ใหญ่สมชื่อ! หาดใหญ่พร้อมโชว์บินโดรน 500 ลำ ฉลองตรุษจีน 68
ใหญ่สมชื่อ! หาดใหญ่พร้อมโชว์บินโดรน 500 ลำ ฉลองเทศกาลตรุษจีน 2568 พร้อมจัดกิจกรรมสะเดาะเคราะห์ 10 วัน 10 คืน เสริมสิริมงคล
การจัดเทศกาลตรุษจีน 2568 ในประเทศไทยถือโอกาสที่ดีในการต่อยอดประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเองถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดงานเทศกาลตรุษจีนที่ใหญ่ที่สุดนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปี 2568 ถือเป็นปีสำคัญของการเฉลิมฉลองวาระ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ที่มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกันมาอย่างยาวนาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้สนับสนุนการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน 68 ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะเมืองรอง ซึ่งพื้นที่อย่าง “หาดใหญ่” จังหวัดสงขลา ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ที่ทางททท.ชูว่า ตรุษจีนปีนี้ หาดใหญ่ จะจัดใหญ่กว่าที่เคย พร้อมดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว
ตรุษจีน 68 หาดใหญ่ เริ่มวันไหน?
เทศกาลตรุษจีนหาดใหญ่ประจำปี 2568 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 28 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีกิจกรรมไฮท์ไลท์ดังนี้
- โชว์บินโดรน 500 ลำ
- การแสดงพลุ เปิดฉากเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่
- ติดตั้งไฟย้อมต้นไม้ อาคาร และระบบแสง สี รอบงาน
- ประติมากรรมหุ่นโคมไฟ
- ซุ้มเจ้าแม่กวนอิม ขนาดสูง 3 เมตร
- การแสดงคณะเอ็งกอพะบู๊จากจังหวัดชลบุรี
- การแสดงมังกรทองพ่นไฟ-สิงโตเล่นจานดอกเหมย จากจังหวัดยะลา
- ขบวนแห่ตรุษจีน
- ชมฟรีกับการแสดงบนเวทีของศิลปินชั้นนำของไทย
- กิจกรรมเกมส์ต่างๆ อาทิ วาดรูปตรุษจีนตามจินตนาการ,ผจญภัยกำแพงเมืองจีน,เขียนพู่กันจีน, แข่งกินขนมเปี้ยะ, คีบปิงปองด้วยตะเกียบ เป็นต้น
- การออกร้านค้า ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ สำหรับ เทศกาลตรุษจีน 2568 ที่หาดใหญ่ มูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) ยังจัดงานมหากุศลแห่พระสะเดาะเคราะห์ประจำปี ฉลองตรุษจีนหาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีกำหนดจัดงาน 10 วัน 10 คืน ดังนี้
28 มกราคม 2568
- 23.00 น. รับเทพเจ้าโชคลาภไฉ่ซิ้งเอี้ย ณ ลานมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี
29 มกราคม 2568
- 19.00 น. การแสดงของเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆ
- 21.00 น. การแสดงอุปรากรจีน
30 มกราคม 2568
- 19.00 น. การแสดงของเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆ, การคัดเลือกองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม กิมท้ง-เง็กนึ่ง และ 7 นางฟ้า
- 21.00 น. การแสดงอุปรากรจีน
31 มกราคม 2568
- 19.00 น. การแสดงของเด็กและนักเรียน ม.ราชภัฎ สงขลา
- 21.00 น. การแสดงอุปรากรจีน
1 กุมภาพันธ์ 2568
- 09.00 น. พิธีทางศาสนาเปิดมณฑลพิธี ถวายเครื่องสักการะบูชา โดยคณะศาสนพิธี
- 17.00 น. พิธีเปิดงานและฉลองครบรอบก่อตั้งมูลนิธิฯปีที่67
- 19.00 น. การแสดงออเคสตร้า วง Songkhla Philharnonic Orchestra "In Remembrance of General Prem Tinsulanonda" (SPO)
- 21.00 น. การแสดงอุปรากรจีน
2 กุมภาพันธ์ 2568
- 19.00 น. การแสดงกายกรรมมณฑลกานซู จากประเทศจีน การแสดงจาก ม.ราชภัฎ สงขลา การแสดงอุปรากรจีน
3 กุมภาพันธ์ 2568
- 19.00 น. การแสดงกายกรรมมณฑลกานซู จากประเทศจีน การแสดงจาก ม.ราชภัฎ สงขลา การแสดงอุปรากรจีน
4 กุมภาพันธ์ 2568
- 17.00 น. ขบวนแห่ออกประชาสัมพันธ์งานประเพณีแห่พระฯบนถนนสายสำคัญในหาดใหญ่
- 19.30 น. การแสดงคณะโล่วโก้ว ขบวนม้าเก๊ง
- 20.30 น. การแสดงสิงโต มังกรทอง
- 21.30 น. การแสดงอุปรากรจีน
5 กุมภาพันธ์ 2568
- 04.00 น. องค์พระขึ้นประทับเกี้ยว
- 06.00 น. เปิดประตูศาล องค์พระออกจากศาลเจ้า ประทับในมูลนิธิฯให้สาธุชนเข้ากราบไหว้สักการะ
- 07.00 น. พิธีเปิดขบวนแห่ ออกแห่พระรอบเมืองหาดใหญ่ ชมริ้วขบวนต่างๆ มังกรทอง สิงโต
- 17.00 น. เกี้ยวพระทุกเกี้ยวพร้อมกันหน้าศาลเจ้า
- 19.00 น. พิธีลุยไฟ
6 กุมภาพันธ์ 2568
- 09.00 น. พิธีฉลองวันสมภพเทวดาฟ้าดิน ทีกงแซ
- 19.00 น. ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้กับสาธุชน คุ้มครองบันดาลให้ทุกท่าน อยู่เย็นเป็นสุข พลานามัยแข็งแรง มั่ง มี ศรี สุข
ชาวจีนในหาดใหญ่มาจากไหน?
ในปี พ.ศ. 2458 เกิดการสร้างทางรถไฟสายใต้เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างสยามกับอาณานิคมมลายู โดยมีชาวจีนเป็นแรงงานหลัก เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟเสร็จสิ้นลง ชาวจีนเหล่านี้จึงลงหลักปักฐานอาศัยและประกอบอาชีพในหาดใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีสภาพสังคมและวัฒนธรรมแบบจีนให้เห็นเด่นชัด
การรวมตัวของชาวจีนเหล่านี้ในตอนแรก ก็เพื่อคอยช่วยดูแลกันในต่างถิ่นต่างแดน ทั้งช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ และเป็นเครือข่ายในการประสานงานเรื่องต่างๆ รวมถึงการพบปะสังสรรค์กัน ชาวจีนเหล่านี้ยังรวมตัวกันทำกิจกรรมตามความเชื่อร่วมกัน เช่น ชาวจีนฮากกานับถือเทพเจ้ากวนอู หรือชาวจีนโดยทั่วไปเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์กวนอิม
ในสังคมปัจจุบัน เมื่อเกิดเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาก็อาจจะลดน้อยลง อาจเหลือแค่ตรุษจีน สารทจีน และเช็งเม้ง หรือบางบ้านอาจเหลือแค่ตรุษจีนด้วยซ้ำ ความเป็นจีนที่หลงเหลืออยู่อาจเป็นเพียงจุดร่วมบางอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม กลายเป็นบทสนทนาสั้นๆ ว่าปีนี้ได้อั่งเปากันกี่บาทในหมู่เพื่อนๆ ที่โรงเรียน ส่วนในทางเครื่องหมายของเชื้อชาติก็ค่อย ๆ จางหายไป
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในชุมชนชาวจีนในหาดใหญ่คือ การปรับตัวและผสมผสานตนเองเข้ากับรัฐและสังคมใหม่ได้เป็นอย่างดีเสมอมา อย่างที่เห็นได้ชัดจากกิจกรรมในเมืองหาดใหญ่ เช่น การเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส การนับถอยหลังปีใหม่ การสาดน้ำสงกรานต์แบบไทย การร่วมพิธีกรรมแบบชาวพุทธเถรวาท การไหว้ตรุษจีน และการขอพรเทพเจ้า