posttoday

ศิลปินใต้ ในอ้อมกอด ของค่ายยักษ์

21 พฤษภาคม 2559

เจรจาตกลงเป็นไปตามความเข้าใจและความต้องการของทั้งสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว ระหว่างจีเอ็มเอ็ม มิวสิค

โดย...นกขุนทอง

เจรจาตกลงเป็นไปตามความเข้าใจและความต้องการของทั้งสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว ระหว่างจีเอ็มเอ็ม มิวสิค กับศิลปินภาคใต้ที่มีทั้งในนามศิลปินเดี่ยว ศิลปินกลุ่ม มีสังกัดและไม่มีสังกัด และในนามค่ายเพลงใต้ ที่ให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ช่วยดูแลลิขสิทธิ์เพลงและร่วมมือสร้างสรรค์งานเพลงในอนาคต ซึ่งนับเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในวงการเพลง

ตอนนี้ศิลปินจะหวังรายได้จากการขายซีดีอัลบั้มแทบจะเป็นศูนย์ ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยค่ายอินดี้จึงพอมีแต่งานจ้างซึ่งยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนการจัดเก็บลิขสิทธิ์ต่างๆ มีบ้าง แต่ยังไม่รัดกุม และไม่สามารถสร้างรายได้จากตรงนี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงแม้ว่าการจะจับไมค์ มีซิงเกิ้ลเพลงออกมาให้เป็นที่รู้จักในสมัยนี้มันง่าย หากแต่จะเอามาเลี้ยงชีพนั้นมันไม่ได้ และศิลปินใต้ยังเป็นที่รู้จักเฉพาะในแดนด้ามขวานของไทย ทว่าเมื่อมีแกรมมี่มาหนุนหลัง โอกาสที่เพลงและศิลปินจะเป็นที่รู้จักชื่นชอบของทั่วทุกภาคทั้งประเทศนั้นไม่ยาก

ศิลปินใต้ ในอ้อมกอด ของค่ายยักษ์ ศิลปินภาคใต้

 

ยุทธศาสตร์หนึ่งในวงการเพลง

สิ่งที่แกรมมี่จะเข้าไปสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งการทำอัลบั้มรวมฮิตในรูปแบบเอ็มพี 3 การดาวน์โหลด และการขายผ่านทางช่องทางดิจิทัล เช่น ยูทูบ  ไอทูนส์  จู๊ค เคเคบ็อกซ์ เป็นต้น การดูแลสิทธิในการเก็บค่าเผยแพร่ในรายการทีวี การดูแลสิทธิในการนำเพลงไปใช้ประกอบภาพยนตร์ ละคร และโฆษณา รวมถึงการนำผลงานเพลงออกสู่ตลาดโลก เพื่อนำพาผลงานเพลงของศิลปินใต้ไปสู่แฟนเพลงของพวกเขาในวงกว้าง รวมถึงการขยายตลาดไปสู่แฟนเพลงกลุ่มใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยศิลปินภาคใต้ที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการมอบหมายให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ช่วยดูแลลิขสิทธิ์เพลงและร่วมมือกันสร้างสรรค์งานเพลงในอนาคต มีประมาณ 30 ศิลปิน เช่น ตุด นาคอน เอ๋ สันติภาพ วงพัทลุง วงมอร์แกนวง L.ก.ฮ. ตาโอ๋ วงเซอร์ โอ พารา วงแบเบาะ วงสติ๊กเกอร์ บอยเพลย์ วงยกล้อ เบิ้ล ยุทธพล วงรถดั้ม นึก ชวาลา วงพาโล วงจำเป็น ธีเดช ทองอภิชาติ ก้อย กินรี ธิดาดิน กร ท่าแค เจเจฟู ปุ้ม ตะวันเคียง เป็นต้น

ตุด นาคอน (ศุภกร วงศ์เมฆ) ผู้คร่ำหวอดอยู่บนถนนสายดนตรีแนวเพลงสร้างสรรค์มากว่า 20 ปี กล่าวว่า “ผมมองเห็นโอกาสที่แกรมมี่เข้ามาสนับสนุนกลุ่มศิลปินภาคใต้ว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับศิลปินกลุ่มใหม่ๆ ที่เขาจะได้มีโอกาสมากขึ้น ซึ่งตลาดแนวเพลงสร้างสรรค์ในทุกวันนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะเป็นกลุ่มของปัญญาชน และกลุ่มคนฟังก็มีกำลังซื้อสูง เพียงแต่ว่ายังขาดการนำเสนอให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าแกรมมี่น่าจะใช้จุดแข็งในเรื่องของการโปรโมทศิลปินที่แกรมมี่มีอยู่แล้วเข้ามาเสริมให้กับศิลปินกลุ่มนี้ได้ ในขณะที่ตัวผมเองก็พยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานในแนวเพลงใหม่ๆ อยากทำเพลงเพื่อเปิดตลาดในกลุ่มวัยรุ่นบ้าง ผมมองไปถึงเรื่องการฟีเจอริ่งกับศิลปินแกรมมี่ เพลงบางเพลงผมทำเผื่อไปถึงพี่เบิร์ด–ธงไชย แมคอินไตย์ แล้วครับ ซึ่งในอนาคตอาจจะได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานเพลงร่วมกับศิลปินแกรมมี่ก็เป็นได้”

ศิลปินใต้ ในอ้อมกอด ของค่ายยักษ์ เอ๋ สันติภาพ

 

ส่วนโต้โผ กริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่ทำให้การดีลโครงการนี้สำเร็จ เปิดเผยรายละเอียดว่า “วันนี้แกรมมี่เติบโตจนเราคิดว่าเราน่าจะเป็นตัวแทนหรืออะไรสักอย่างของธุรกิจเพลงในเมืองไทยได้ เราเดินมาถึงวันนี้เราน่าจะสร้างประโยชน์ในนามของประเทศไทยมากกว่าในนามของแกรมมี่ วันนี้เราจะออกไปเออีซี เพราะโลกเชื่อมต่อกันด้วยออนไลน์ เราคิดว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะไปด้วยกัน ซึ่งถ้าโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จจะส่งผลให้คนที่มีอาชีพ ทำแล้วเกิดประโยชน์ มีรายได้ก็จะมีคนเก่งๆ เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ารายได้มันห่อเหี่ยวมันจะไม่เกิดงานอาชีพ คนก็เข้ามาทำเล่นๆ หรือเป็นแค่งานอดิเรกไป หน้าที่ของแกรมมี่ในโปรเจกต์นี้คือการเติมเต็ม และขยายผลในสิ่งที่เขามองไม่เห็น แล้วเราเติมให้เขาได้ อย่างการเก็บลิขสิทธิ์ คือการรวมแล้วเราเข้าไปช่วยดูแลให้ได้ อย่างที่บอก ถ้ารวมไม่ได้ก็มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บ การจับกุม ทำอย่างไรที่ทำให้คนรู้สึกได้ว่า คนใช้รู้ว่าเป็นประโยชน์กับคนใช้ เมื่อใช้แล้วได้เงิน ก็จ่ายเงินให้กับคนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มันเป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูลกัน

ส่วนเรื่องดิจิทัลโปรดักต์ หลายๆ แอพพลิเคชั่น เขาคุยเป็นรายคนไม่ไหว ก็ต้องมีการรวบของเข้าไป เช่น ไอทูนส์ จู๊ค เคเคบ็อกซ์หรือแม้แต่ยูทูบ ที่รายได้ไม่ได้มาจากค่าโฆษณาอย่างเดียว ลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ใครจะจัดการให้เขา หรือเพลงนี้ดังมาแล้วจะต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างไร มีกระบวนการหลายอย่างที่เราจะทำให้เขาได้ เช่น เรามีช่องแฟนทีวีก็จะทำให้เพลงของเขาถูกขยายผลไปยังกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเพลงแบบนี้ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือสิ่งที่เราเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่เขายังไม่มี วันนี้มันเป็นธุรกิจเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”

ศิลปินใต้ ในอ้อมกอด ของค่ายยักษ์ นึก ชวาลา

 

ในเบื้องต้นแกรมมี่เข้าไปผสานกำลังกับศิลปินภาคใต้ เพราะมองเห็นศักภาพความแข็งแรงของกลุ่มศิลปิน แต่อีกไม่นานจะขยายไปยังกลุ่มศิลปินภาคอื่นๆ ของไทยแน่นอน

“เราเห็นว่าเขามีความสามารถในการจัดกลุ่มคอมมูนิตี้ มีแฟนเพลง แฟนคลับค่อนข้างเหนียวแน่น มีคอนเนกชั่นที่ดีต่อกันก็เลยเข้าไปคุยกับกลุ่มศิลปินภาคใต้ก่อน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นไม่ดีนะ เพียงแต่ว่าเราต้องคุยไปทีละกลุ่มๆ เรามองว่าศิลปินกลุ่มนี้เขาประสบความสำเร็จ มีความแข็งแรงเพียงแต่องคาพยพไม่ครบ ซึ่งแกรมมี่มีองคาพยพพร้อมกว่าในการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลายๆ ช่องทาง ขณะที่โมเดลของเขายังไปไม่ถึงจุดนี้เขาทำเพลงเพื่อหารายได้ทางการแสดง หลายๆ ช่องทางรายได้ที่พึงมีพึงได้มันหายไป สิ่งที่เราเข้าไปทำคือไปเติมไปเสริมในสิ่งที่เขาไม่ได้ไปขยายในสิ่งที่เขาได้อยู่แล้วให้มากขึ้น เช่น การทำเอ็มพี 3 เราดูแลการจัดจำหน่ายให้เขา หรือแผ่นคาราโอเกะ ซึ่งเขาคิดไม่ถึง ก็เข้าไปเสนอว่าน่าจะทำเรื่องนี้ด้วย

ต่อจากนี้จะเริ่มเจรจากับกลุ่มศิลปินภาคอีสาน ตอนนี้ก็เริ่มเข้ามาแล้วนะ แต่เป็นรายคนเช่น เพลงหมอนใบเก่า ซึ่งเข้ามาอยู่ในช่องแกรมมี่โกลด์ ซึ่งเดิมของเขามียอดวิวประมาณสองสามพัน พอมาลงที่ช่องแกรมมี่โกลด์ ตอนนี้ยอดขึ้นไปล้านกว่าวิว นี่คือตัวอย่างของการเติบโต อีกช่องทางที่เรามอง คือจริงๆ ก็มีคนเดี่ยวๆ เยอะ ต่อไปก็จะขยายตัวไปยังกลุ่มศิลปินอิสระที่อยากสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าจะดูแลลิขสิทธิ์เพลงของตัวเองอย่างไร ซึ่งเราก็สามารถให้บริการกับคนกลุ่มนี้ได้ โดยที่เขาก็ยังเป็นเจ้าของผลงานของเขาอยู่ เราให้โอกาสขยายผลงานเพลงของเขา แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำให้เพลงเขาดังเราสัญญาไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เข้าไปยุ่งตั้งแต่ต้นน้ำเหมือนศิลปินของเรา ของเขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้นอย่างเน็ตไอดอลร้องเพลงคัฟเวอร์บนยูทูบ ถามว่าละเมิดลิขสิทธิ์ไหมละเมิด และเมื่อละเมิดก็ได้เงินเล็กๆ น้อยๆ  อย่างนั้นเรามาจับมือกันมาสร้างโปรดักต์ สร้างของที่จะเกิดเป็นรายได้ร่วมกันน่าจะดีกว่า”

ศิลปินใต้ ในอ้อมกอด ของค่ายยักษ์ โอ พารา

 

อิสระในการทำเพลงยังอยู่

โอ พารา (ทิวากร แก้วบุญส่ง) ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต เจ้าของผลงานเพลงดัง เช่น เฟสบุ๊คบุกสวนยาง ยางผลัดใบ ฯลฯ และเป็นผู้ก่อตั้งพาราฮัท มิวสิค ที่มีศิลปินทั้งวงและเดี่ยวอยู่ในสังกัด 50 คน กล่าวว่า เราทำเพลงออกมาเป็นซิ้งเกิล ปล่อยในยูทูบบ้าง ในเคเบิลทีวีบ้าง และรับงานแสดงทั่วไป เมื่อได้มาพูดคุยกับทางแกรมมี่ที่เปิดโอกาสให้เรารู้สึกเลยว่ามันเป็นโอกาสที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของการทำอัลบั้ม ที่ทางแกรมมี่นำเพลงของเรา (หลายศิลปิน) มารวมอยู่ในเอ็มพี 3 ในชุดรวมฮิตมิตรรักปักษ์ใต้ ซึ่งจะวางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ โดยที่เรามอบสิทธิให้นำไปใช้ ซึ่งลำพังเราทำเองคงไม่สามารถทำได้ขนาดนี้ ก็รู้สึกดีครับ โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่มีความชัดเจน มีมาตรฐาน ทำให้รู้สึกสบายใจ และมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นครับ”

วงพัทลุง ที่กำลังโด่งดังทั่วประเทศจากเพลงมหาลัยวัวชน ก็เป็นศิลปินภายใต้สังกัดพาราฮัท มิวสิค แต่ในการตกลงร่วมกับแกรมมี่ ศิลปินยังมีอิสระทำงานเพลงเช่นเดิม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ตัดสินใจเข้าโปรเจกต์นี้ และในการตกลงก็ดูเป็นซิงเกิ้ลๆ ไป ไม่มีข้อผูกมัดอะไร

