H7N9 ยังไม่น่ากังวล
กลายเป็นเรื่องน่าห่วงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีรายงานจากประเทศจีนว่าพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 จากคนสู่คนเป็นครั้งแรก
โดย...สุภชาติ เล็บนาค
กลายเป็นเรื่องน่าห่วงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีรายงานจากประเทศจีนว่าพบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 จากคนสู่คนเป็นครั้งแรก นำไปสู่ความหวาดระแวงว่า เชื้อ H7N9 จะกลายเป็นโรคระบาดใหม่ ที่ทำให้ทั่วโลกต้องขันนอตมาตรการป้องกันการติดต่ออีกครั้งหนึ่ง
เรื่องนี้ นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ได้ติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส H7N9 มาโดยตลอด ซึ่งกระแสข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการระบาดระหว่างคนสู่คนที่ประเทศจีนนั้น ยังไม่ได้รับการยืนยันจากองค์การระหว่างประเทศอย่างแน่ชัด แต่เป็นเพียงความเห็นของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับเชื้อจากการเฝ้าไข้บิดาที่ได้รับเชื้อ H7N9 มาก่อนหน้านั้น ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 56 วัน อย่างไรก็ตาม มาตรการของกรมควบคุมโรค และหน่วยงานด้านระบาดวิทยาหลังจากนี้ หากมีการประกาศเตือนจากองค์การอนามัยโลก คงจะเน้นไปที่การป้องกันในส่วนของการป้องกันผู้ป่วยในโรงพยาบาล ไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้ที่เฝ้าไข้ หรือบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นพ.ภาสกร กล่าวว่า ยังไม่พบว่าเชื้อไวรัส H7N9 จะสามารถระบาดในวงกว้าง แบบเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือโรคซาร์ส เนื่องจากโครงสร้างพันธุกรรมของเชื้อไวรัส H7N9 ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง และยังคงติดต่อได้ในวงจำกัด สังเกตจากผู้ที่มีข่าวว่าติดเชื้อจากคนสู่คนล่าสุด ก็เกิดจากการเฝ้าไข้อย่างต่อเนื่องนานถึง 56 วัน เพราะฉะนั้น มาตรการในการควบคุมการระบาด จึงยังไม่ต้องกังวลถึงการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง จนทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และประเทศไทยก็ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
สำหรับตัวเลขล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. พบว่ายอดผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในประเทศจีน รวมทั้งสิ้นเป็น 134 คน เสียชีวิต 43 คน และคาดว่าอาจมีผู้ป่วยเพิ่มจํานวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการติดต่อจากคน สู่คนได้อย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีการติดต่อจากคนสู่คนในวงจํากัด หรือในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนําให้ดําเนินการตรวจคัดกรองพิเศษที่ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่แนะนําให้จํากัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