posttoday

‘อันดามันพาวเวอร์’ ชี้จุดเด่น ‘ภูเก็ต’ คว้างานประชุม InterPride โกยพันล้าน!

15 ตุลาคม 2567

อีกไม่นานเกินรอ คนไทยจะได้รู้แล้วว่า ‘ภูเก็ต’ จะสามารถคว้าชัยจัดงานประชุม InterPride World Conference 2025 ได้สำเร็จหรือไม่ โพสต์ทูเดย์รายงานความคืบหน้าโดยทราบว่าได้มีการส่งเอกสารครั้งแรกไปแล้ว และในวันที่ 22 -27 ตุลาคมนี้อาจจะมีการประกาศผล!

อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการคว้าสิทธิการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม InterPride World Conference 2025  ในครั้งนี้คือ ‘กลุ่มอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ต’ ในฐานะคอมมูนิตี้เจ้าบ้าน ที่วันนี้โพสต์ทูเดย์จะพาไปสัมภาษณ์ คุณสมพล สิทธิเวช อุปนายกสมาคมอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ต และผู้ร่วมก่อตั้งภูเก็ตไพรด์ ถึงความคืบหน้าก่อนใคร!

 

  • ความคืบหน้าการเตรียมงาน .. ปักหมุด ‘ป่าตอง’

คุณสมพล หรือ คุณวิกกี้ เล่าให้โพสต์ทูเดย์ฟังว่าในตอนนี้ทางคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ นำโดยบางกอกไพรด์ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่ต้องให้คณะกรรมตัดสินใจ โดยอ้างอิงจากข้อเรียกร้องของทาง InterPride ว่าจังหวัดภูเก็ตมีเช็คลิสต์ตามนั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือของเมือง โรงแรมที่พัก ความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมประชุมที่จะมา รวมไปถึงตรวจสอบว่าองค์กรหรือคนทำงานมีการร่วมงานหรือจัดงานไพรด์มานานแล้วหรือยัง

ส่วนตัวเดดไลน์ที่จะต้องส่งจดหมายแสดงเจตนาเป็นเจ้าภาพนั้นสามารถยื่นได้ถึง 31 ตุลาคม ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือว่ามีความต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพในปี 2025 ให้ทางบอร์ด InterPride ได้ทราบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปีแล้ว  แต่ส่วนของเอกสารสำหรับการบิดดิ้งจะต้องส่งภายใน 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งในดราฟท์แรกเราได้ส่งไปเรียบร้อยแล้ว รอแค่ว่าทาง InterPride จะรีวิวอะไรกลับมาว่าต้องเพิ่มเติมในส่วนไหน

 

“ สำหรับการจัดงานครั้งนี้เราเน้นเป็นที่ ‘ป่าตอง’ เป็นพื้นที่ของความหลากหลายมานาน และมีประวัติศาสตร์การจัดงานเรื่องของ Gay Festival มานานตั้งแต่ปี 1999 และยังจัดต่อเนื่อง รวมไปถึงมีสถานประกอบการด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์เกี่ยวกับ LGBTQIA+ อยู่ด้วยตั้งแต่แรก  รวมถึงมีองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ก็คือ สมาคมอันดามันพาวเวอร์ ที่ทำงานผลักดันเรื่องนโยบายและการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศของคนที่มีความหลากหลายในจังหวัดภูเก็ตด้วย ก็เลยปักหมุดหมายว่ากิจกรรมอยากจะจัดในโซนของป่าตอง” คุณวิกกี้อธิบาย

 

สำหรับการขับเคลื่อนการคว้าชัยครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างคอมมิวนิตี้ LGBTQIA+ นำโดย ‘บางกอกไพรด์’ ร่วมกับเวทีครือข่ายความเป็นธรรมระหว่างเพศ และเจ้าบ้านอย่าง ‘อันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ต’ ภายใต้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจาก TCEB หรือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรภาครัฐ  รวมไปถึงหน่วยงานในท้องถิ่นภูเก็ตตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด  ไปจนถึงภาคเอกชน และชุมชนต่างๆ

 

  • จุดเด่น ‘ภูมิศาสตร์’ คว้าชัย

คุณวิกกี้มองว่า จุดเด่นที่จะพาภูเก็ตคว้าชัยมาได้นั้น คือ การจัดงานประชุม InterPride ไม่เคยจัดในเอเชีย รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากว่าภูเก็ตได้ก็จะเป็นครั้งแรกที่จัดในเอเชีย รวมไปถึงความพร้อมในเรื่องของนโยบายและกฎหมายซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายรับรองการสมรสเท่าเทียม ซึ่งยิ่งทำให้กรรมการเห็นว่าประเทศไทยเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQIA+ รวมไปถึงประเทศไทยต้อนรับกลุ่ม LGBTQIA+ อย่างดีไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ หรือไม่มีความปลอดภัยทั้งในเชิงของกฎหมายและศาสนา ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่เข้าร่วมอบรมหรือคนที่มาได้รับความไม่สะดวกสบายในจุดนี้  นอกเหนือไปจากการที่เมืองภูเก็ต ตอบโจทย์การเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่รับรอง 5 ดาวหลายแห่ง การเดินทางเป็นเที่ยวบินบินตรงจากต่างประเทศ สถานที่จัดงานก็มีความพร้อม

 

ที่สำคัญคือในปีนี้ ‘บางกอกไพรด์’ ได้รับจดหมายว่าคณะกรรมการในบอร์ดคนหนึ่งของ InterPride เป็นทีมงานของบางกอกไพรด์ หมายความว่าเป็น นิมิตหมายที่ดี ที่มีคนเอเชียมีชื่อเข้าไปอยู่ในบอร์ดด้วย และการประชุมในปี 2024 ที่โคลัมเบีย บางกอกไพรด์ก็ได้รับเกียรติให้จัดฟอรัมครึ่งวันเต็มๆ ซึ่งจะเป็นเวทีที่ชวนคนทั้งโลกให้มารู้จักการทำงานขององค์กรในประเทศไทย นั่นย่อมหมายความว่าการมีตัวตนขององค์กร ‘บางกอกไพรด์’ ที่เป็นผู้ยื่นเสนอชื่อเพื่อจัดงานประชุมในปีหน้าได้รับการยอมรับ มีตัวตนในเวทีสากล และเป็นองค์กรที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน และมีขนาดใหญ่เนื่องจากมีองค์กรลูกๆ อีกราว 38 องค์กรทั่วประเทศรวมถึงอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ตที่ทำงานในพื้นที่ชุมชนด้วย

 

อีกส่วนที่มองข้ามไม่ได้คือการผลักดันงานนี้เป็นการร่วมมือกันทั้งจังหวัดในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

 

  • ตัวตนของ LGBTQIA+ ในจังหวัดภูเก็ต

เมื่อถามย้อนถึงก่อนวันที่ภูเก็ตจะออกตัวชิงชัยเจ้าภาพ LGBTQIA+ ถึงความยอมรับของคนภูเก็ตต่อ LGBTQIA+ คุณวิกกี้เล่าให้ฟังผ่านที่มาของสมาคมอันดามันพาวเวอร์ ภูเก็ตว่า สมาคมนั้นดำเนินงานมากว่า 7 ปีแล้ว เพื่อให้คำปรึกษาและให้ความรู้ พาเพื่อนในบริเวณชุมชนป่าตองนี่แหละเข้าสู่กระบวนการรักษาเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการทำงานกับโรงพยาบาลรัฐของภูเก็ต และเข้าถึง LGBTQIA+ ในชุมชนเพื่อดึงพวกเขาเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือด รู้สถานะของโรค

 

“ พอเราอยู่ในแวดวงนี้ เราอยู่ในแวดวง LGBTQIA+ แต่ก่อนมีงานเกย์เฟสติวัล เรามีศักยภาพก็เข้าไปช่วยประสานงานกับเทศบาล ท้องถิ่นให้จัดงานนี้ขึ้นมาได้ แต่ก่อนต้องยอมรับว่าทำงานหนักมาก ยากมาก ถึงเลือดถึงเนื้อ เพราะยังไม่ได้รับการยอมรับ การออกมาเดินขบวนเกี่ยวกับ LGBTQIA+ เป็นเรื่องใหญ่ ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

แต่เมื่อสองปีที่ผ่านมา เมื่อนโยบายของรัฐเปลี่ยนแปลงไปจากในระดับประเทศ รวมไปถึงเทรนด์ที่เปลี่ยน การพูดรณรงค์ซ้ำๆ บ่อย ๆ คุณวิกกี้ยอมรับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงและการสนับสนุนที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

“เราได้รับการสนับสนุนอย่างดีไม่ว่าจากผู้ว่าฯ หน่วยงานเทศบาล ท้องถิ่น สถานีตำรวจต่างๆ การเข้าถึงชุมชนหรือแม้กระทั่งโรงเรียนก็เริ่มเปิดรับมากขึ้น ก็ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

โดยภูเก็ตมีความโดดเด่นเรื่องของ LGBTQIA+ มานานแล้ว เรามีความเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีผลต่อการทำให้ LGBTQIA+ อยู่ยากมากนัก แต่สมัยก่อนจะหนักในเรื่องการกีดกันการจ้างงานมากกว่า เพราะจะถูกมองว่าแปลก อย่างตัววิกกี้เองเราเป็นคนข้ามเพศ เราอยากมีสรีระที่เป็นผู้หญิง และอยากทำงานในส่วนของโรงแรมและการท่องเที่ยว แต่ว่าก็จะถูกไล่ให้ไปอยู่หลังบ้านเพราะกลัวนักท่องเที่ยวที่มาตกใจ หรือหัวเราะขบขัน

ซึ่งจะเห็นได้ว่า LGBTQIA+ ได้โอกาสน้อยมากแต่ก่อน โดยเฉพาะน้องๆ ข้ามเพศ เรียนจบสูงก็จริง สุดท้ายก็ต้องไปทำงานตามคาบาเรต์และขายตัว เพราะเราไม่มีโอกาส

 

ส่วนทุกวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

 

คุณวิกกี้กล่าวว่าสมัยนี้คนมีการยอมรับ และทำให้คนกล้าที่จะเปิดตัวมากขึ้น มีคนติดธงสัญลักษณ์ LGBTQIA+  มากขึ้น  อีกทั้งพระราชบัญญัติหรือกฎหมายหลายอย่างก็เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น อย่างเช่นการคัดเลือกทหารที่เคยเป็นตราบาปเพราะคัดเลือกไม่ผ่านจะถูกกรอกว่ามีปัญหาสุขภาพจิตไม่ดี แต่ตอนนี้ระบุว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อนของ LGBTQIA+ ในประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่ในชุมชนนั้นได้ผล และมีการเติบโตขึ้นเป็นระยะ

 

ท้ายสุด คุณวิกกี้กล่าวว่าในวันที่ 23-27 ตุลาคมในงานประชุม InterPride ที่โคลัมเบียนี้เป็นการประชุมเชิงวิชาการ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีการประกาศผลในวันดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตามสามารถติดตามข่าวได้ตามเพจคอมมูนิตี้ต่างๆ ของ LGBTQIA+ ซึ่งจะคอยอัปเดตผลให้อย่างรวดเร็วที่สุด.