จากต้นทุนถึงตราบาป ที่เกาะเฮ
ผมมองภาพแนวปะการังเกาะเฮ ภูเก็ต ที่น้องเนะ นลินี ทองแถม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจแนวปะการังไทย
โดย...ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ผมมองภาพแนวปะการังเกาะเฮ ภูเก็ต ที่น้องเนะ นลินี ทองแถม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจแนวปะการังไทย โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของเธอ ภาพดังกล่าวคือความแหลกยับของเศษซากปะการังที่ปราศจากชีวิต เนะยังแนบบันทึกที่เคยเขียนไว้เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ระหว่างที่เธอดำน้ำที่เกาะเฮเป็นครั้งแรก ความทรงจำว่าปะการังสวยเช่นนั้น ปลามากมายเช่นนี้ ทุกอย่างสลายไปกับกาลเวลาเพียงไม่นาน
ภาพที่เนะบรรยายอาจสวยสู้ภาพในความทรงจำของผมไม่ได้ เพราะเกาะเฮคือจุดแรกในอันดามันที่เด็กชายวัยไม่ถึงสิบขวบกระโดดลงน้ำเมื่อกว่า 40 ปีก่อน น่าเสียดายที่ยุคนั้นยังไม่มีกล้องใต้น้ำ แต่ภาพคงอยู่ในใจ หลับตาครั้งใดยังแจ่มชัดและยิ่งชัดขึ้นเมื่อมองเห็นภาพในปัจจุบันน้ำตามันพานจะไหล
ในฐานะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ผมเข้าใจยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวไทย เข้าใจความจำเป็นที่เราต้องก้าวไปข้างหน้า เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นความหวังสุดท้ายของประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2558 สูงถึง 30 ล้านคน การท่องเที่ยวจึงตั้งเป้าปี 2559 ไว้ที่ 36 ล้านคน และคาดหวังจำนวนนักท่องเที่ยว 43 ล้านคนในปี 2560 ก่อนจะไปถึง 51.8 ล้านคนในปี 2561
ผมไม่ห่วงว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยไม่ถึงเป้า ผมมั่นใจว่าเราทำได้และจะเกินกว่านั้นด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญเราได้อะไรอย่างที่เราอยากได้ไหม? นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาจำนวนคนเพิ่มอย่างเดียว ค่าใช้จ่ายต่อคนแทบไม่เพิ่ม อีกทั้งค่าใช้จ่ายดังกล่าวตกอยู่กับคนไทยเท่าไหร่? ยังเป็นเรื่องที่สงสัยในประเด็นกลุ่มทุนต่างชาติไล่กว้านซื้อกิจการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในอันดามัน
ผมยังไม่พูดเรื่องนั้น ผมขอพูดเรื่อง “ต้นทุน” การท่องเที่ยวบ้านเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งทำมาหากินหลัก ทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคนมามากที่สุด แล้วเราเคยคิดถึงต้นทุนที่เราสูญเสียไปกับการโหมกระหน่ำดึงคนเข้ามาหรือไม่?
เราสูญเสียอะไร? ผมอยากให้คุณมองภาพแนวปะการังที่สูญสลายอีกครั้ง แนวปะการังที่ไม่เหลือปลาสักตัว ไม่มีปะการังสักชีวิต เกาะเฮเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ภูเก็ต มีกิจกรรมท่องเที่ยวมากมายทั้งเหนือน้ำและใต้น้ำ นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความพินาศ แต่สำคัญกว่านั้นคือตะกอนที่เกิดจากการพัฒนาอย่างบ้าคลั่ง เปิดป่าเปิดหน้าดินสร้างโรงแรมสร้างถนน ผมเคยมีโอกาสบินสำรวจรอบเกาะภูเก็ตเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เห็นโรงแรมและถนนที่ลามไปทุกหาดทุกแหลม เห็นตะกอนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเห็นที่ใด ทะลักลงทะเลรอบภูเก็ตและไหลต่อเนื่องมาทางเกาะเฮ หากเราทำการค้า นี่เรียกว่าต้นทุนหมดชนิด “สิ้นเนื้อประดาตัว”
จะยากอะไร ฟื้นฟูขึ้นใหม่สิ? ผมนำภาพเปรียบเทียบของเนะมาให้ชม เธอคือนักปลูกปะการังมือหนึ่งของไทย เธอพยายามฟื้นฟูปะการังที่เกาะเฮและที่เกาะไม้ท่อนมาร่วม 20 ปี ปรากฏว่าแหล่งฟื้นฟูปะการังที่ไม้ท่อนประสบความสำเร็จมีปะการังขึ้น แต่ที่เกาะเฮมีแต่ตะกอนทับถมบนท่อนคอนกรีต นี่เป็นหลักฐานยืนยันดีที่สุดว่า ถ้าทะเลตายแล้ว...เธอตายเลย ไม่มีฟื้น ไม่หวนคืน ลงทุนพันล้านหมื่นล้านก็เรียกแนวปะการังเกาะเฮกลับคืนมาไม่ได้ ยกเว้นอย่างเดียว หยุดตะกอนที่ภูเก็ตให้ได้ แล้วเราทำได้ไหมครับ ?
ผมไม่เคยคิดจะต่อต้านการท่องเที่ยว ผมขอเพียงเราคิดถึง “ต้นทุน” บ้างได้ไหม คิดถึงจริงจังให้มันเกิดมรรคผล ไม่ใช่แค่บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ ไม่ใช่แค่บอกว่ามีโครงการนี่นั่นเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะคำนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ สมัยเกาะเฮยังงดงาม และตอนนี้มันตายไหม?
คำว่า “ยั่งยืน” ไม่สามารถชี้วัดด้วย KPI ใดๆ ยกเว้นกระโจนลงน้ำแล้วไปดูใต้ทะเลกัน ถ้าผู้บริหารหรือนักเขียนยุทธศาสตร์ท่านใดอยากเห็น ผมยินดีพาไปดูว่า ไอ้คำว่า “ยั่งยืน” ในแผน โลกแห่งความจริงมัน “ย่อยยับ” ขนาดไหน ท่านอย่าร้องไห้ให้ผมเห็นก็แล้วกัน
จึงใคร่ขอร้องอีกครั้ง ประเทศไทยไม่ได้จน เรามีเงินสนับสนุนอีเวนต์นี่นั่นไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยล้านบาท ทุกอย่างโผล่มาในเทศกาลแล้วก็หายไป แต่เงินแค่เศษเสี้ยวเพื่อดูแล “ต้นทุน” ทางธรรมชาติของเรากลับไม่มีหรือติดขัดโน่นนี่ ทั้งที่เรากำลัง “ขาดทุน” ป่าไม้และทะเลอยู่ทุกวันและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด
การขาดทุนครั้งนี้ไม่ใช่แค่เจ๊ง ไม่ใช่ล้มละลาย 3 ปีกลับมาได้ ไม่ใช่รอวัฏจักรทางเศรษฐกิจให้หวนคืน แต่เป็นขาดทุนชั่วชีวิต ขาดทุนชั่วลูกชั่วหลาน ผมไม่อยากเรียกมันว่าขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะมันเป็น “ตราบาป” ของคนรุ่นเรา
ปิดท้ายง่ายๆ คุณคิดว่าเราควรจะต้องได้เงินกี่บาทถึงคุ้มค่ากับการสร้าง “ตราบาป” ในความทรงจำของลูกหลานเราครับ