posttoday

ไขสาเหตุ ‘พาร์กินสัน’ ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งเร็วสุด - อายุน้อยลง อยู่ที่กิน - นอน?

16 มกราคม 2568

แพทย์จุฬาฯ ไขสาเหตุ 'พาร์กินสัน' มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในบรรดาโรคความเสื่อมทางสมอง และแนวโน้มผู้ป่วยมีอายุน้อยลง! จากงานวิจัยชี้ปัจจัยสำคัญคือพฤติกรรมกินและนอน โดยเฉพาะอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง พลาสติก และจุลินทรีย์บางตัวในกระเพาะอาหาร!

'พาร์กินสัน' โรคความเสื่อมทางสมองที่มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุด

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของโรคพาร์กินสันไว้ว่า จากสถิติพบว่า 'โรคพาร์กินสัน' เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในปัจจุบัน และ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกภายในปี ค.ศ. 2040 จำนวนผู้ป่วยของโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งผู้ป่วยโรคพาร์กินสันประมาณ 6 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 12 ล้านคน!

สำหรับประเทศไทยข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคพาร์กินสันในประเทศไทย ที่ทำการสำรวจในปี พ.ศ. 2551-2554 พบว่ามีผู้ป่วยพาร์กินสันมากกว่า 60,000 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด อย่งาไรก็ตาม ศ.นพ.รุ่งโรจน์ มองว่าอัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่มีมานานกว่า 10 ปี แต่จากการลงพื้นที่ในปัจจุบันจะพบว่า อัตราความชุกของโรคเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า!

 

" เราไปลงพื้นที่นะครับที่จังหวัดนครสวรรค์นะครับเราก็พบว่าความชุกของโรคพาร์กินสันตอนที่เราไปลงพื้นที่ตอนนั้นอยู่ราว 4.1% จากเดิมที่มีการประเมินไว้เมื่อ 10 ปีก่อนที่ 1% " ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

 

 

ไขสาเหตุ ‘พาร์กินสัน’ ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งเร็วสุด - อายุน้อยลง อยู่ที่กิน - นอน?

 

'พาร์กินสัน' กับสัญญาณอันตรายของอาการ

'พาร์กินสัน' เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการทันที แต่มีระยะเวลาของการเตือนและระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ย 10-20 ปี โดยอาการที่ชัดเจนคือ อาการสั่น ส่วนอาการเตื่อนอื่นๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง อาการนอนละเมอ ออกท่าทางหรือออกเสียงที่สัมพันธ์กันเนื้อหาความฝันฯลฯ มักถูกมองว่าไม่ใช่อาการผิดปกติ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวไม่คิดว่าตนเองเป็น จึงไม่ได้แพบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

" หมอยกตัวอย่างอาการที่มีความแม่นยําในเรื่องของการบ่งบอกว่าจะเป็นพาร์กินสันในอนาคต อย่างแรกคือ 'การนอนละเมอกลางดึก' ซึ่งมักเกิดร่วมกับอาการฝันร้ายนะครับ อันที่สองคือ 'การดมกลิ่นไม่ค่อยได้' ซึ่งคนทั่วไปบางทีไม่รู้ตัว หรือคิดว่าเป็นในเรื่องของโควิด 19  อันที่ 3 ที่ประเมินยากคือ 'อาการท้องผูก'  เป็นสามประการหลักที่ควรเน้นและเห็นว่ามีความเสี่ยงเยอะครับ"

 

'พาร์กินสัน' กับปัจจัยพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในผู้สูงอายุเป็นปัญหาของประเทศมาอย่างยาวนาน ปัจจัยหนึ่งคือ 'พฤติกรรมการดำเนินชีวิต' ที่สะสมระยะเวลามาอย่างยาวนาน อาการที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในระบบสมองซึ่งมีความเฉลียวฉลาดมากนั้น จะต้องอยู่ในจุดที่แย่มากเสียก่อน

 

" ทุกคนมีระบบสํารอง กว่าที่จะมีอาการได้ระบบสํารองมันจะต้องเสียไป อย่างคนไข้พาร์กินสันที่เริ่มมีอาการสั่นข้างหนึ่ง คือระบบสํารองหายไปแล้ว 60% "

 

นอกจากนี้ พาร์กินสันเป็นโรคที่มีสาเหตุจากปัจจัยทางพันธุกรรมอยู่ที่ราว 20% เท่านั้น แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคือ 'พฤติกรรมการดำเนินชีวิต' ไม่ว่าจะเป็นการกิน ขยับ หรือว่าการนอน 

 

" ยาปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลง รวมถึงสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสันอย่างมาก"

 

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นพาร์กินสันมักจะมีปัญหาเรื่อง 'ระบบทางเดินอาหาร'  เป็นเรื่องของการกินที่กินอยู่ทุกวัน

 

" ในปัจจุบันหลักฐานพบว่าจุลินทรีย์ในลําไส้ของคนไข้พาร์กินสัน มีตัวที่ไม่เฮลท์ตี้เยอะแยะมากมาย .. อีกทั้งเราวิจัยแล้วพบส่วนหนึ่งว่าสิ่งแวดล้อมอย่างพลาสติกที่เราได้รับทุกวัน จะเข้าไปอยู่ในสมอง ซึ่งมันลิงก์กับอาการอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นอีกอาการหนึ่งของความเสื่อมสมองเช่นกัน"

 

เพราะเหตุนี้ จากสถิติพบว่าปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบในผู้ป่วยอายุน้อยลง เนื่องจากปัจจัยพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีความเสี่ยงนั่นเอง!

 

ไขสาเหตุ ‘พาร์กินสัน’ ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งเร็วสุด - อายุน้อยลง อยู่ที่กิน - นอน?

 

'พาร์กินสัน' กับระบบสาธารณสุขไทย

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ยังได้อัปเดตสถานการณ์ 'โรคพาร์กินสัน' กับการรักษาในเมืองไทยสั้นๆ ว่า ปัจจุบันแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทในเมืองไทยขาดแคลนและมีไม่เพียงพอ 

" ผู้เชี่ยวชาญในเมืองไทยมีน้อยกว่าพัน และกระจุกอยู่แค่บางจังหวัด ไม่ได้ครบทุกจังหวัดที่จะมีหมอเกี่ยวกับระบบประสาท เพราะฉะนั้นจะพบว่าผู้ป่วยไทยกว่าร้อยละ 80 ไม่เคยพบหมอที่เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท"

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการนำยาที่ใช้เกี่ยวกับพาร์กินสันเข้าในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วกว่า 8 ตัวซึ่งดีกว่าเมื่อก่อนที่มีเพียง 2 ตัวเท่านั้น เนื่องจากเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และเป็นเรื้อรัง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชัน 'Check PD' สำหรับการเช็คตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นพาร์กินสันหรือไม่ ซึ่งควรทำตั้งแต่อายุ 40 ปีทุกปีเพื่อประเมินความเสี่ยง เนื่องจากพาร์กินสันเป็นโรคที่หากรู้ได้เร็วจะสามารถป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที.