posttoday

Next to know - Starstim อุปกรณ์รักษาอาการชักโดยไม่ต้องผ่าตัด

29 เมษายน 2565

ปัจจุบันการรักษาโรคลมชักสามารถทำได้โดยการใช้ยาและผ่าตัด ทั้งสองรูปแบบต่างมีข้อจำกัดแต่ปัจจุบันการรักษากำลังจะก้าวกระโดดไปอีกขั้น ด้วยการมาถึงของอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ ที่ช่วยให้การรักษาลมชักไม่เป็นเรื่องลำบากอีกต่อไป


 

           โรคลมชัก ถือเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย พบได้ 1% ของประชากร สำหรับประเทศไทยจึงมีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 6 แสนราย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก, การติดเชื้อในสมอง, เนื้อสมองผิดปกติแต่กำเนิด, เนื้องอก ไปจนกรรมพันธุ์

 

           อาการโรคลมชักเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบตั้งแต่อาการชักเกร็งกระตุก, เหม่อนิ่ง, มือขยำหยิบจับ, มือถูไปมา, ไปจนอาการเกร็งกระตุกแขนขา ล้วนเป็นอาการของโรคลมชักทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลถึงสมองส่วนอื่น อาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวขณะชักหรือเกิดการสับสน นำไปสู่อาการทางสมองอื่นตามมามากมาย

 

           นี่จึงเป็นโรคทางระบบประสาทร้ายแรงที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ถือเป็นเรื่องดีเมื่อปัจจุบันมีการพัฒนาแนวทางรักษาเพื่อลดผลข้างเคียงในช่วงเวลาการรักษามากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบน้อยและสามารถฟื้นได้รวดเร็วที่สุดหลังทำการรักษา

 

           แต่ก่อนอื่นเราคงต้องดูกันก่อนว่าขั้นตอนรักษาโรคลมชักในปัจจุบันเป็นอย่างไร

 

Next to know - Starstim อุปกรณ์รักษาอาการชักโดยไม่ต้องผ่าตัด

 

การรักษาโรคลมชักในปัจจุบัน

 

  • การใช้ยา

           ถือเป็นรูปแบบการรักษาตามปกติแก่ผู้ป่วยโรคลมชัก อาศัยการับประทานยากันชักเพื่อช่วยทุเลาอาการได้ แต่มีข้อจำกัดคือวิธีนี้สามารถบรรเทาอาการลงได้เพียง 60 – 70% อีกทั้งในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดยังมีมากถึง 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถใช้ยากันชักเพื่อควบคุมอาการ ทำให้มีปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

           นอกจากนี้ยารักษาโรคลมชักยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เมื่อใช้งานจะเกิดอาการหลายอย่าง เช่น ง่วงซึม วิงเวียน เหงือกบวม ผื่นขึ้น ไปจนถึงตับอักเสบ ถือเป็นอาการที่มีอันตราย ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถพึ่งพาวิธีการรักษาแนวทางนี้ได้

 

  • การผ่าตัด

 

          อีกหนึ่งวิธีสำหรับทำการรักษาสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ไม่สามารถใช้ยากดอาการเพื่อใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติ แม้ปัจจุบันเทคนิคและวิทยาการรักษาจะพัฒนาไปมาก ในแง่ประสิทธิภาพเองวิธีการนี้ก็ช่วยให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ ถือเป็นตัวเลือกแก่ผู้ป่วยที่ต้องการหายขาด

 

           กระนั้นเมื่อจุดที่ลงมีดผ่าเพื่อทำการรักษาคือสมอง ต่อให้ปัจจุบันอาจมีวิธีการมากมายในการลดความเสี่ยงและผลข้างเคียง แต่ความจริงที่ว่าเราผ่าตัดสมองไม่ได้หายไป กรณีผิดพลาดอาจเกิดผลร้ายแรงตามมา อีกทั้งผู้ป่วยบางรายยังไม่สะดวกเข้ารับการผ่าตัดก็ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน

 

           ขีดจำกัดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับลมชัก แต่โรคทางสมอง ระบบประสาท และไขสันหลังหลายชนิดล้วนมีรูปแบบการรักษาใกล้เคียงกัน บางชนิดอาจไม่มีวิธีรักษาอื่นนอกจากประคับประคอง ทำให้แพทย์จำนวนมากต่างพยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา


Next to know - Starstim อุปกรณ์รักษาอาการชักโดยไม่ต้องผ่าตัด

 

Neuralink กับการฝังชิปลงในสมอง

 

          หนึ่งในวิทยาการเป็นที่ฮือฮากันมากคือ Neuralink จากน้ำมือเจ้าพ่อวงการไอที อีลอน มัสก์ หนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่อยู่ในขั้นทดลอง โดยการผ่าตัดฝังชิปคอมพิวเตอร์เข้าไปในสมองส่วนหน้า เพื่อเชื่อมต่อสมองเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง ให้คนเราสามารถสั่งการและเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยอาศัยแค่ความคิด

 

            การทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้มีรูปแบบคือการฝังชิปไว้ใต้กะโหลก โดยการตัดชิ้นส่วนกะโหลกขนาดเท่าเหรียญออก จากนั้นจึงอาศัยหุ่นยนต์ในการผ่าตัดติดตั้งชิปเข้าสู่สมอง แล้วนำชิ้นส่วนรับสัญญาณมาใช้ในการปิดแผล บาดแผลการติดตั้งจะเรียบเนียนจนแทบดูไม่ออกว่าใครฝังอุปกรณ์นี้ไว้กับตัว ระหว่างการผ่าไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ ขั้นตอนผ่าตัดอาศัยเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ทันทีหลังเสร็จสิ้น รวมถึงนำออกมาได้ทุกเวลาโดยไม่ส่งผลต่อร่างกาย

 

          เมื่อติดตั้งเสร็จสิ้นอุปกรณ์จะทำการบันทึกข้อมูลผ่านการวัดค่าสถิติในร่างกาย ทั้งอัตราการเต้นหัวใจ ระดับออกซิเจน การไหลเวียนเลือด การนอนหลับ จนถึงการทำงานของสมองเพื่อเก็บข้อมูล ในทางหนึ่งจึงมีคุณลักษณะคล้ายกับนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่ถูกฝังไว้ในสมอง

 

           ในฐานะอุปกรณ์การแพทย์ Neuralink สามารถช่วยเหลือคนมีปัญหาการเคลื่อนไหว จากความเสียหายทางสมอง ระบบประสาท ไปจนไขสันหลัง ด้วยการส่งสัญญาณไฟฟ้ากระตุ้นเข้าทดแทน สามารถรักษาความผิดปกติทางสมองและระบบประสาท รวมถึงบังคับควบคุมแขนหรือขากลเทียมผ่านคอมพิวเตอร์ คืนชีวิตปกติแก่ผู้พิการรวมถึงผู้ป่วยอัมพาต รักษาโรคซึมเศร้าได้ และยังจะมีฟังก์ชั่นอื่นๆ ใส่เข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต

 

           แน่นอนในเชิงประโยชน์ใช้สอย Neuralink กินขาดอุปกรณ์ไอทีชนิดอื่นไม่เห็นฝุ่น จากคุณสมบัติการเชื่อมต่อรถ Tesla เข้าถึงคอมพิวเตอร์ ไปจนบันทึกความทรงจำเราไว้เป็นข้อมูลให้เรียกใช้งานในภายหลัง นี่จึงเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต แม้ปัจจุบันจะต้องรอการอนุมัติจาก FDA(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ) ในการใช้งานกับมนุษย์ก็ตาม

 

           กระนั้นต้องยอมรับว่าเงื่อนไขการผ่าตัดสมองของทาง Neuralink ถือเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับคนทั่วไปอยู่สักหน่อย

 

          แน่นอนทางบริษัทยืนยันความปลอดภัยโดยการนำหมูที่ได้รับการทดลองฝังชิป ทั้งตัวที่กำลังถูกฝังอยู่และตัวที่ถูกถอดออกไปแล้วมาแสดงตัว รวมถึงทดลองใช้งานกับลิงเพื่อให้ผู้คนวางใจความปลอดภัย แต่ผู้คนยังคงรู้สึกกังขาในการผ่าตัดใส่อะไรบางอย่างเข้าไปในหัว ต่อให้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกสร้างขึ้น คนบางส่วนก็คงไม่สะดวกใจในการใช้งานอุปกรณ์นัก

Next to know - Starstim อุปกรณ์รักษาอาการชักโดยไม่ต้องผ่าตัด

Starstim อีกหนึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แค่สวมก็ใช้ได้

 

           อันที่จริงเทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ของใหม่ หลายบริษัทพากันผลักดันวิทยาการนี้ให้สามารถใช้งานได้ หนึ่งในนั้นคือบริษัท Neuroelectrics ได้สร้างอุปกรณ์ใช้ในการรักษาอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท ที่ใช้งานได้ง่ายกว่าอย่าง Starstim

 

             อุปกรณ์ชนิดนี้อยู่ในรูปแบบหมวกที่ส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สมองผ่านกะโหลกผู้ใช้งาน เพื่อกระตุ้นหรือยับยั้งการทำงานของระบบประสาทให้สอดคล้องกับโรคต่างๆ โดยในกรณีผู้ป่วยอาการชักจะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปยับยั้งการทำงานเพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วย โดยผลการทดลองระบุว่า การสวมใส่หมวกนี้ 20 นาที ต่อเนื่อง 10 วัน จะช่วยลดอาการชักแก่ผู้ใช้งานได้ถึง 50%

 

            คุณสมบัติของ Starstim สามารถเยียวยาโรคทางสมองหรือระบบประสาทได้ตั้งแต่ ลมชัก นอนไม่หลับ จนถึงซึมเศร้า ด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นช่วยให้สมองกลับมาทำงานตามปกติ เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งานทั่วไปผ่าน FDA ให้ทดลองทำการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมถึงพร้อมให้ใช้งานได้ทันทีขอแค่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ทางไกล

 

           นอกจากนี้เมื่อมีการวางระบบที่ดีพอ Starstim ก็มีคุณสมบัติพอจะติดตามสภาพร่างกายผู้ใช้งาน สามารถตรวจการทำงานของระบบประสาทและอาการของผู้ใช้งานจากบ้านรวมถึงผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการเดินทาง ทำให้แพทย์สามารถตรวจสอบอาการคนไข้โดยสะดวก

 

          แน่นอนในเชิงการใช้งานเทคโนโลยีนี้ยังห่างไกลจากการเข้าถึงข้อมูลในสมองแบบ Neuralink แม้ Starstim จะมีคุณสมบัติใช้ในการกระตุ้นและรักษาเช่นกัน แต่การเข้าถึงข้อมูลภายในสมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องใช้การทำศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมในการเข้าถึงอีกมาก จึงเป็นแผนระยะยาวในอนาคตที่ยังไม่ได้รับความสำคัญสำหรับหมวกใบนี้

 

          แต่ความง่ายในการใช้งานรวมถึงการไม่ต้องผ่าตัดก็น่าจะเป็นจุดเด่นสำคัญในการใช้งานทางการแพทย์ได้ดีไม่แพ้กัน

 

          แน่นอนอุปกรณ์เหล่านี้ยังจำเป็นต้องผ่านการทดสอบใช้งานในมนุษย์ จึงจะสามารถนำมาใช้งานทางการแพทย์ได้แพร่หลาย สำหรับผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการเหล่านี้คงต้องอดใจรอกันอีกนิด คาดว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีนี้คงได้รับการยอมรับเป็นทางการ ก่อนเปิดตัววงกว้างทั่วโลกในไม่ช้า

 

          ที่เหลือก็ขึ้นกับผู้ใช้งานแล้วว่าจะเลือกอุปกรณ์เรียบง่ายหรือมีลูกเล่นหลากหลายรองรับอนาคตมากกว่ากัน