posttoday

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

06 กันยายน 2567

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลวิจัย “พฤติกรรมติดหรูของคนไทย” หรือที่คนยุคใหม่นิยมเรียกว่า “ชีวิตติดแกลม” พบผู้ชายติดหรูมากกว่าผู้หญิง เน้นซื้อสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี

เทรนด์การบริโภคสินค้าหรูหราในปัจจุบันกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองในสังคมไทย แม้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังพยายามหารางวัลให้กับชีวิต ตามหาประสบการณ์สุดพิเศษที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ  จนเกิดประโยคสุดไวรัล “ชีวิตติดแกลม” ขึ้นมา

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

ติดแกลม คืออะไร?

ในปัจจุบัน โลกโซเชียลมีการสร้างสรรค์คำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในคำที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนี้คือ "ติดแกลม" ซึ่งมีความหมายถึง รสนิยมที่ติดหรู ติดใช้ของแพง ติดความสวยงาม ทั้งนี้ คำว่า "ติดแกลม" มีที่มาจาก "Glamorous" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายถึง ความสวยงาม หรูหรา 

คำว่า "ติดแกลม" ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายลักษณะการใช้ชีวิตที่เน้นความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และการบริโภคสินค้าแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การเลือกสถานที่รับประทานอาหาร การเดินทาง หรือไลฟ์สไตล์โดยรวมที่สะท้อนถึงความต้องการที่จะแสดงออกถึงความร่ำรวยและฐานะทางสังคม 

นอกจากนี้ คำดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ในบริบทที่หลากหลาย ทั้งในเชิงบวกที่หมายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีระดับ ขณะที่ในเชิงหยอกล้อจะสื่อถึงการใช้จ่ายจนเกินตัว

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

บทวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม”

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ได้เปิดผลวิจัย "เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์" เพื่อศึกษาทัศนคติ พฤติกรรม แรงจูงใจ และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และบริการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ไม่ได้คำนึงถึงราคาเป็นปัจจัยหลัก

พฤติกรรมติดหรูหรือติดแกลมของคนไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสินค้าแบรนด์เนมเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ในสินค้าหมวดหมู่อื่น ๆ ตั้งแต่กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม กลุ่มเครื่องสำอาง สกินแคร์ กลุ่มอุปกรณ์เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งกลุ่มของสะสมต่าง ๆ เช่น Pop Mart ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ โดยผู้คนยอมจ่ายในราคาสูงเกินความเป็นจริง เพื่อให้ได้มาครอบครอง 

นอกจากนี้ กลยุทธ์การตลาด และการโฆษณาผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้า และบริการระดับพรีเมียมเหล่านี้ เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์ ความสุข ความสำเร็จ และการเป็นที่ยอมรับซึ่งส่งผลให้ตลาดสินค้าหรูในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

ผู้ชายติดหรูมากกว่าผู้หญิง

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทย 1 ใน 3 มีรสนิยมติดหรู โดยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งเพศชาย 31% มีรสนิยมติดหรูอยู่ในระดับมาก ขณะที่ 6% ติดหรูในระดับมากที่สุด ซึ่งประเภทสินค้าที่ผู้ชายติดหรูซื้อบ่อยที่สุด คือ อุปกรณ์เทคโนโลยี ขณะที่แบรนด์หรูที่ผู้ชายนิยมซื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Apple (กลุ่มอุปกรณ์เทคโนโลยี) Louis Vuitton (กลุ่มเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น) และ Starbucks (กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม)

ส่วนประเภทสินค้าที่ผู้หญิงติดหรูนิยมซื้อบ่อยที่สุด คือกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ขณะที่แบรนด์หรูที่ผู้หญิงนิยมซื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Starbucks (กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม) Dior (กลุ่มเครื่องสำอาง/น้ำหอม/สกินแคร์) และ Dior (กลุ่มเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น)

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

Gen ไหน ติดหรูมากที่สุด

Gen X เป็นกลุ่มที่มีความสนใจในสินค้าหรูสูงสุด แม้ว่าจะมีสัดส่วนรายได้น้อยและเงินออมน้อยกว่ากลุ่มอื่น ก็ตาม โดยกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งมีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท และเงินเก็บน้อยกว่า 6 เดือน แต่กลับยอมควักเงินซื้อสินค้าหรูสูงถึง 10-30% ของรายได้ต่อเดือน

พฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูยังมีความหลากหลายในแต่ละเจเนอเรชัน โดย Gen X นั้นให้ความสำคัญกับแฟชั่นแบรนด์เนม ขณะที่ Gen Z, Gen Y และ Baby Boomer ให้ความสนใจกับอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์หรูมากกว่า

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

ชวนสำรวจตัวเอง “ติดแกลม” แบบไหน

จากการวิเคราะห์เชิงลึกถึงพฤติกรรมของชาวติดหรู ติดแกลมพบว่าแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

  • "หรูลูกคุณ" พบ 2% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูได้แบบ ไม่จำกัด มีเงินออมสูง เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย สามารถใช้จ่ายสินค้าหรูหราได้อย่างไม่ต้องกังวล 
  • หรูได้มีสติด้วย” พบ 6% เป็นกลุ่มที่มองหาความคุ้มค่าในการบริโภคสินค้าหรู มีรายได้สูง และเงินออมมากกว่า 5 ปี แม้จะมีกำลังซื้อสูงแต่ก็ไม่ตัดสินใจซื้อแบบทันทีแต่จะพิจารณาความคุ้มค่า เช่น การมองหาโปรโมชั่น และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับสูงสุด 
  • "หรูเจียมตัว" พบ 24% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูเป็นครั้งคราว มีรายได้ และเงินออมปานกลาง ก่อนตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งจะต้องวางแผนทางการเงิน และพิจารณาอย่างรอบคอบ 
  • "หรูเขียม" พบ 28% เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูแบบจำกัด มีรายได้ และเงินออมไม่สูง แต่จะวางแผนประหยัดอดออมเพื่อให้ได้สินค้าหรูมาครอบครอง โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม โดยเป็นการบริโภคเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง และกลุ่มสุดท้าย 
  • หรูปริ่มน้ำ” พบมากที่สุดถึง 40% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการบริโภคสินค้าหรูเป็นชีวิตจิตใจ ชอบซื้อสินค้าที่อยู่ในกระแส มีรายได้ และเงินออมไม่สูงมากนัก แต่ชอบใช้จ่ายแบบไม่ค่อยยั้งคิด

ชวนวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ “ชีวิตติดแกลม” ของคนยุคใหม่ แม้รายได้สวนทางรสนิยม

สาเหตุที่ทำให้คนติดหรู

1. อยากให้คนอื่นยอมรับและอยากแสดงสถานะทางสังคม 

2. อยากโดดเด่น แตกต่าง และไม่ซ้ำใคร โดยผู้ชายอยากได้รับการยอมรับ และชอบความโดดเด่นมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ Gen Y อยากโดดเด่น แตกต่าง ไม่ซ้ำใคร มากกว่า Gen Z