เปิดชิงดิวตี้ฟรีสถานีบางซื่อ
คมนาคมเปิดกว้างเอกชนชิงดิวตี้ฟรีสถานีกลางบางซื่อ-ท่าเรือคลองเตย หลังรายได้ร้านปลอดภาษีในเมืองโตกว่าสนามบินถึง 58%
คมนาคมเปิดกว้างเอกชนชิงดิวตี้ฟรีสถานีกลางบางซื่อ-ท่าเรือคลองเตย หลังรายได้ร้านปลอดภาษีในเมืองโตกว่าสนามบินถึง 58%
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับศูนย์กลางการเดินทางขนส่งของเมืองหลวง ซึ่งมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟปกติ และสถานีขนส่งผู้โดยสารนั้น มีเอกชนสนใจเข้ามาประมูลเพื่อพัฒนาเป็นร้านค้าปลอดภาษีจำนวนมาก ซึ่งต้องแข่งขันยื่นข้อเสนอเพื่อชิงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ แปลงเอ พื้นที่ 32 ไร่ วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในตัวสถานีคงไม่เพียงพอ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษา คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3-4 เดือน ก่อนที่จะมีการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ภายในกลางปี 2562 เพื่อเปิดประมูลต่อไป และให้แล้วเสร็จก่อนเปิดใช้บริการสถานีกลางบางซื่อในเดือน ม.ค. 2564
นอกจากนี้ เตรียมนำเสนอโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไทมักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) รฟท.ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ พร้อมส่วนต่อขยายสายสีแดงอีก 3 เส้นทาง วงเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท คาดเสนอได้ ม.ค.2562
นายกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการ สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าเรือกรุงเทพที่จะนำมาพัฒนานั้น มีทั้งหมด 500 ไร่ แบ่งเป็น 4 แปลง โดยแปลงริมแม่น้ำจะพัฒนาเป็นย่านการค้า ธุรกิจ เป็นต้น สำหรับการพัฒนาพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ที่เอกชนสนใจลงทุนนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะนำมาพิจารณา
ทั้งนี้ พื้นที่แปลงดังกล่าวคือแปลงซี มีแผนพัฒนาเป็นอาคารศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ริมน้ำเจ้าพระยาและศูนย์ประชุมครบวงจร
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมีรายได้ที่เติบโตมากกว่ารายได้ของร้านค้าปลอดภาษีภายในสนามบินถึง 58% ทำให้กลุ่มบริษัทเอกชนต้องการให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น
บรรยายภาพ - รถไฟสายสีแดง : วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารการรถไฟฯ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้าง รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมเสนอแผนส่วนต่อขยายอีก 3 เส้นทาง คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในเดือน ม.ค.2562