posttoday

ไร้รอยต่อที่เมืองสตูล

09 มีนาคม 2556

33 ประเทศ 55 ทีมว่าว กว่า 170 ชาวต่างชาติ ร่วมใจสร้างสีสันบนฟ้าสีครามแห่งเมืองสตูล

33 ประเทศ 55 ทีมว่าว กว่า 170 ชาวต่างชาติ ร่วมใจสร้างสีสันบนฟ้าสีครามแห่งเมืองสตูล

โดย...จำลอง บุญสอง

33 ประเทศ 55 ทีมว่าว กว่า 170 ชาวต่างชาติ ร่วมใจสร้างสีสันบนฟ้าสีครามแห่งเมืองสตูล ดินแดนไร้รอยต่อระหว่างชนชาติและศาสนาของภาคใต้ โดยมีปีเตอร์ ลินซ์ วิศวะกรเจ้าของว่าวใหญ่ที่สุดของโลกที่กินเนสบุ๊กบันทึกไว้ เข้าร่วมด้วยช่วยกัน เช่นเดียวกับ George Peters “ว่าว ดีไซน์เนอร์” ติดอันดับท็อปเท็นของโลก

โดยในงานนี้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเป็น “แม่งาน” มีอาจารย์ อมาตย์ สุปรานี ผอ.ฝ่ายการศึกษาและทีมงานผู้ไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อยหมุนเครื่องจักรงานร่วมกับ “รอน สเปาดิ้ง” ฝรั่งใจไทยและแป๊ว ภรรยา ขับเคลื่อนงานอยู่เบื้องหลังและมีนักเรียนนักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนสตูล โรงเรียนเทคนิคสตูลเข้าร่วมด้วยช่วยกัน

งานว่าวสตูลจัดเป็นครั้งที่ 33 แต่เป็นการจัดงานว่าวนานาชาติครั้งที่ 6 ของเมือง

จากความเต็มที่ของ อบจ.สตูลและการออร์แกไนซ์ที่ยอดเยี่ยมของ “รอน สเปาดิ้ง” ผู้มีความผูกพันกับทีมว่าวทั่วโลก จึงทำให้การจัดงานว่าวนานาชาติครั้งนี้ของสตูล “ยิ่งใหญ่” เหนืองานว่าวนานาชาติครั้งใดๆ ในประเทศไทยที่ผ่านมา

ว่าวนานาชาติสตูลจัดขึ้นหลังงานว่าวนานาชาติของ “ปาเซ กูดัง” (Pasir Gudang International Kite Festivals 2013) ที่รัฐ “ยะโฮร์บาห์รู” ประเทศมาเลเซีย เมืองที่นับญาติเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับสตูล นักว่าวที่ไปร่วมงานโน้นจึงเดินทางมาร่วมงานนี้กันแบบต่อเนื่องทั้งทางรถยนต์และเครื่องบิน

นี่เป็น “ครั้งแรก” ที่ “เมียนมาร์” ส่งทีมว่าวมาร่วมงานว่าวนานาชาติ โดยมีว่าวงูและว่าวชนิดใช้สายป่านตัดเชือกเข้าร่วมงาน โดยว่าวของพม่าต้องแยกออกไปเล่นห่างจากว่าวสวยงามจากประเทศต่างๆ จะบอกว่าว่าวประเภทนี้เมืองไทยเองก็เคยมีเล่น นอกเหนือจากจุฬาปักเป้า ว่าวสนามหลวงของไทย

Thet Thet Mar ผู้เป็นผู้ประสานงานกล่าวว่า ไม่เพียงแต่ความงามและความน่าเที่ยวของสตูลเท่านั้น เธอยังสนุกกับคายักไปตามลำน้ำมาก เธอกล่าวว่าเมียนมาร์กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ส่งผู้คนออกนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และครั้งนี้เป็น “ครั้งแรก” ของเมียนมาร์ที่สมาคมกีฬาพื้นบ้านของเมียนมาร์เข้าร่วมงานในประเทศไทย โดยมี Tun Lin Thaung ประธานสมาคม มาเอง

ว่าวบินสูง (ว่าวนก) ซึ่งเป็นว่าวพื้นบ้านของท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่างมีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทีมว่าวจากตรัง ยะลา สงขลา และสตูล ส่งทีมของตนเข้ามาแข่งขันกันนับสิบๆ ทีมเช่นเดียวกับว่าวควายของชนชาติมลายูที่ส่งเสียงก้องยามทะยานบนฟ้า


งานนี้แม้ไม่ได้รับการขานรับจากสื่อส่วนกลาง ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทองจาก ททท. หรือกระทรวงท่องเที่ยวฯ มากมายนัก (เพราะอาจจะเอาเงินไปเทให้สุพรรณหมด) แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือชื่อเสียงของชาติบ้านเมืองและจังหวัดที่ชื่อได้ว่าเป็นจังหวัดที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศภายใต้สถานการณ์ที่ร้อนแรงของสงครามประชาชน

แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะนำนักเล่นว่าวนานาชาติไปเล่นว่าวที่ทะเลแหวกที่ยาว 5 กิโลเมตรของสตูลจะไม่ได้ผลนักเพราะเกิดลมฝนกระหน่ำเสียก่อน แต่ก็ทำให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นได้เห็นความดิบๆ ของจังหวัดที่ถูกขนานนามว่า The Last Vergin of Andaman ได้เป็นอย่างดี

การนำนักว่าวไปถ้ำภูผาเพชร ไปล่องคายัก ทำให้คนเหล่านั้นได้รับความสนุกสนาน นี่คือการโฆษณาที่ไม่ต้องโฆษณา

และด้วยอัธยาศัยใจคอของคนสตูลที่ยังเต็มไปด้วย “ยิ้มสยาม” ทำให้การต้อนรับขับสู้ภายใต้งบประมาณอันจำกัด สร้างความประทับใจให้แก่ 170 นักว่าวได้อย่างดียิ่ง และด้วยประสบการณ์ ผมเชื่อว่าปีหน้าจะมีนักว่าวจากทั่วโลกมาช่วยโฆษณาให้เมืองไทยไม่ต่ำกว่า 200 ชีวิตที่สตูลเมืองแห่งมิตรภาพไทยพุทธ ไทยมุสลิมนี้แน่นอน

ปล.ร้านอาหารที่อยากจะแนะนำท่านผู้อ่านเวลามาเที่ยวที่เมืองสตูลก็คือร้าน “ตุมหนา” ร้านที่ว่า ขายก๋วยเตี๋ยวเนื้ออร่อยมากถึงมากที่สุด อีกร้านที่แนะนำไม่มีชื่อร้านเป็นร้านขายข้าวแกงของท้องถิ่น แกงที่อร่อยมากของร้านนี้คือแกง “ตอแมะ” หรือแกงกะหรี่ปลา ปลาที่เขาเอามาทำคือปลา “อีคุด” ปลาอีคุด เป็นปลาทะเลที่ทำแกงตอแมะได้อร่อยและ “ไม่คาว” ทำเลที่ตั้งของร้านนี้อยู่ตรงข้ามกับโรงแรมสินเกียรติเก่า ข้างๆ ร้านเป็นร้านกาแฟเก่าแก่ที่คนมานั่งสมาคมกันทุกวัน โรตีที่นี่ยอดมากกกกกก

เบอร์โทรของร้านตุมหนาคือ 08-3658-8895 ส่วนร้านแกงตอแมะผมไม่ได้ถาม ไปสืบกันเอาเองนะครับ!