posttoday

สื่อสังคมออนไลน์อาวุธการเลือกตั้งยุคใหม่

02 ตุลาคม 2554

จากที่เคยเป็นเพียงเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อการสังคม ถึงตอนนี้บรรดาเว็บไซต์สังคมออนไลน์ชื่อดังทั้งหลาย

จากที่เคยเป็นเพียงเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อการสังคม ถึงตอนนี้บรรดาเว็บไซต์สังคมออนไลน์ชื่อดังทั้งหลาย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

จากที่เคยเป็นเพียงเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อการสังคม ถึงตอนนี้บรรดาเว็บไซต์สังคมออนไลน์ชื่อดังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ กำลังก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า จะพลิกโฉมวงการการเมืองทั่วโลกอย่างแน่นอน

เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็ว ราคาถูก และมีกลไกการใช้งานที่ทันสมัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายๆ คนจะนำเว็บไซต์สังคมออนไลน์มาใช้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับคนรักหรือเพื่อติดต่อเชิงธุรกิจ

ทั้งนี้ การเลือกตั้งสหรัฐเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานั้น ก็สะท้อนให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์สังคมออนไลน์นั้น สามารถถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องมือในการหาเสียงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสื่อใดๆ ทั้งปวง โดยในครั้งนั้นเห็นทีจะไม่มีใครเกินประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์เจาะกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเอาชนะคู่แข่งอย่าง จอห์น แม็คเคน ได้อย่างถล่มทลาย

สื่อสังคมออนไลน์อาวุธการเลือกตั้งยุคใหม่

ขณะที่ในการเลือกตั้งสหรัฐครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 สื่อสังคมออนไลน์ก็ยังคงเป็นอาวุธหลักที่ผู้สมัครแต่ละรายงัดมาใช้ในการหาเสียง

“สื่อสังคมออนไลน์เปรียบดังอาวุธอันไร้เทียมทานในศึกการเลือกตั้ง เพราะไม่มีช่องทางใดที่ผู้สมัครจะสามารถกระจายข่าวสารได้รวดเร็วเท่า” รีเบคกา ดอนนาเทลี ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้ง กล่าว โดยมองว่าแม้เว็บไซต์สังคมออนไลน์จะถูกนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงทางการเมืองในหลายประเทศ แต่ก็คงไม่มีเวทีการเลือกตั้ง ใดร้อนแรงเท่าเวทีการเลือกตั้งที่เมืองลุงแซม อีกแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น ริก เพอร์รี รอน พอล หรือ มิตต์ รอมนีย์ ตัวเก็งจากพรรครีพับลิกัน เหล่านี้ล้วนแต่กำลังทุ่มเทเวลาในการหาเสียงส่วนใหญ่กับการใช้เว็บไซต์สังคมออนไลน์ เพื่อที่จะได้กระจายข่าวสารหรือเจตนารมณ์ของตนให้ชาวอเมริกันได้รับทราบกันทั่วหน้า

ด้าน มิเชล บักแมนน์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ก็เป็นผู้สมัครรายหนึ่งที่ถูกขนานนามว่าเป็น “เจ้าแม่โซเชียลมีเดีย” เลยทีเดียว เพราะก่อนที่บักแมนน์จะชนะการหยั่งเสียงที่รัฐไอโอวาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น ทีมของบักแมนน์ได้ติดตามชาวไอโอวาในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ด้วยการขอสมัครเป็นเพื่อนกับคนท้องถิ่นแทบทุกคน

ใครก็ตามที่ไปกด “ไลค์” เพจที่สอดคล้องกับนโยบายของบักแมนน์หรือของกลุ่มทีปาร์ตี้ เช่น การต่อต้านการทำแท้ง ความชื่นชอบในเพลงเพื่อพระเจ้า หรือการสนับสนุนการลดภาษี ก็จะได้รับข้อความจากบักแมนน์ทันที ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเลยทีเดียว เพราะเป็นการสร้างภาพบักแมนน์ในฐานะผู้สมัครที่ใส่ใจกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด และเป็นผู้สมัครที่ผู้คนเข้าถึงได้ไม่ยากนัก

นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการหาเสียงแล้ว โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทสำคัญในแง่ของการเป็น “แหล่งเงินทุน” ของกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ อีกด้วย โดยเมื่อไม่นานมานี้ กูเกิลได้ให้การสนับสนุนการโต้วาทีของพรรครีพับลิกัน ด้านเฟซบุ๊กก็เป็นผู้สนับสนุนหลักของงานประชุมทาวน์ ฮอลล์ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ในส่วนของเว็บไซต์สังคมออนไลน์น้องใหม่ อย่างลิงก์อิน ก็ได้จัดการประชุมร่วมกับผู้นำสหรัฐเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

ความร้อนแรงของเว็บไซต์สังคมออนไลน์นั้น ก็ถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อมีคนไปพบเห็นประกาศในเว็บไซต์ทีมหาเสียงของประธานาธิบดีโอบามาที่ระบุว่า กำลังรับสมัคร “นักเขียนโซเชียลมีเดีย” หรือคนที่จะมาช่วยโพสต์ข้อความในหน้าทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กของโอบามา เพื่ออัพเดตความเคลื่อนไหวของผู้นำสหรัฐในช่วงการเลือกตั้ง

“เรากำลังรับสมัครผู้ที่มีสามารถเล่าเรื่องได้ดีด้วยการใช้ตัวอักษรเพียง 140 ตัวเท่านั้น และสามารถอธิบายนโยบายต่างๆ ได้ด้วยภาษาที่เรียบง่ายที่คนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ดี” ประกาศดังกล่าวระบุ โดยนักวิเคราะห์นั้นชี้ว่า คือสัญญาณบ่งชี้ว่าเว็บไซต์สังคมออนไลน์สำคัญเพียงใดต่อการหาเสียงของผู้สมัคร

นอกจากนี้ ทีมหาเสียงของผู้สมัครรายอื่นๆ ก็กำลังแย่งตัวผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียระดับแถวหน้าของวงการกันทั้งนั้น เพื่อที่จะได้เข้ามาช่วยคิดค้นการโฆษณาหาเสียงที่แปลกแหวกแนวกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะยอมนิ่งนอนดูดาย ปล่อยให้บรรดานักการเมืองทั้งหลายนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงเพียงแต่ฝ่ายเดียว เพราะทุกคนต่างทราบดีว่า ช่วงการเลือกตั้งนั้นเป็นช่วงเวลานาทีทองที่เหล่านักธุรกิจหัวใสสามารถกอบโกยเงินทองได้มหาศาลหากรู้จักฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่เหมาะสม

สื่อสังคมออนไลน์อาวุธการเลือกตั้งยุคใหม่

สาเหตุก็เพราะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้น ผู้สมัครได้ใช้เงินในการหาเสียงมากถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อคน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บรรดาเว็บไซต์สังคมออนไลน์เตรียมงัดไม้ตายเพื่อแย่งส่วนแบ่งมูลค่ามหาศาลนี้

ที่เห็นได้ชัดสุดก็คงหนีไม่พ้นทวิตเตอร์ ที่ล่าสุดนั้นได้ออกมาประกาศว่าจะขายพื้นที่โฆษณาให้กับนักการเมืองสหรัฐ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นเวทีในการหาเสียงช่วงการเลือกตั้งครั้งสำคัญในปี 2555

“เราจะเปิดโอกาสให้นักการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ โฆษณาบนเว็บไซต์ของเราเป็นครั้งแรก” อดัม เบน ประธานทวิตเตอร์ กล่าว โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักการเมืองชื่อดัง 5 รายแล้วที่สมัครขอซื้อโฆษณากับทวิตเตอร์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ มิตต์ รอมนีย์ ตัวเก็งจากพรรครีพับลิกันนั่นเอง

