มองคน มองอินทรี มองโกเลีย
ภาพทุ่งหญ้ากว้างของประเทศมองโกเลียมักผุดขึ้นมาก่อนภาพอื่นเสมอ แต่สิ่งที่อยู่ในทุ่งหญ้านั้นน่าสนใจกว่า
โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ ปรีดา มนูญญา
ภาพทุ่งหญ้ากว้างของประเทศมองโกเลียมักผุดขึ้นมาก่อนภาพอื่นเสมอ แต่สิ่งที่อยู่ในทุ่งหญ้านั้นน่าสนใจกว่า ตามคำบอกเล่าของ พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์ เธอเดินทางข้ามทะเลไปใช้ชีวิตเร่ร่อนเหมือนคนพื้นเมืองบนเทือกเขาอัลไต ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ และอาจจะหายไปในอนาคต
ก่อนอื่นต้องอธิบายสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศมองโกเลีย มีพรมแดนติดกับประเทศคาซัคสถาน ซึ่งในอดีตก็คือพื้นที่ผืนใหญ่ที่ชาวพื้นเมืองพาฝูงสัตว์ไปหาอาหาร แต่วันหนึ่งมีการแบ่งเขตแดนขึ้นมาทำให้ชาวพื้นเมืองกลายเป็นผู้ร่อนเร่ระหว่างสองแผ่นดิน หรือที่ศัพท์อังกฤษเรียกว่า Mongolian Nomad Kazakh
ทุกวันนี้พวกเขายังยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม เช่น การเลี้ยงนกอินทรีไว้ล่าสัตว์ที่ปัจจุบันมีการจัดเป็นเทศกาลมองโกเลียน อัลไต อีเกิ้ล (Mongolian Altai Eagle Festival) ทำเป็นการแข่งขันล่าสัตว์ประจำปี โดยมีการจำหน่ายตั๋วชมให้นักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ
พีร์ญาดาไปมองโกเลียก็เพื่อการแข่งขันนี้ ตอนนั้นคือต้นเดือน ต.ค. เธอนั่งเครื่องบินของสายการบินไชน่าแอร์ไลน์สไปลงที่เมืองหลวงอูลานบาตอร์ (Ulan Bator) จากนั้นนั่งสายการบินในประเทศต่อไปเมืองอูกริ (Ulgii) เมืองนี้มีการจัดเทศกาลล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีแบบโบราณ คนพื้นเมืองจะใส่เสื้อขนจิ้งจอก มีเครื่องประดับเต็มชุด และที่แขนมีนกอินทรีสีทอง (Golden Eagle) เกาะอยู่อย่างภักดี
เธอเล่าว่า นกอินทรีจะจับหมาจิ้งจอกเป็นหลัก เพื่อคนจะนำขนของมันมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ซึ่งในอดีตเป็นการแข่งขันจับจิ้งจอกตัวจริง ขั้นตอนคือเมื่อเจ้าของเห็นเหยื่อแล้วจะปล่อยนกอินทรีให้บินมาตะปบ นกอินทรีจะถูกฝึกมาให้ล่า ความแข็งแรงของกรงเล็บ และความใหญ่ของตัวมันที่เมื่อกางปีกออกจะมีความสูงเท่าคน ทำให้จิ้งจอกเสร็จนกอินทรีได้ไม่ยาก เมื่อจับได้แล้วนกอินทรีจะไม่ฆ่า (ทั้งที่ฆ่าได้) แต่คนจะมาจัดการถลกหนังออกเพื่อนำขนไปใช้ ทุกวันนี้การล่าเปลี่ยนรูปแบบไปเพื่อการท่องเที่ยว คือจะไม่ใช้จิ้งจอกตัวจริง แต่จะนำหนังติดเนื้อจิ้งจอกพาดไว้บนหลังม้าแล้วให้เจ้าของนกอินทรีเป็นคนขี่ ส่วนผู้ช่วยเป็นคนปล่อยนกอินทรีจากที่สูง
นอกจากนี้ พีร์ญาดาได้เลือกโปรแกรมทัวร์ให้พาไปดูบ้านคนเลี้ยงนกอินทรีแบบดั้งเดิมด้วย ที่นั่นทำให้เธอรู้ว่าการจะได้นกอินทรีมาเลี้ยงสักตัวต้องเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นไข่ คนเลี้ยงต้องปีนผาไปเก็บไข่จากรัง รอช่วงที่แม่นกอินทรีไม่อยู่แล้วรีบปีนไปเก็บ บางคนโชคไม่ดีเจอตัวแม่ก็อาจถูกทำร้ายจนตาย เมื่อได้ไข่มาแล้วคนเลี้ยงต้องฝึกมันให้เชื่องและฝึกให้ล่า ซึ่งคนท้องถิ่นก็ยังใช้นกอินทรีล่าสัตว์อยู่เป็นปกติ
อย่างที่กล่าวไปว่า ชาวพื้นเมืองเป็นคนร่อนเร่ย้ายถิ่นฐานไปตามแหล่งอาหารของฝูงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ดังนั้นพวกเขาจะไม่มีบ้าน แต่จะอยู่อาศัยในเกอ (Ger) ลักษณะเป็นทรงกลม ทำจากโครงไม้ คลุมด้วยหนังสัตว์ และผ้าใบอีกชั้น สามารถถอดเข้าถอดออกและขนย้ายไปได้ทุกที่ ซึ่งเกอจะมีความแข็งแรงและอบอุ่นถึงขนาดป้องกันพายุหิมะในหน้าหนาวได้
