posttoday

ขอแสดงความอาลัย สิ้นจักรพันธุ์ ยมจินดา อดีตนักการเมือง-ผู้ประกาศข่าว

15 ตุลาคม 2567

จักรพันธุ์ ยมจินดา เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย70 ตั้งศพสวดอภิธรรม ฌาปนกิจ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. ย้อนประวัติอดีตผู้ประกาศข่าว สู่ถนนการเมือง หลังเหตุการณ์ รสช.ยึดอำนาจปี34

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายจักรพันธุ์ ยมจินดา อดีตนักการเมืองและผู้ประกาศข่าวชื่อดัง วัย70ปี เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อเวลา 16.41น. ที่โรงพยาบาลศิริราช โดยบุตรสาวของนายจักรพันธุ์ เป็นผู้แจ้งข่าวเศร้านี้ผ่านเฟซบุ๊ก Bas Yomchin กำหนดรดน้ำศพ วันที่ 16ตุลาคม2567 ณ ศาลา บุพการี อนุสรณ์ เวลา 15.00น.และสวดอภิธรรมศพ เวลา 18.00 น.โดยมีพิธีฌาปนกิจวันที่21ตุลาคม 2567 

ที่มา เฟซบุ๊ก Bas Yomchin 

นายจักรพันธุ์ เกิดเมื่อ 22 สิงหาคม 2497 ที่ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง จบการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สมรสกับนางอิสรา มีธิดาด้วยกัน 1 คน

นายจักรพันธุ์ เริ่มชีวิตการทำงานที่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จากการเป็นผู้สื่อข่าว ผู้บรรยายการแข่งขันกีฬา กระทั่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง บรรณาธิการฝ่ายข่าว และเป็นที่รู้จักของผู้ชมข่าวโทรทัศน์ จากการเป็นผู้ประกาศข่าวภาคค่ำ 

ปี2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายจักรพันธุ์ เป็นผู้อ่านประกาศคำสั่งของ รสช. ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปแสดงความไม่พอใจ ก่อนที่ นายจักรพันธุ์ จะลาออก แล้วเดินเข้าสู่สนามการเมือง ด้วยการลงสมัคร สส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 

การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 13กันยายน 2535 นายจักรพันธุ์ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จ.ระยอง เป็น ส.ส.ด้วยคะแนนกว่า 100,000 เสียง เป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัด หลังการตั้งรัฐบาล ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกมหาดไทย ยุคพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ช่วงปลายปี2537 จนถึงกลางปี2538 นายจักรพันธุ์ กลับไปเป็นผู้ประกาศข่าวอีกครั้งจนถึงปลายปี2539ได้ลาออกเข้าสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง ลงสมัครเป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งที่ 10 กทม.เขตบางกอกน้อย, เขตบางพลัด และเขตตลิ่งชัน ได้รับการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 64,428 เสียง

จากนั้น นายจักรพันธุ์จึงลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 และได้รับการวางตัวจากพรรคไทยรักไทย ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 30 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 

ต่อมาศาลจังหวัดระยอง วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เนื่องจากขึ้นเวทีปราศรัยหมิ่นประมาท พันตำรวจเอกพณาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2544 ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ช่วงปี 2548

ปลายปี2554 ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายจักรพันธุ์เป็นกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชนและพัฒนาองค์กร ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และในราวต้นปี พ.ศ. 2555 ก็เลื่อนชั้นขึ้นเป็น รองประธานกรรมการคนที่สอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโทรทัศน์ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

ต่อมา 9 พฤษาคมปีเดียวกันนายจักรพันธุ์ ยื่นหนังสือขอลาออกจากทั้งสองตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทำงานอย่างหนักมาตลอด แทบไม่มีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกาย เกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่มาจากสาเหตุปมขัดแย้งการจัดผังรายงานในช่วงเวลานั้นระหว่างผู้บริหารพรรคเพื่อไทยกับพนักงานบมจ.อสมทและชี้แจงว่ามีคณะกรรมการหลายฝ่ายร่วมพิจารณา.