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์เตรียมผุดโฆษณาหลากหลายรูปแบบเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น “ทวีตโปรโมต” “เทรนด์โปรโมต” และ “แอ็กเคาต์โปรโมต” ซึ่งการเปิดตัวครั้งนี้ก็สามารถสร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากโดยปกติแล้วการขายโฆษณานั้นไม่ใช่ช่องทางหลักในการสร้างรายได้ของทวิตเตอร์ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาทวิตเตอร์มีรายได้เพียง 45 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการขายโฆษณา ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับรายได้ 2,000 ล้านเหรียญต่อปี ที่เว็บไซต์คู่แข่งอย่างเฟซบุ๊กได้รับจากโฆษณาเพียงอย่างเดียว

ด้านเว็บไซต์สังคมออนไลน์สุดฮอตอย่างเฟซบุ๊กก็ไม่ยอมน้อยหน้า เดินหน้าเปิดตัวแอพพลิเคชันใหม่ที่มีชื่อว่า “2012 อิเล็กชัน แทร็กเกอร์” แอพพลิเคชันซึ่งจะติดตามความนิยมและอิทธิพลของผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ทั่วสหรัฐ

แอพพลิเคชันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับเหล่าผู้สมัคร เพราะเปรียบเสมือนคลังข้อมูลชั้นยอดที่ผู้สมัครสามารถใช้ประเมินความสามารถในการหาเสียงของตนได้

เพราะชาวอเมริกันมากถึง 15 ล้านคน เป็นสมาชิกเฟซบุ๊ก ทางเว็บไซต์จึงสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว เช่น สามารถระบุได้ว่าในแต่ละรัฐสมาชิกเฟซบุ๊กนิยมพรรคหรือผู้สมัครคนใด

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังได้ผนึกกำลังกับผู้ผลิตเกมชื่อดังอย่าง ฟาร์มวิลล์ เพื่อช่วยนักการเมืองหาเสียงกับกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งทางบริษัทนั้นเผยว่า คือ ลูกค้ากลุ่มหลักของเกมยอดฮิตนี้

ทั้งนี้ ตัวละครในเกมสามารถเดินหาเสียงได้ราวกับว่าเป็นนักการเมืองตัวจริงเสียงจริง อีกทั้งยังสามารถติดป้ายโฆษณานักการเมืองที่ชื่นชอบในฟาร์มของตนได้อีกด้วย

ไมเคิล เฮนดริกส์ ครีเอทีฟของฟาร์มวิลล์ เปิดเผยว่า ผู้ที่เล่นฟาร์มวิลล์ส่วนใหญ่ คือ กลุ่มแม่บ้านอายุเกิน 38 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นการที่เกมฟาร์มวิลล์เข้ามามีส่วนร่วมในการหาเสียง จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับตัวผู้สมัคร

อย่างไรก็ตาม แม้กลไกเหล่านี้จะเป็นกลไกเชิงธุรกิจ แต่ท้ายสุดแล้ว ธุรกิจเงินทองก็ใช่ว่าสำคัญที่สุด โดยเฟซบุ๊กนั้นได้มองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพนักงาน จึงตัดสินใจที่จะตั้งคณะกรรมการเพื่อความเคลื่อนไหวทางการเมือง (แพก) เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานของบริษัทสามารถสนับสนุนนักการเมืองที่ชื่นชอบได้

จริงๆ แล้วบริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากในสหรัฐล้วนมีคณะกรรมการเพื่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น โดยภายใต้ “แพก” นั้น พนักงานของบริษัทก็สามารถสนับสนุนนักการเมืองโปรด ด้วยการบริจาคเงินให้นักการเมืองหนึ่งรายต่อหนึ่งการเลือกตั้งได้ไม่เกิน 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อปี สำหรับคณะกรรมการพรรคการเมือง โดยเงื่อนไขสำคัญ คือ เงินจำนวนนี้จะไม่ได้มาจากรายได้หรือเงินทุนของบริษัทแต่อย่างใด

“เฟซบุ๊ก แพก จะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ความคิดเห็นของพนักงานของเราเป็นที่รับรู้ในกระบวนการทางการเมือง ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจประชาชนในการมีส่วนร่วม และทำให้สังคมโลกเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน” โฆษกของเฟซบุ๊ก กล่าว

เรียกได้ว่า เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้นอาวุธครบครันจริงๆ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้