posttoday

อธิบดีปศุสัตว์ ช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ สั่งสำรวจความเสียหาย เร่งเยียวยา

25 สิงหาคม 2567

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ภาคเหนือ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัย สั่งปศุสัตว์จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหาย ชี้แจงขั้นตอนการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ย้ำให้ดำเนินการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2567 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่บ้านเจดีย์และบ้านดอนมูล ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธิติ โลหะปิยะพันธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำจังหวัดน่าน มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย 

พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอ ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย เข้าเร่งสำรวจความเสียหายด้านปศุสัตว์ทั้งในช่วงเกิดภัยและภายหลังน้ำลด ตลอดจนชี้แจงขั้นตอนการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งเน้นย้ำให้ดำเนินการโดยเร็ว นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กำชับให้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์เข้าไปดูแลสุขภาพสัตว์ รักษา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคระบาดสัตว์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังน้ำท่วม

ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค.2567 เวลา 18.00 น. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ รายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ เฉพาะภาคเหนือ มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา และแพร่ จำนวน 34 อำเภอ 134 ตำบล 706 หมู่บ้าน เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 34,083 ราย มีสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม 2,010,267 ตัว แบ่งเป็น โค 41,659 ตัว กระบือ 7,567 ตัว สุกร 14,842 ตัว แพะ/แกะ 1,045 ตัว และสัตว์ปีก 1,945,154 ตัว รวมถึงแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,022 ไร่   

สำหรับการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ดำเนินการแล้ว มีดังนี้

1. มอบพืชอาหารสัตว์ 66,515 กิโลกรัม

2. อพยพสัตว์ 183,826 ตัว             

3. สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 9,159 ชุด        

4. รักษาสัตว์ 76 ตัว
       
จากการสำรวจความเสียหาย พบว่า มีสัตว์ตาย/สูญหายใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน และพะเยา จำนวนรวม 2,876 ตัว ประกอบด้วย โค 29 ตัว กระบือ 14 ตัว สุกร 12 ตัว แพะ 60 ตัว และสัตว์ปีก 2,761 ตัว

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย วันนี้ (25 ส.ค.) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุโขทัย รายงานว่า ได้ดำเนินเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ โดยกำหนดจุดอพยพสัตว์และผู้ประสานงานช่วยเหลือ จำนวน 63 แห่ง กระจายตามท้องที่อำเภอต่างๆ จัดเตรียมคลังเสบียงอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ จัดทีมหน่วยเคลื่อนที่เร็วระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวม 10 ชุด ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือสม่ำเสมอ รวมถึงการดูแลสุขภาพสัตว์ในช่วงน้ำท่วม

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวถึงหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ด้านปศุสัตว์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มีรายละเอียดดังนี้

1. โคอายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 13,000 บาท อายุ 6 เดือนถึงหนึ่งปี 22,000 บาท อายุ 1-2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ตัว 

2. กระบืออายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 15,000 บาท อายุ 6 เดือน -1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1-2 ปี 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ตัว 

3. สุกรอายุ 1-30 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว

4. แพะ/แกะ อายุ 1-30 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว

5.ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง อายุ 1-21 วัน  อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 100 ตัว

6. ไก่ไข่อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

7.ไก่เนื้ออายุ 1- 21 วัน อัตราไม่เกิน 20 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 50 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

8. เป็ดไข่ อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

9. เป็ดเนื้อเป็ด/เทศ อายุ 1-21วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

10. นกกระทา อายุ 1-21วัน อัตราตัวละไม่เกิน 10 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 30 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว

11. นกกระจอกเทศ อัตราตัวละไม่เกิน 2,000บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว 

12. ห่าน อัตราตัวละไม่เกิน 100 บาท ไม่เกิน โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 300 ตัว

13. แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ อัตราไม่เกิน 1,980 บาท/ไร่ โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 30 ไร่

ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-6534553, 02-6534444 ต่อ 3315 อีเมล์ [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที