พัชรพงศ์ ตันธนสิน คนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว
พัชรพงศ์ ตันธนสิน หรือพีช วัย 29 ปี บุตรชายคนเล็กของ พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร
โดย...เจียรนัย อุตะมะ
พัชรพงศ์ ตันธนสิน หรือพีช วัย 29 ปี บุตรชายคนเล็กของ พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC)
เขาเป็นผู้บริหาร Chiang Mai Rice Life ศูนย์การเรียนรู้แบบครบวงจรเรื่องการทำนาแบบอุตสาหกรรมบนพื้นที่ของครอบครัวบ้านธนสินบริเวณ 100 ไร่ ที่บ้านมอญ ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีในการปลูกข้าว เริ่มต้นตั้งแต่ปรับที่นาบำรุงดินจนกระทั่งแพ็กออกมาเป็นข้าวถุงพร้อมขาย ภายใต้แบรนด์ Chiang Mai Rice Life โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังมี Chiang Mai Rice Life Cafe คาเฟ่เรือนไม้แบบไทยอยู่ในบริเวณศูนย์การเรียนรู้นี้เช่นกัน บริการเครื่องดื่มและเบเกอรี่สำหรับผู้มาเยือน
พีชจบมหาวิทยาลัยกริฟฟิท เมืองบริสเบน ออสเตรเลีย ด้านกราฟฟิกดีไซน์ ไปพักอาศัยอยู่กับน้าที่ทำกิจการร้านอาหารไทยที่นั่นชื่อ แชท ไทย ไทย ระหว่างเรียนได้ช่วยน้าทำร้านอาหารไปด้วยนานถึง 7 ปี เริ่มตั้งแต่ล้างจาน แผนกผัด แกง และทอด จนกระทั่งเลื่อนขั้นเป็นกุ๊กมือหนึ่งของร้าน และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้สอนทำอาหารให้กุ๊กรุ่นต่อไป จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจจากน้าให้ดูแลร้านแทนน้าที่กลับมาเมืองไทย จนกระทั่งคิดว่าจะซื้อร้านทำต่อ
เมื่อเรียนจบพ่อของเขา พูลพิพัฒน์ เสนอพีชว่า ที่นาที่มีอยู่เคยให้ชาวนาเช่าปีละ 2 หมื่นบาท จะทำเองไหม ถ้าทำเองอาจมีรายได้เพิ่มปีละกว่า 1 ล้านบาท เพราะทำนาแต่ละครั้งมีรายได้เข้ามา 6-7 แสนบาท ถ้าปีละ 2 ครั้งก็ประมาณปีละ 1.2-1.4 ล้านบาท
“ผมรับปากพ่อว่าจะทำ เพราะจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ เหมือนที่เคยเรียนรู้จากร้านอาหารที่ออสเตรเลียโดยเริ่มจากศูนย์”
จากนั้นพีชได้ตระเวนเรียนรู้เรื่องการทำนาจากปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ มูลนิธิขวัญข้าว ที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นการเรียนรู้วิธีทำนาอินทรีย์ และเรียนรู้หลักสูตรชาวนาเบื้องต้น จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่บางเขน
การทำนาที่นี่ใช้เทคโนโลยีในการทำทั้งหมด โดยใช้รถไถ รถดำนา และรถเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าว เครื่องอบข้าวและเครื่องแยกข้าว รวมถึงเครื่องแพ็กข้าว และออกแบบผลิตภัณฑ์เองทั้งหมด การเพาะกล้าได้เพาะในถาดเพาะกล้ารอจนต้นแข็งแรงแล้วจึงนำไปดำในแปลงนา โดยมีคนจากศูนย์เพาะข้าวมาช่วยดู
“ผมขับรถไถเอง ดำเอง ยกเว้นการเกี่ยวข้าวที่จะระคายผิวมาก ต้องจ้างคนขับรถเกี่ยวข้าว อย่างไถนา 15 ไร่ ที่เริ่มทำปีก่อน ใช้เวลาแค่วันเดียวเท่านั้น การทำนาแต่ละครั้ง เราใช้เวลาดูแลเต็มที่แค่สิบวัน เวลาที่เหลือสามารถไปทำอย่างอื่นได้โดยส่วนใหญ่เวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 130 วัน การทำนาที่นี่ใช้คนงานประจำแค่ 1 คน”
เมื่อปี 2558 พีชได้ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 2 ครั้งบนพื้นที่ 15 ไร่ โดยนำพันธุ์มาจากกรมวิชาการเกษตรโดยมีลุงชาญกับลุงวี ชาวนาผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกข้าวเป็นพี่เลี้ยง ตั้งแต่ดูว่าข้าวตั้งท้องอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเคยเรียนแต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ
“การเพาะข้าวเริ่มจากเอาข้าวไปแช่น้ำ 1 คืน บ่ม 2 คืน หลังจากนั้นนำข้าวใส่ถาด แกลบเผาใส่ข้างบนข้าว รดน้ำ เพาะในแปลงถาด แช่น้ำไว้ 15 วัน ไม่เกิน 30 วัน”
การปลูกข้าวอินทรีย์โดยใช้จุลินทรีย์หมักเองเป็นปุ๋ย จะได้ปริมาณข้าวน้อยกว่าปลูกโดยใช้สารเคมี 20-30% แต่ราคาขายข้าวจะสูงกว่า โดยข้าวที่ปลูกโดยสารเคมีกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ปลูกข้าวอินทรีย์ถ้าเป็นข้าวกล้องหอมมะลิกิโลกรัมละ 90 บาท ข้าวไรซ์เบอร์รี่กิโลกรัมละ 100 บาท
สำหรับผลผลิตที่พีชทำได้บนที่นา 15 ไร่ ครั้งล่าสุดที่ปลูกเมื่อเดือน ต.ค. 2558 จำนวน 120 กิโลกรัม ได้ผลผลิต 6,000 กิโลกรัมข้าวเปลือก
ข้าวกล้องและข้าวไรซ์เบอร์รี่แบรนด์ Chiang Mai Rice Life วางขายในร้านกาแฟในบริเวณบ้านธนสินที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและร้าน Good Health ที่ถนนพัฒนาการ 53 กรุงเทพฯ
ปัญหาของการปลูกข้าวนั้น พีชกล่าวว่า มีปัญหาเรื่องน้ำและเรื่องนก อย่างปี 2559 รัฐบาลขอร้องไม่ให้ปลูกข้าวเพราะภัยแล้ง ทางแก้ไข อาจเจาะน้ำบาดาลหมุนน้ำในบ้านไปใช้หรืออาจปลูกปอเทืองเพื่อประหยัดน้ำและเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ส่วนปัญหาเรื่องนกมาจิกกินข้าวในนา ก็ต้องกระจายความเสี่ยงโดยการทำนาพร้อมกับชาวบ้าน
เขากล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลไม่ควรให้เงิน เช่น การประกันราคาข้าวหรือรับจำนำข้าว แต่ควรให้เครื่องมือทำนากับเขา ให้ความคิดเขา ให้ไปเลยงบประมาณในการซื้อเทคโนโลยีประจำตำบล ทั้งรถไถ รถดำ และรถเกี่ยวข้าว รวมถึงโรงสี โรงอบและเครื่องแพ็ก ฝึกฝนชาวนาให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต
สำหรับร้านกาแฟสดและเบเกอรี่ในบริเวณบ้านชื่อเดียวกับแบรนด์ข้าวคือ Chiang Mai Rice Life คนที่เข้ามาดื่มกาแฟที่นี่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเพราะที่นี่อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่เพียงแค่13 กม. ที่นักท่องเที่ยวนอกจากมานั่งดื่มกาแฟแล้วยังชื่นชมธรรมชาติที่นี่ได้
ขณะนี้พีชกำลังใช้เวลาในการปรับพื้นที่ที่เคยให้ชาวนาเช่า ที่ยังมีสารเคมีตกค้างให้เป็นนาและไร่อินทรีย์โดยปลูกข้าวผสมผสานกับพืชเกษตรอื่นด้วย เช่น สตรอเบอร์รี่และอินทผลัม
บริเวณบ้านธนสินจำนวน 100 ไร่แห่งนี้ เดิมปี 2530 พูลพิพัฒน์ พ่อของพีช มีที่อยู่บริเวณนี้เพียงกว่า 10 ไร่ โดยซื้อมาจากชาวบ้าน ด้วยพื้นเพเป็นคน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อยู่บริเวณตลาดวโรรส โดยพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นนาข้าว แต่มีปัญหาชาวนาทะเลาะกันเพราะเป็นที่ตาบอดไม่มีทางออก จึงมาถามขายให้ จึงต้องซื้อไว้ทั้งหมด เมื่อซื้อราคาที่นาแถวนั้นก็ขึ้น โครงการบ้านจัดสรรมาซื้อแข่ง เมื่อซื้อได้แล้วรวมเป็น 100 ไร่ ได้ให้ชาวนาเช่าทำนาต่อ 30 ไร่ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรับประกันราคาข้าวและจำนำข้าว ชาวบ้านรีบเกี่ยวข้าวทั้งที่ข้าวยังไม่สุกเพื่อให้ทันขายราคาที่รัฐบาลกำหนดเกวียนละ 7,000-8,000 บาท ทั้งที่มีต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ารถ ชาวนาพอใจบอกได้ปีละ 2 แสนบาท ค่าเช่านาปีละ 5 หมื่นบาท ค่ากินค่าอยู่ไม่เสีย บ้านธนสินจ่าย
ทั้งนี้ หากชาวนาออกไปอยู่เอง คงหาเลี้ยงชีพไม่รอด รัฐบาลไม่ได้ให้เครื่องมือและวิธีคิด พูลพิพัฒน์จึงคิดว่าจะทำนาเอง ประจวบเหมาะกับพีชกลับมาจากออสเตรเลีย พูลพิพัฒน์จึงเสนอให้ลูกชายคนเล็กมาเริ่มต้นทำ เพื่อจะให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการทำนาสมัยใหม่ ส่งไปเรียนกับปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำนาทั้งที่สุพรรณบุรี เชียงใหม่ อีสาน และไต้หวัน โดยทำนาอุตสาหกรรมใช้คนน้อยและปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
ปัจจุบันมีการไถเกลี่ยพื้นที่ไว้ 80 ไร่ เพื่อใช้ทำนาต้องพลิกหน้าดิน มีการขุดคูน้ำล้อมรอบเพื่อจะสามารถทำนาได้ตลอดปี และเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2558 จำนวน 15 ไร่ มีคนเข้ามาดูงานประจำ โดย โอฬาร ไชยประวัติ เคยพานักศึกษามาดูงานที่นี่
นอกจากนั้น ยังมีร้านกาแฟและเบเกอรี่ Chiang Mai Rice Life ที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือน ม.ค. 2558 ด้วย