“ไปเที่ยงมองโกเลียต้องไปนอนเกอ”
พีร์ญาดากล่าวแบบนั้น เพื่อจะได้เข้าใจวิถีของชาวพื้นเมืองและสะดวกต่อการท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ภูเขา แม่น้ำ ธารน้ำแข็ง เธอยังเล่าประสบการณ์เจอพายุหิมะครั้งแรกในชีวิตทั้งที่มันไม่น่าจะเกิดในเดือน ต.ค. แต่ก็ผ่านมาได้สบายๆ เพราะอยู่ในเกอ
เธอแนะนำเฉพาะกับคนที่ง่ายๆ และรักธรรมชาติเท่านั้น เพราะการนอนเกอจะไม่ได้อาบน้ำ ห้องน้ำก็เป็นแค่ผ้าใบกั้นสามทิศ อีกทิศเปิดไว้ระบายอากาศ อาหารการกินแล้วแต่ว่าพ่อครัวจะทำอะไร และเท้าต้องติดดินตลอดเพราะในเกอไม่มีพื้น
นอกจากนี้ การเที่ยวแบบร่อนเร่ “ใช้เงินเยอะ” หากเป็นชาวพื้นเมืองมันจะเป็นวิถีที่พึ่งพิงธรรมชาติ หาสัตว์กินเนื้อ นอนในเกอ เดินทางด้วยการเดิน แต่หากเป็นการท่องเที่ยวต้องจ่ายเงินก้อนเพื่อทัวร์ลักษณะนี้
เธอเล่าว่า การเดินทางแบบนี้ไปเป็นคาราวาน คือ มีรถยนต์ 4 คัน ไว้ขนนักท่องเที่ยว ขนอาหาร ขนเกอ และทีมงานอีก 10 ชีวิต ในนั้นมีไกด์และพ่อครัวรวมอยู่ด้วย ถ้าเป็นการแชร์ทัวร์กันหลายคนค่าใช้จ่ายจะถูกลง แต่ที่เธอไปเป็นแบบทัวร์กลุ่มเล็กมีนักท่องเที่ยว 4 คน ราคาคนละเกือบ 1 แสนบาท ซึ่งรวมทุกอย่างแล้วตลอด 12 วัน ดังนั้นเหล่าแบ็กแพ็กเกอร์จะไม่ค่อยมี จากที่ได้เห็นเป็นคนสูงอายุเสียมากกว่า ส่วนใหญ่เป็นคนยุโรป ในเอเชียเป็นคนญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนคนไทยเธอไม่เห็นเลยตลอดสัปดาห์กว่าที่อยู่ที่นั่น
อย่างไรก็ตาม การเที่ยวมองโกเลียใช้เงินน้อยกว่าที่เธอไปได้ คือ เที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป เช่น เมืองอูลานบาตอร์ ต้องไปดูม้าป่าพันธุ์หายากที่อุทยานแห่งชาติ (Khustain National Park) เปิดเป็นสวนสัตว์ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมม้า ไปดูธารน้ำแข็ง หรือกลาเซียร์ (Glacier) ที่โด่งดังคือ ธารน้ำแข็งโปทานิน (Potanin Glaciet) ยาวที่สุดในมองโกเลีย หรือชมการแสดงร้องเพลงด้วย
ลำคอ (Shaman throat singer) เป็นการขับร้องแบบมองโกเลียที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติ
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะหยุดอยู่ที่เมืองหลวงอูลานบาตอร์ เพราะที่นั่นก็มีเทศกาลอินทรีล่าเหยื่อเช่นกัน แต่ไม่
ยิ่งใหญ่ การเดินทางเที่ยวนอกเมืองทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะค่าเดินทาง เพราะแต่ละเมืองจะอยู่ห่างไกลกัน ถ้าจะประหยัดเวลาต้องนั่งเครื่องบิน เช่น จากเมืองหลวงไปอูกริใช้เวลาบินนาน 2 ชม.ครึ่ง ซึ่งถ้านั่งรถจะใช้เวลาเกือบทั้งวันและเส้นทางไม่ดีนัก
“มองโกเลียไม่ใช่ที่ของคนชอบความศิวิไลซ์” เธอกล่าว “มันเป็นที่สำหรับคนรักธรรมชาติ แค่ได้ดูภูเขา แม่น้ำ ผู้คน ก็มีความสุขแล้ว” นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่เธอเจอส่วนหนึ่งเป็นช่างภาพมืออาชีพพกกล้องและเลนส์มาแบบชุดใหญ่ “มันขายแลนด์สเคป แค่ยกกล้องขึ้นถ่ายก็สวย ถ่ายตรงไหนก็สวย” เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบถ่ายภาพและได้หลงใหลทิวทัศน์ของมองโกเลียไปแล้วทุกมุมมอง
สนใจซื้อทัวร์เที่ยวมองโกเลียเข้าไปดูรายละเอียดที่ www.kazakhtour.com มองโกเลียไม่ต้องขอวีซ่า แต่หากต้องไปต่อเครื่องที่จีนแต่ขอวีซ่าจีน สภาพอากาศบนเขาอัลไตคาดการณ์ได้ยาก บางคืนอุณหภูมิอาจลดไปถึง -15 องซาเซลเซียส บางวันเจอพายุหิมะโดยไม่ได้คาดหมาย บางวันแดดร้อนในช่วงกลางวัน ดังนั้นต้องเตรียมเสื้อกันหนาว ถุงนอน ครีมกันแดดไปด้วย