posttoday

(รอยสัก) ที่เห็น อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด

28 กรกฎาคม 2558

‘เทียนที่แกะลายก็ให้แสงไฟสว่างได้เหมือนกัน’

โดย...พงศ์ พริบไหว ภาพ : EPA / เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ปลดแอกรอยสักจากแง่ลบ &<2484; ประเทศไทย”

"เทียนที่แกะลายก็ให้แสงไฟสว่างได้เหมือนกัน"

ชายคนหนึ่งโพสต์ข้อความและรูปภาพของตัวเขาลงไปพร้อมๆ กับเริ่มเล่าเรื่องราวไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตร่วมกับรอยสัก โดยหวังให้ผู้ที่ตั้งคำถามกับรอยน้ำหมึกบนตัวได้เห็นและเข้าใจในอีกแง่มุมของรอยสัก จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ครั้งนั้นได้กลายเป็นโปรเจกต์ที่มีผู้คนเข้าร่วมมากมาย ทั้งยังทรงพลังในด้านวิธีคิด ที่สามารถสะท้อนมุมมองของผู้คนที่หลงใหลรอยสักอย่างตรงไปตรงมาแก่สังคมในนามของกิจกรรม “ปลดแอกรอยสักจากแง่ลบ &<2484; ประเทศไทย”

มันเริ่มมาจากมีคนมาแชร์ไลฟ์สไตล์จากนั้นคนอื่นๆ ก็เริ่มทำตาม จนมันกลายมาเป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างมุมมองใหม่ๆ แก่ผู้มีรอยสักให้แก่สังคม โดยการเปิดหน้าบอกเล่าเรื่องราวของผู้มีรอยสักในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ทั้งในเรื่องไลฟ์สไตล์ แง่คิด มุมมอง ทัศนคติ สถานะการงาน อาชีพของผู้มีรอยสัก แล้วด้วยความที่กระแสสังคมที่มีต่อผู้มีรอยสักว่า สกปรก ติดยา ขี้คุก ไม่มีงานดีๆ ทำ บลาๆๆ ซึ่งเหล่านี้มันสร้างปมในใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมาแสดงแง่คิดมุมต่าง ทัศนคติต่อสังคมกับรอยสักกันมากมายหลากหลายวิชาชีพ

หลังจากที่กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้หนึ่งปีมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยการส่งรูปและการเขียนข้อความมาทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ปลดแอกรอยสักจากแง่ลบ &<2484; ประเทศไทย” ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน ครู นักวิชาการ ทหาร ราชการ ทนายความ วิศวกร นักวิเคราะห์เคมี พนักงานเอกชน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ นักออกแบบ เชฟ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ให้การรวมกลุ่มเพื่อเปลี่ยนแปลงมุมมองของสังคมต่อรอยสักที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แอดมินเพจผู้ดูแลกิจกรรมได้เล่าให้ฟังว่า เขาเองเป็นอีกหนึ่งคนที่มีรอยสัก และถูกมองในแง่ลบมาตลอดทั้งที่มีงานการที่ดี นั่นเองเป็นเหมือนแรงผลักที่ทำให้เกิดเป็นกิจกรรมปลดแอกรอยสักฯ อันเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะเสนอแง่มุมในอีกด้านของคนที่มีรอยสัก ยังสะท้อนกับผู้ที่มีอคติต่อรอยสักอีกว่า การที่สังคมตัดสินคนสักจากภายนอกเป็นเรื่องที่ผิด และควรทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะผู้คนที่มีรอยสักนั้น มีอยู่ในทุกๆ ส่วนของสังคม

(รอยสัก) ที่เห็น อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด ช่างชิต-ชิษณุพงศ์ พุทธนาวงศ์

ช่างชิต-ชิษณุพงศ์ พุทธนาวงศ์ อาชีพวิศวกรโยธา อายุ 33 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ผู้ที่ผ่านการร่วมงานมาหลายบริษัท ตั้งแต่บริษัทเล็กยันมหาชนกระทั่งบริษัทข้ามชาติ เป็นหนึ่งในผู้ชื่นชอบรอยสักอักขระโบราณ เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจเปิดหน้าแสดงตัวตนในกิจกรรมนี้ให้ฟังด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า...

“ผมชอบการสักเพราะมองว่าเป็นศิลปะ แล้วส่วนตัวผมชอบสักแบบอนุรักษนิยมเพราะเป็นเอกลักษณ์ของชาติ มีเรื่องเล่า มีที่มาที่ไป ผมสักใช้ความชอบนำความเชื่อก็สักมา 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียน คือจริงๆ ตอนผมแชร์ในเพจผมเขียนประมาณว่า ตอนสักครอบครัวก็ไม่ชอบนะ เขาพูดในสเต็ปคนไทยส่วนมากว่า สักแล้วไม่มีใครรับทำงาน เป็นเจ้าคนนายคนไม่ได้ แต่ชีวิตผมที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ไอ้คำพูดเหล่านั้นมันคืออคตินำหน้าเหตุผล

“อย่างทุกวันนี้ผมทำงานในตำแหน่งโปรเจกต์เอนจิเนียร์ก็เป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงในทุกด้าน รอยสักมันไม่ได้มีผลกระทบต่อหน้าที่การงานเลย เวลาทำงานผมก็แต่งตัวมิดชิดให้เกียรติวิชาชีพ ให้เกียรติบริษัท ให้เกียรติสถานที่ มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไอ้คำที่เขาพูดกัน คนสักแล้วจะไม่ได้เป็นเจ้าคนนายคนมันไม่จริง คุณจะได้ดีไม่ได้ดีอยู่ที่ศักยภาพของคุณเป็นหลัก อยู่ที่รอยหยักในสมอง ตอนนี้ผมทำงานอยู่กับบริษัทข้ามชาติเขาก็ไม่เคยมาถามมาตรวจตามร่างกายผมว่ามีรอยสักไหม? สักทำไม? แต่เราต้องรู้จักวางตัวให้เป็น รู้กาลเทศะ

“คืออย่างที่ผมออกมาแชร์ความคิดเรื่องรอยสัก ก็เพื่ออยากให้สังคมไทยที่ชอบมองคนสักว่าเป็นคนเลว จริงๆ มันไม่ใช่ทั้งหมด คนมันจะเลวมันไม่มาเสียเวลาสักให้เจ็บตัวหรอก มันเลวมาก่อนสักเลยแหละ (หัวเราะ) ผิวขาวเนียนมันก็เลว ถ้ามันจะเลวมันเป็นที่สันดาน นี่คือสิ่งที่ผมอยากสะท้อนให้ได้เห็น ผมมองว่าสังคมบ้านเราฉาบฉวยชอบโหยหาคนดี แต่แปลกนะ!! เอาเข้าจริงกลับไม่ค่อยให้โอกาสคนดีเท่าที่ควร เพราะคนในสังคมไทยส่วนมากเอาแต่วัตถุสิ่งของรูปลักษณ์ภายนอกมาวัดค่า เอารถ บ้าน เครื่องประดับ หน้าตา ให้ค่าความเป็นคนดี แล้วเอารอยสักซึ่งสังคมยุคหนึ่งสร้างค่านิยมว่าเป็นสิ่งไม่ดีไปวัดค่าคน ปิดกั้นไม่ให้โอกาสเขา ทั้งๆ ที่เขาอาจเป็นคนดีมากๆ ก็ได้ แค่เขาชอบศิลปะแขนงนี้แค่นั้นเอง

“อีกอย่างผมอยากให้คนที่สักอย่าไปโทษแต่สังคม เราต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า เรามีรอยสักแล้วเรารับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ไหม รู้จักพัฒนาตัวเองหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าวันๆ ไม่ทำอะไรนั่งกินแต่เหล้าเสพแต่ยาหรือไม่ยอมทำอะไร พอจะทำไรก็ไม่มีความพยายามเท่าที่ควร แล้วมาโทษสังคมว่าสังคมไม่ยอมรับ อันนี้คุณต้องโทษตัวเองก่อน คนสักที่ไม่เข้าท่าผมก็ด่านะไม่มีอวยกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยากให้สังคมไทยเปิดกว้างมากกว่านี้ มองค่าความเป็นคนดีอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ เพราะรอยสักไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความเลว”

(รอยสัก) ที่เห็น อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด อุ้ม-พสิษฐ์ ศรีพชรภาส

อุ้ม-พสิษฐ์ ศรีพชรภาส พนักงานบริษัทเอกชน แผนกทรัพยากรบุคคล ปัจจุบันดูแลพนักงานกว่า 6,000 คน ผู้หลงใหลในรอยสักสไตล์ Old School ซึ่งจากที่ได้คุยกันอุ้มดูเป็นคนถ่อมตัว พูดน้อยคิดเยอะ ซึ่งก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเขาเองจะมีลักษณะของผู้ที่อยากเปิดตัว แต่เพราะความขัดแย้งในใจต่อภาพลักษณ์ของคนมีรอยสัก ทำให้เขาก้าวเข้ามาออกหน้าเพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องของรอยสักอย่างตรงไปตรงมาได้น่าชวนคิดตาม 

“ในอนาคตอาจเป็นไปได้ที่ต้องเปลี่ยนงาน และอย่างที่รู้ๆ บางบริษัทมีข้อกำหนดว่าไม่รับคนมีรอยสัก แต่เท่าที่ทราบก็น้อยมากๆ คือถ้าวันหนึ่งผมได้ไปสัมภาษณ์กับบริษัทอย่างว่า ถึงแม้รู้ทั้งรู้ว่าไม่ได้งานแล้ว ผมก็อยากถามคนเหล่านั้นกลับว่า รอยสักมีผลทำให้ความสามารถในการทำงานผมลดลงอย่างไร ไม่ได้ถามเอาสนุกนะ ผมอยากรู้เหตุผลว่าเพราะอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วหากเราเชื่อว่าตัวเราเก่งจริง มีความสามารถ เราก็ไปที่อื่นที่ดีกว่าได้”

เจ้าตัวยังเล่าให้ฟังอีกว่าทุกวันนี้เขาเองไม่ได้รู้สึกว่าต้องพยายามให้ใครยอมรับ ไม่ใช่เพราะไม่แคร์คนอื่นหรือความมีอีโก้ แต่เพราะทุกวันนี้เขาเองรู้สึกว่าเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้แปลกแยกแม้แต่เพียงเล็กน้อย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืน แต่ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมก็เพราะความรู้สึกที่มิได้คิดว่าตัวเองแปลกแยก เขาจึงไม่รู้สึกต้องปิดบังอะไร

“ผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเลยเข้าร่วม เหมือนเป็นการเปิดสังคมให้เจอเพื่อนที่มีมุมมองความชอบในสิ่งเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติ แล้วส่วนตัวผมคิดว่าในบ้านเราการยอมรับเรื่องสักไม่ถึงกับแสดงออกอย่างชัดเจน แต่ลึกๆ ยังแฝงไปด้วยทัศนคติที่ไม่ดี เคยเจอกับตัวเองตอนคุยกับเพื่อนสมัยมัธยมปลาย เห็นว่าสนิทกันก็พูดด่ามันเล่นๆ คิดอยู่แล้วว่ามันต้องด่ากลับ แต่สิ่งที่เพื่อนด่าสวนกลับมาไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คุยกันเลย มันพูดทำนองว่า มีรอยสักแล้วเก๋าหรอวะ ไอ้เราก็ประหลาดใจว่า เฮ้ย! มันไม่เกี่ยวกันสักหน่อย หลังจากนั้นทำให้เรารู้ว่าทัศนคติต่อรอยสักนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ก็เลยอยากเข้ามาแชร์ประสบการณ์” เมื่อถามว่ารอยสักสำคัญกับตัวเขาเช่นไร เจ้าตัวตอบทิ้งท้ายให้ฟังว่า

“สำหรับเรารอยสักมีส่วนสำคัญในการพิสูจน์ตัวเอง เป็นสิ่งที่ท้าทายในการพิสูจน์ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นและไม่เกี่ยวกับอย่างที่ใครเค้าปลูกฝังกันมา การสักคล้ายกับเครื่องประดับ คนเรามีความชอบไม่เหมือนกัน เลือกเครื่องประดับต่างกัน เพียงแค่คนสักเค้ามั่นใจและยอมรับแล้วว่าการสักเป็นเครื่องประดับที่ติดตัวเราตลอดไปนั่นเอง”

(รอยสัก) ที่เห็น อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด แบงค์-ภูมิใจ ใจบุญ

แบงค์-ภูมิใจ ใจบุญ อายุ 35 ปี ช่างอิเล็กทรอนิกส์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องบิน อีกหนึ่งหนุ่มที่เข้าร่วมกับกิจกรรมปลดแอกรอยสักฯ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเห็นเพจก็สนใจที่อยากเข้าร่วมเพราะคิดว่าตัวเองก็มีหน้าที่การงานที่ดีและมั่นคง จึงอยากแชร์ประสบการณ์และแง่มุมของรอยสักให้สังคมได้เปลี่ยนทัศนคติ 

“คือเราชอบรอยสักตั้งแต่เด็กแล้ว พอโตมาเรามีงานที่มั่นคงเราถึงเริ่มสัก แล้วเวลาทำงานเราก็ให้เกียรติกับที่ทำงานใส่เสื้อแขนยาว แต่เมื่ออยู่ข้างนอกเราก็เป็นตัวเรา คือเรามักจะบอกคนรอบข้างเสมอว่า เราสักแล้วเราก็ยังเป็นเราแบบเดิมไม่ได้เปลี่ยน ซึ่งครอบครัวเราเขาก็รับได้เพราะเห็นเรามั่นคงแล้ว แต่ส่วนคนอื่นหรือในสังคมเมืองไทยก็ยังไม่ได้ให้การยอมรับเท่ากับเมืองนอกเท่าไร อย่างบ้านเราเองภาพคนสักไม่ดีมันเป็นแบบนั้นชัด เพราะตำรวจจับใครที่มีรอยสักมาได้ก็จะถอดเสื้อ แต่เวลาจับคนไม่มีรอยสักก็ใส่เสื้อปกติ คือมันเป็นเหมือนการทำให้เห็นว่าสิ่งนี้มันไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วนักการเมืองเลวๆ ใส่สูทก็ไม่เป็นไรดูดีกันไป พอเป็นแบบนี้เมื่อเราเองสามารถทำอะไรได้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเราก็อยากทำ ซึ่งก็ดูจะมีความหวังอยู่บ้าง”

หนุ่มเครางามหัวเราะและพูดถึงทัศนคติของเขากับคนที่อยากมีรอยสักว่า เขาเองจะบอกเสมอไม่ว่าคนรอบข้างหรือญาติพี่น้องว่า เมื่ออยากสักอะไรสักอย่างที่แทนความหมายในชีวิต ขอให้เรียนให้จบมีงานที่มั่นคง และเมื่อรู้ว่าตัวเองชอบรอยสัก ก็ค่อยคิดลงมือก็ไม่สาย อารามว่าเก็บความชอบเป็นแรงผลักให้ชีวิตนั่นเอง

“สำหรับผมรอยสักคือศิลปะที่อยู่ติดตัวกับเราไปจนตายลบออกไม่ได้ ซึ่งสิ่งนั้นมันต้องมีความหมายในตัวอยู่แล้ว และมันก็สวยงามในสิ่งที่เราเชื่อ แล้วสำหรับผมข้อดีของการมีรอยสักเวลาที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบ หรือคลั่งไคล้ เช่นรอยสัก สิ่งนั้นมันเติมเต็มชีวิตเราได้นะ เพราะมันทำให้เราภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจในความเป็นตัวเรา คือสุดท้ายผมว่าคนจะดีจะเลวมันอยู่ที่สันดานครับ ไม่ใช่รอยสัก รอยสักไม่มีทางเปลี่ยนจิตใจคุณได้ แต่จิตใต้สำนึกต่างหากที่เป็นตัวกำหนดคุณ”

งานนี้สามารถเข้าไปรับฟังมุมมองและทัศนคติของผู้คนที่มีรอยสักกันได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ปลดแอกรอยสักจากแง่ลบ ประเทศไทย” ไม่แน่ว่าคุณอาจเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนของคนที่ใช้ชีวิตคู่กับรอยสัก