posttoday

'วิตามิน' กับ 'ยา' ความเหมือนบนความต่าง

25 มิถุนายน 2563

เภสัชกรชี้ “วิตามิน” ไม่ใช่ “ยา” ความคล้ายที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิด พร้อมแนะใช้ให้ถูกวิธีเพื่อสุขภาพที่ดีและปลอดภัย

ร่างกายของคนเรามีสารต่างๆ ประกอบอยู่ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน น้ำตาล วิตามิน และแร่ธาตุ การได้รับ “วิตามิน” ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะวิตามินสามารถช่วยบำรุงและฟื้นฟูสุขภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและไต แตกต่างกับ “ยา” ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อตับและไตได้ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิตามินและยา จากทีมเภสัชกรไบโอฟาร์ม แนะนำเรื่องนี้เอาไว้ว่า

\'วิตามิน\' กับ \'ยา\' ความเหมือนบนความต่าง

\'วิตามิน\' กับ \'ยา\' ความเหมือนบนความต่าง

ความแตกต่างของ “วิตามิน” กับ “ยา”

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ยา กับ วิตามิน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยา คือสิ่งที่ร่างกายไม่มี ร่างกายเราไม่สามารถผลิตยาเองได้ ดังนั้น ยาจึงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในภาวะร่างกายปกติ ในทางกลับกัน ยามีไว้ใช้รักษาอาการผิดปกติของร่างกายที่มีอาการรุนแรง เช่น อาการปวดหัว ต้องได้รับยาพาราเซตามอลที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งยามีการออกฤทธิ์ที่เร็ว สามารถระงับอาการต่าง ๆ ได้ แตกต่างจากการรับประทานอาหารเสริมที่จะเข้าไปช่วยบำรุงและฟื้นฟูร่างกาย

\'วิตามิน\' กับ \'ยา\' ความเหมือนบนความต่าง

หลักการใช้ยาที่ถูกต้อง

เมื่อเรารับประทานยาจนหายป่วยแล้ว ต้องหยุดใช้ยา หากหายแล้วยังรับประทานยาต่อไปเรื่อยๆอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะยาส่วนใหญ่ผลิตจากสารเคมี หากใช้เป็นประจำและเกินความจำเป็น ท้ายที่สุดอาจเกิดการสะสมในร่างกาย และส่งผลเสียต่อตับและไตได้

“วิตามิน” สิ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้

วิตามิน คือสารที่มีอยู่ในร่างกายของคนเราอยู่แล้ว และเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้ หากขาดวิตามินแล้ว ร่างกายจะแสดงความผิดปกติออกมาให้เห็นทันที และเมื่อร่างกายมีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น สามารถตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของการขาดวิตามินได้ และรับประทานวิตามินเสริมเข้าไป

วิตามินแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 บี 5 บี 6 บี 7 บี 9 บี 12 และวิตามินซี โดยวิตามินชนิดนี้จะสามารถอยู่ในร่างกายได้ 2-4 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจากการดูดซึมไปใช้งานก็จะถูกขับออกทางไต โดยการปัสสาวะนั่นเอง ดังนั้น วิตามินชนิดที่ละลายในน้ำ จะมีโอกาสสะสมในร่างกายน้อยมาก จึงไม่ค่อยมีผลข้างเคียง
  • วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งจะละลายได้ในไขมันเพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่สามารถขับออกทางปัสสาวะได้ หากได้รับวิตามินเหล่านี้มากเกินไป อาจเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ ผูที่รับประทานวิตามินชนิดนี้จึงควรมีช่วงที่หยุดรับประทานบ้าง เพื่อไม้ให้เกิดการสะสมในร่างกายมากจนเกินไป

\'วิตามิน\' กับ \'ยา\' ความเหมือนบนความต่าง

วิตามินเป็นอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก

แม้ว่าการได้รับวิตามินอย่างเพียงพอและเหมาะสมจะสามารถช่วยบำรุงและฟื้นฟูร่างกายได้ ช่วยเสริมในส่วนที่ร่างกายขาดได้ หากเลือกรับประทานอย่างเหมาะสม แต่การรับประทานวิตามินก็ไม่สามารถมอบสารอาหารอันหลากหลายได้เหมือนอาหารจานหลัก

สำหรับวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายและควรได้รับทุกวัน ได้แก่ วิตามินซี และวิตามินบี ซึ่งเป็นวิตามินชนิดที่ละลายในน้ำ หลังจากดูดซึมไปใช้งานแล้วจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ ไม่สะสมในร่างกาย จึงสามารถรับประทานเป็นประจำทุกวันได้อย่างปลอดภัย

ถึงแม้ว่าวิตามินจะไม่สามารถทดแทนอาหารจานหลักได้ แต่วิตามินและแร่ธาตุเสริม 1 เม็ด มักจะอัดแน่นด้วยปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารที่คนปกติอาจไม่สามารถรับได้จากการรับประทานอาหารเพียง 1 มื้อหรือ 1 วันเพื่อให้ได้สารอาหารเหล่านั้นเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น ต้องกินฟักทอง 1 ผลเพื่อให้ได้เบตาแคโรทีน 2 มิลลิกรัม เท่ากับการรับประทานเบตาแคโรทีน 1 เม็ด ซึ่งคนปกติอาจไม่สามารถรับประทานฟักทองได้ถึง 1 ผล

วิตามินเกราะป้องกันร่างกายจากอนุมูลอิสระ

สารอนุมูลอิสระ เปรียบเสมือนยาพิษ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น นอนดึก นอนไม่พอ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือ เจอกับมลภาวะ เช่น ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งความน่ากลัวของอนุมูลอิสระคือ แม้จะไม่ทำให้เกิดโรคในทันที แต่ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อม ทำลายเม็ดเลือด ทำลายอวัยวะต่างๆ และนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาว

ท้ายที่สุดแล้วการเสริมวิตามินและเกลือแร่ จะเป็นเกราะป้องกันอนุมูลอิสระชั้นดีให้กับร่างกาย แต่สิ่งที่ควรทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ นั่นคือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพ ก็จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง