posttoday

บริบทใหม่ของอาเซียน สู่ความยั่งยืนแห่งอนาคต

19 ตุลาคม 2567

ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตลอดจนนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกลดลงในปี 2023

          ทว่าหากเราซูมอินในภูมิภาคเอเชียกลับพบว่า สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้กว่า 226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงสุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน มูลค่าการลงทุนนี้สะท้อนถึงความยืดหยุ่น (Resilience) ที่พร้อมปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง และสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของภูมิภาคนี้ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก 

          ดิฉันได้รับโอกาสเข้าร่วมงาน ASEAN Conference 2024 ณ Sand Expo & Convention Centre ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย The Singapore Business Federation (SBF) ร่วมกับ United Overseas Bank, Rajah & Tann Asia (บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย) และ RSM Singapore (บริษัทที่ปรึกษาทางบัญชี) โดยมี นายกาน คิม ยอง (Gan Kim Yong) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Industry) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาในหัวข้อ “Reimagining ASEAN for a Sustainable Tomorrow” 

          เพื่อสะท้อนถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าและยั่งยืน การเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในการสร้างความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคในอนาคต โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคอาเซียนกว่า 500 ราย 

          ภายในงานดังกล่าว ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้นำเสนอศักยภาพและบทบาทของแต่ละประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน กล่าวโดยสรุป ดังนี้ 

          ประเทศมาเลเซีย :  นำเสนอ Industry Focus ปี 2024 โดยมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียว ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 และยกเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 45% ภายใน ปี2030 การส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน 70% ภายในปี 2050 (ปัจจุบันผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ 25% และคาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ 31% ภายในปี 2025 และ 40% ภายในปี 2035)

          ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น ส่งเสริมการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ IoT, Cloud Computing และ Big Data และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 

          ในการนี้ Malaysian Investment Development Authority หรือ MIDA ได้นำเสนอความง่ายและสะดวกในการลงทุนตั้งกิจการในมาเลเซีย และเน้นนำเสนอโอกาสการลงทุนใน Johor โดยชูจุดแข็งเรื่องตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้และเชื่อมโยงด้านโลจิสติกกับสิงคโปร์ เพื่อชักจูงการลงทุนจากนักลงทุนสิงคโปร์

          ประเทศอินโดนีเซีย : นำเสนอ Indonesia 2045 vision : Realizing Golden Indonesia 2045 โดย ชู 6 นโยบายหลัก สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ (2) การเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ (3) การส่งเสริมการย้ายฐานการผลิต (4) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (5) การส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ และ (6) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

          นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Roadmap for the Energy Sector Towards Net Zero Emissions by 2060) ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหิน ภายในปี 2021 – 2025 และกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ 42% ภายในปี 2026 – 2030 

          ดังนั้น ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อินโดนีเซียจึงหันมาให้ความสำคัญและสร้างจุดแข็งด้าน Innovative-based investment เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ได้แก่ การพัฒนาด้าน E - Commerce, Digital Payment, Healthtech, Edtech, Smart Agriculture และ Smart City โดยเชื่อมโยงกับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน

          ประเทศไทย : นำโดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ ที่ได้เปิดมุมมองของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นและเป็นแหล่งโอกาสของการลงทุน พร้อมเน้นย้ำว่าประเทศไทยยังคงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำแผนพลังงานชาติ ปี 2567 – 2570 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด และการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาดอย่างมีมาตรฐาน 

          พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (REC Certificate) เพื่อให้มั่นใจว่าจะมี “ไฟฟ้าสีเขียว” ในปริมาณเพียงพอสนองต่อความต้องการ และเพิ่มปริมาณการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งสอดรับกับการประกาศนโยบายยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          บีโอไอจึงมุ่งส่งเสริมการลงทุนสีเขียว (Green Investment) ใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ (1) ภาคพลังงาน โดยส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตพลังงานสะอาด (2) ภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรม Bio – Based และ Renewable Energy และการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน (Smart & Sustainability) และ (3) ภาคขนส่ง โดยส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

          ด้วยข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นประตูสู่ตลาดอาเซียน แต่ยังเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนและนวัตกรรม และกลายเป็นศูนย์กลางของพลังงานสีเขียว การผลิตขั้นสูง และนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

          ตลอดจนความยืดหยุ่น (Resilience) และความสามารถในการปรับตัวในการประกอบธุรกิจ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานมีทักษะ ตลอดจนการสนับสนุนการลงทุนจากนโยบายของรัฐ 

          เหล่านี้ถือเป็นทางเลือกที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศไทย และประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

          จากการเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของทั้ง 3 ประเทศ ต่างก็มุ่งเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน แม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน 

          ดังนั้น การบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มนวัตกรรมและประสิทธิภาพทางธุรกิจ ภายใต้หลักปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค จึงมั่นใจได้ว่าแนวทางที่กล่าวมาจะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

โดย : นางสาวอาทิตยา แสนสุด นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน

หมายเหตุ : บทความข้างต้นเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานแต่อย่างใด