กรมชลประทานตั้งรับน้ำหลากควบน้ำแล้ง วางแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา
กรมชลประทาน ตั้งรับสถานการณ์น้ำหลากควบคู่ไปพร้อมกับสถานการณ์น้ำแล้ง โดยวางแผนจัดการโครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยาบริหารจัดการน้ำ 2 มิติ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าทั้งในลำน้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ แม้ในขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญก็ตาม
ขณะที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทาน โครงการก่อสร้าง รวมไปถึงสำนักเครื่องจักรกล โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่
โดยใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน อย่างเป็นระบบและเต็มศักยภาพ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการในการเตรียมพร้อมความรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมฯ อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำรวมทั้งขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น
รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน ( 8 ก.ค.66) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,253 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 41% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,557 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่ภาพรวมการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด
โดยกรมชลประทาน ได้ทำการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดู และข้อสั่งการของกรมฯ อย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำหลากรวมทั้งสถานการณ์เอลนีโญ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