พายุป่วนพลังงานโลก
ฮาร์วี่ย์ป่วนตลาดพลังงานโลก หวั่นปิดท่อส่ง-โรงกลั่นฉุดสหรัฐขาดน้ำมัน ยุโรปและเอเชียเร่งส่งให้
ฮาร์วี่ย์ป่วนตลาดพลังงานโลก หวั่นปิดท่อส่ง-โรงกลั่นฉุดสหรัฐขาดน้ำมัน ยุโรปและเอเชียเร่งส่งให้
การผลิตพลังงานของสหรัฐได้รับผล กระทบจากพายุโซนร้อนฮาร์วี่ย์ ซึ่งอ่อนกำลังลงจากเฮอริเคนระดับ 4 โดยโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 24% ของกำลังกลั่นทั้งหมดในสหรัฐต้องหยุดให้บริการ เช่นเดียวกับท่อส่งน้ำมันที่ต้องยุติการดำเนินงาน เช่น ท่อส่งโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ท่อส่งน้ำมันเบนซินมากกว่า 100 ล้านแกลลอนในแต่ละวันจากเทกซัสไปยังชายฝั่งตะวันออก
เอ็ด มอร์ส หัวหน้าฝ่ายวิจัยโภคภัณฑ์ของซิติกรุ๊ป เปิดเผยกับวอลสตรีทเจอร์นัล ว่า ปริมาณพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มได้ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสหรัฐด้วย เนื่องจากสหรัฐกำลังจะส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ หลังประสบความสำเร็จในการขุดเจาะหินดินดาน
จากการประเมินของสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐ (อีไอเอ) ระบุว่า สหรัฐจะส่งออกแอลเอ็นจีราว 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ภายในปี 2030
ขณะเดียวกัน รอยเตอร์ส รายงานว่า ผู้ค้าน้ำมันในยุโรปและเอเชียต่างเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือสินค้าไปยังสหรัฐและลาติน อเมริกาเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณพลังงานที่ขาดหายไปจากพายุฮาร์วี่ย์ แต่ยังไม่สามารถไปถึงได้รวดเร็วเพียงพอ
รายงานระบุว่า กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินของสิงคโปร์ปรับขึ้นนับตั้งแต่สหรัฐเผชิญกับฮาร์วี่ย์ ซึ่งเข้าฝั่งเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 15.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2016
ทั้งนี้ ฮาร์วี่ย์ก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 37 ราย และยังสร้างความเสียหายให้กับเอกชนสหรัฐ ซึ่งโรงงานเคมีของบริษัทอาร์เคมาเกิดระเบิดขึ้นเมื่อเวลาราว 02.00 น. ของวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น
ก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ อนาไลติกส์ ประเมินว่า ความเสียหายจากฮาร์วี่ย์ต่อภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงพลังงาน จะมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 แสนล้านบาท) เช่นเดียวกับความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานในเมืองฮุสตัน