พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร สืบสานตำนานแพทย์
ตอนนี้กระแสละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพมาแรง วันนี้เราก็เลยพาไปสถานที่แห่งหนึ่ง
โดย...โยธิน อยู่จงดี
ตอนนี้กระแสละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพมาแรง วันนี้เราก็เลยพาไปสถานที่แห่งหนึ่งที่คล้ายกับวังในละครจุฑาเทพ และถูกใช้เป็นฉากละครหลายๆ เรื่องของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 นั่นก็คือพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศรตั้งอยู่ใน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ขับรถจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็ถึงแล้วครับ สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติไทยในมุมมองที่เราไม่เคยรู้มาก่อนโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์
การเดินทางจากกรุงเทพฯ เราใช้การขับรถมุ่งหน้าสู่เขาใหญ่โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 33 วิ่งตรงถึงแยกสมเด็จพระนเรศวร เลี้ยวขวาเข้า อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี วิ่งไปตาม ถนนปราจีนอนุสรณ์ จนถึง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เราจะเห็นตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นอาคารโบราณสไตล์ยุโรป เดินเข้าชมฟรี เปิดตั้งแต่เวลา 08.3016.30 น.
ตึกหลังนี้สร้างตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 สีเหลืองเด่นตัดขอบด้วยสีขาวให้เห็นถึงเส้นสายของตึกชวนพิสมัย ซึ่งการสร้างอาคารแบบนี้นิยมกันในหมู่ขุนนางของยุคการล่าอาณานิคมเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองเราก็เป็นประเทศที่เจริญแล้วอีกประเทศหนึ่ง หาใช่ประเทศด้อยพัฒนาแลไร้การศึกษาอย่างที่ฝรั่งเข้าใจกัน
ตึกแห่งการแพทย์
ความเป็นมาของตึกหลังนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2452 โดย เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ซึ่งเคยรับราชการปกครองดูแลที่ประเทศกัมพูชา นานถึง 12 ปี จนกระทั่งไทยเราเสียดินแดนเขมรให้กับฝรั่งเศส เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้อพยพครอบครัวและผู้ติดตามกว่า 200 คนเดินทางเกวียนจนมาหยุดอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี จึงตัดสินใจตั้งรกรากใหม่ที่เมืองปราจีนและช่วยพัฒนาด้านการแพทย์ให้กับชาวเมืองที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัย และเข้าถึงหมอลำบาก
ด้วยความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านมีประสงค์จะสร้างตึกให้โอ่อ่าสมพระเกียรติเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ท่านเมื่อยามมาเยือน เมืองปราจีนบุรี แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน แต่ยังดีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงกราบบังคมทูลขอให้พระองค์ท่านเสด็จประทับพักแรมที่ตึกหลังนี้แทนที่ศาลากลางจังหวัดให้สมพระเกียรติ และก็ได้มีโอกาสใช้เป็นที่พักของเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ ส่วนตัวเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเองก็ไม่เคยใช้ตึกนี้เป็นที่พักเลยจนถึงอสัญกรรมจึงได้ใช้ตึกหลังนี้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพให้สมกับคุณงามความดีที่ทำให้กับประเทศชาติ
ต่อมาลูกหลานของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มอบตึกหลังนี้ให้กับทางรัฐบาลเพื่อจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนกระทั่ง พ.ศ. 2540 ทาง รพ.ได้สร้างตึกใหม่และเปลี่ยนให้ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาการแพทย์แผนไทย และพัฒนาเป็น ร.พ.แห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้การแพทย์แบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน
จนพัฒนานำภูมิปัญญาที่เก็บรวบรวมไว้และสมุนไพร จากชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเศรษฐกิจชุมชนโดยขยายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากที่มีเฉพาะยาให้ครอบคลุม ถึงอาหารเสริม เครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม จากการพัฒนาสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้จุดประกายให้ผู้คนในสังคมเห็นคุณค่าของการพัฒนาสมุนไพร บนพื้นฐานภูมิปัญญา และวิชาการสมัยใหม่
เดินดูช้าๆ แล้วจะเห็นอะไรดีๆ
ทันทีเราก้าวเข้าสู่เขตของตึกก็ดูเหมือนจะมีกลิ่นอายความเป็นโบราณสถานทำให้เราเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 แต่หากจะเทียบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กับที่อื่นแล้ว ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือพิพิธภัณฑ์ที่ยังคงมีชีวิตมีสีสันและยังคงเคลื่อนไหว สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าหลังการบูรณะครั้งใหญ่ ทางโรงพยาบาลก็ได้ย้ายร้านขายยาต้นแบบโพธิ์เงินอภัยภูเบศร โอสถ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 60 ปี มาไว้ในสถานที่แห่งนี้ โดยมีเภสัชกรที่ทรงความรู้มาให้คำแนะนำเรื่องการจัดหายาสามัญประจำบ้านและการใช้ยาแผนไทย
อย่างตัวผู้เขียนเองต้องการหาชาหอมๆ มาดื่มแก้กระหายตอนเช้าๆ ให้เลือดลมเดินสะดวก หากเป็นร้านขายยาอื่นคงแนะนำเป็นยี่ห้อ แต่ที่ร้านขายยาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กลับถามถึงความต้องการ อาการ และเดือนปีเกิดเพื่อหาชนิดของชาและเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับธาตุกำเนิด ได้มาดื่มแล้วก็รู้สึกดีขึ้นจริงๆ อย่างคนธาตุน้ำต้องดื่มชาหรือเครื่องดื่มที่มีรสร้อนแรงเพิ่มเสริมธาตุไฟเร่งระบบเผาพลาญในร่างกายให้ดีขึ้นไม่อย่างนั้นก็อ้วนง่าย
คุณเคยได้ยินคำแนะนำดีๆ อย่างนี้จากร้านขายใกล้บ้านไหมล่ะครับฟังแล้วก็คิดว่าชาวปราจีนบุรีนี้โชคดีที่มีโรงพยาบาลที่ทรงความรู้ทางการแพทย์ที่ให้คำแนะนำด้านการรักษาสำหรับทุกคนได้ดีขนาดนี้
เดินออกมาทางซ้ายของอาคารจะเป็น ห้องแสดงประวัติความเป็นมาของท่านเจ้าพระยา และความสำคัญของการแพทย์แผนไทย ที่คนโบราณพยายามพัฒนาและสืบทอดสิ่งดีๆ ของแผ่นดิน มีตู้โชว์อุปกรณ์บดยาโบราณและอุปกรณ์ปรุงยาโบราณให้ได้ชม เช่น ครกบดยา รางบดยา หินฝนยา ตำรายาไทยโบราณ เน้นและย้ำว่าโบราณมากและดูเหมือนจะเป็นตำราการแพทย์ที่สืบทอดกันในเฉพาะรั้ววัง ซึ่งเป็นของหายากมากๆ รวมทั้งเครื่องมือตรวจของหมอฝรั่งสมัยก่อนที่เดินทางมากับมิชชันนารี
จากนั้นเราเดินขึ้นชั้น 2 ผ่านบันไดไม้เล็ก ไปถึงห้องแสดงภาพถ่ายเมื่อครั้งเก่าของตึกแห่งนี้ แนะนำว่าค่อยๆ เดินค่อยๆ อ่านไปทีละภาพเพื่อซึมซาบประวัตศาสตร์การแพทย์ของไทย แล้วคุณจะได้ลบล้างความเชื่อเก่าๆ ว่าการแพทย์สมุนไพรไทยนั้นดีสู้ของฝรั่งไม่ได้ จริงอยู่ว่าวิทยาการการแพทย์ของต่างประเทศรุดหน้าไปไกลกว่าเรามากนัก แต่หากศึกษากันดีๆ ยาหลายๆ ตัวล้วนส่งผลข้างเคียงทางการรักษา และมีพิษร้ายต่อตับ แม้หายได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ระยะยาวแล้วไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพของเราเลย
ในขณะที่การใช้สมุนไพรรักษาแม้จะหายช้าแต่ก็เป็นยาที่ได้จากธรรมชาติร่างกายสามารถขับออกมาได้อย่างปลอดภัยจากนั้นเดินลงมาด้านล่าง ข้างหลังของตึกจะมีสวนสมุนไพรขนาดย่อมๆ ร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่และสมุนไพรนานาชนิด เป็นสวนสวยน่านั่งถ่ายภาพไม่ว่าจะถ่ายมุมไหนก็เหมือนเราย้อนเวลาได้จริง
ก่อนกลับเราแนะนำให้นวดตัวที่งานแพทย์แผนไทยอยู่ข้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นวดๆ คลึงๆ เคล้ากลิ่นสมุนไพรอบอวลไปทั่วห้องผ่อนคลายสบายตัวแล้วค่อยกลับบ้านด้วยใจที่เต็มอิ่มในสถานที่ๆ เราไม่เคยคิดว่าจะดีขนาดนี้มาก่อน.