากกว่ารัฐบาล ไม่เว้นประเทศไทย

          หากย้อนบทเรียนในอดีตตราบปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น และแม้จะเป็นเช่นนั้นแทบทุกครั้ง ฝ่ายการเมืองก็ยังไม่ลดละความพยายาม ทำไม อำนาจและผลประโยชน์ คือคำตอบ ขุมทรพย์มหาศาล แบงก์ชาติเปรียบสเมือนปู่โสมเฝ้าทรัพย์ อะไรบ้าง!?.....

          ผู้ว่าแบงก์ชาติ มีอำนาจอะไรบ้าง คำตอบคือนอกจากกำกับดูแลนโยบายการเงินแล้ว ยังเป็นผู้บริหารจัดการผลประโยชน์และทรัพย์สินของ ธปท. โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ส.ค.2567 อยู่ที่ 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.78 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากรองรับการนำเข้าได้นานกว่า 8 เดือน ยังมากถึง 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ส่วนนี้ได้มาจากเงินตราต่างประเทศที่ถูกนำมาแลก ทั้งจากผู้นำเข้าส่งออก นักลงทุน นักท่องเที่ยว คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงทองคำที่ถือครองและรับบริจาค เหล่านี้เพื่อใช้หนุนหลังในการพิมพ์ธนบัตร

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

          รัฐบาล “แพทองธาร” ยังมีแนวคิดโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) จากที่คลังรับผิดชอบไปให้แบงก์ชาติ ตัวเลขปัจจุบัน ณ สิ้นเดือน เม.ย.67 มีหนี้คงค้าง 560,869 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ลดลงจากเงินต้น 1.4 ล้านล้านบาท เมื่อสมัยวิฤตต้มยำกุ้ง โดยมีความพยายามมาตั้งแต่ปี2554 หรือในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

          การโอนหนี้ดังกล่าว รัฐบาลมองประโยชน์คือช่วยลดเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อรัฐบาลจะได้มีช่องว่างให้กู้เพิ่ม แต่สิ่งที่จะตามมานอกจากหนี้ประเทศแล้ว ความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติจะลดลง กระทบเงินหนุนหลังธนบัตรที่พิมพ์ ส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีค่าเงินเป็นอย่างมาก

          น่าสนใจตรงที่นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ของ “แพทองธาร ชินวัตร” เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา มีประเด็นการดึงแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ หากตรวจสอบจะพบว่า 1 ใน 4 แหล่งก็คือ การดึงเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 50% จากยอดรวมที่แบงก์พาณิชย์นำส่งค่าต๋งต่อปีประมาณ 70,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อนำไปซื้อหนี้เสียสินเชื่อบ้าน-รถยนต์

          เจตนาดีในการช่วยเหลือประชาชนที่เสียเปรียบแบงก์พาณิชย์ ทว่าที่มาของเงินยังคงเป็นแบงก์ชาติ เป็นแบงก์ชาติที่รัฐบาลตระกูลเพื่อไทยจากรุ่นสู่รุ่น จ้องตาเป็นมัน ความขัดแย้งในนโยบาย ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่ายุคลูกสาว “ทักษิณ ชินวัตร” จะลงเอยลงเช่นไร!@?.....

          การเปลี่ยนแปลงผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากจะมีอีก ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในอดีตมีการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติโดยฝ่ายการเมืองมาแล้ว 4 ครั้ง!?.....

          หนล่าสุด วันที่ 29 พ.ค.2544 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลสั่งเด้ง “หม่อมเต่า-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” พ้นเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี และ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นรัฐมนตรีคลัง แม้ไม่ระบุเหตุผลแต่วงการแบงก์พาณิชย์เชื่อว่าเกิดจากความขัดแย้งเรื่องค่าเงินบาทและดอกเบี้ย รวมถึงความกระด้างกระเดื่องของ หม่อมเต่า ที่ไม่สนับสนุนนโยบายการผ่อนปรนสินเชื่อรายย่อยตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ

          ไม่เพียงเท่านั้น 12 ปีต่อมา ต้นเดือน พ.ค.2556 ทะลักจุดเดือด ใกล้เคียงกับการแตกหักก็คือในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี “พี่โต้ง” ยังควบเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง ว่ากันว่า กิตติรัตน์ ยอมรับกับสื่อที่ใกล้ชิดว่าคิดจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติที่ชื่อ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เพราะไม่ประสานนโยบายอย่างที่รับปากกันไว้ จุดจบยังไม่ถึงขั้น แต่ก็นับว่าใกล้เคียงสุดๆ

          นับตั้งแต่ พ.ค.2556 วันนี้ผ่านไป 11 ปี เป็นปีที่รัฐบาลยังชื่อเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่รับตำแหน่ง นายกฯ ชื่อเศรษฐา ทวีสิน  “น้องนิด” ของพี่โต้งบนหใวกนายกฯ ควบ รมว.คลัง เป็นคนลงมือเอง “การประสานงา” นโยบายการเงิน กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ส่วนใหญ่เปิดเผยในที่สาธารณะ ผลออกมา “เศรษฐพุฒิ” ซึ่งเป็นลูกชายอดีตนักการทูต ยังนั่งอยู่ที่เดิม ขณะที่ “เศรษฐา ณ ระนอง” ไม่ทันครบขวบปี มีอันพ้นเก้าอี้นายกฯ ด้วยข้อหาจริยธรรม

          กระนั้นก็ดี ไม่ได้หมายความว่า เก้าอี้ ผู้ว่าแบงก์ชาติ จะเป็นอมตะ?.....

          สถานการณ์ของ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" วันนี้ไม่ต่างไปจาก “หม่อมเต่า” ในอดีต วันนี้กฎระเบียบที่เข้มงวดเรื่องสินเชื่อ กับระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง เป็นข้อจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะท้าทายความรู้ความสามารถมากกว่าหรือไม่ หากแบงก์ชาติมีการเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อแบงก์ ด้วยการสั่งลดอัตราการกันสำรองหนี้ เพื่อให้แบงก์ได้มีที่ว่างในการปล่อยกู้มากขึ้น

          ส่วนการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย แบงก์ชาติลองถามใจตัวเองดูหรือยังว่าพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือ ผลประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์เอกชนมากกว่ากัน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่สูงขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าแบงก์ชาติมีส่วนร่วม ยิ่งมองไปที่ “ส่วนต่าง” ดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแบงก์ชาติคือตัวการ ใช่หรือไม่???!!!.....

แมน ซิตี้ไดมอนด์