“ในค่ายเราเองก็ไม่ได้มีการเซ็นสัญญา เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไม่อยู่ในระบบนายทุน เรารักอิสระ ดังนั้นการที่แกรมมี่เข้ามามีนโยบายหลายข้อให้เราเลือก และที่เราร่วมกับแกรมมี่ได้ เพราะเขายังให้อิสระอย่างเดิมที่เราทำกันอยู่ แต่เขามาเติมเต็มสิ่งที่เราทำไม่ได้อย่างยอดวิวในยูทูบที่เราลงเองมีคนดู 2-3 แสนแต่ลงผ่านแกรมมี่มีคนดูเป็นล้าน ก็ทำให้คนรู้จักเพลงของพวกเรามากขึ้น แต่บางซิงเกิ้ลของเราก็มีบริษัทอื่นที่เราดูแลอยู่แล้วดูแลต่อ แต่ซิงเกิ้ลในอนาคตก็จะเป็นแกรมมี่ช่วยในการโปรโมท”

ด้าน เอ๋ สันติภาพ (ไพศาล จันทรรัตน์) ศิลปินอิสระและรุ่นพี่ที่ศิลปินรุ่นน้องในแดนใต้ให้ความเคารพยกเป็นไอดอล แม้เขาจะไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีให้เกิดความร่วมมือกับแกรมมี่แต่การที่เขาเข้ามาเป็นศิลปินเบอร์แรกๆ ที่เซ็นสัญญาร่วมโครงการนี้ ก็เป็นตัวอย่างให้ศิลปินรุ่นหลังมั่นใจที่จะเดินเข้าสู่อีกกระบวนการ

ศิลปินใต้ ในอ้อมกอด ของค่ายยักษ์ วง L.ก.ฮ.

 

“ทุกวันนี้ผมทำงานเพลงเอง รับงานโชว์เอง ซึ่งรายได้หลักก็มาจากงานโชว์ตามสถานที่
ต่างๆ  แบบที่เรามีอิสระในอาชีพนักดนตรีตามแนวเพลงของเรา เมื่อวันหนึ่งทางแกรมมี่เชิญให้มาฟังเรื่องโอกาสการทำธุรกิจร่วมกัน พอฟังแล้วก็รู้สึกว่าเป็นข้อเสนอที่เปิดกว้างให้กับศิลปินอิสระอย่างเราได้มีช่องทางที่จะร่วมงานกัน เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้แกรมมี่เข้ามาดูแลในด้านใดบ้าง ซึ่งกรณีของผมก็ให้ดูแลในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่จะนำไปทำเอ็มพี 3 การดาวน์โหลด การลงในยูทูบ ไปจนถึงช่องทางของสื่อต่างๆ ที่ผมมองว่าแกรมมี่มีความแข็งแรงในจุดนี้ รวมทั้งเรื่องการตลาดด้วย หากเข้ามาเสริมกันได้ ก็ทำให้ผมและเพื่อนๆ นักดนตรีสามารถขยายฐานแฟนเพลงไปยังกลุ่มใหม่ๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่าศิลปินทุกคนรู้สึกดีครับ”

เอ๋ สันติภาพ มองว่า ตอนนี้ตลาดเพลงภาคใต้น่าจะมีอิทธิพลพอสมควร และการที่แกรมมี่เข้ามาสนับสนุนจะทำให้คนภาคอื่นๆ ได้ฟังงานเพลงของศิลปินภาคใต้มากขึ้น แต่ศิลปินที่ร่วมโครงการหลายคนไม่ได้ให้ทางแกรมมี่จัดเก็บลิขสิทธิ์คาราโอเกะ เพราะอยากให้เพลงได้เผยแพร่เข้าถึงคนจำนวนมาก และไม่มีการจัดเก็บลิขสิทธิ์ในผับ ร้านอาหารต่างๆ ที่นำเพลงไปเปิด ไปร้อง เพราะคิดว่านั่นคือช่องทางการโปรโมท ยิ่งผับไหนเอาไปร้องแสดงว่าเพลงดังคนชอบจำนวนมาก จะให้ดูแลในสื่อดาวน์โหลด

ซึ่งเหล่าศิลปินมีความเห็นพ้องตรงกันว่า“ไม่ได้ตั้งใจเอาเรื่องผลประโยชน์ตรงนี้ ถ้าจัดเก็บลิขสิทธิ์ทุกอย่าง จะยิ่งทำให้นักดนตรี ผู้ประกอบการแอนตี้เรา ในส่วนการเผยแพร่ทำให้เราเสียโอกาสไป”

การเข้าไปของแกรมมี่ครั้งนี้ ไม่ได้ควบรวมทุกอย่าง เพราะการตกลงยังเป็นศิลปินบางเบอร์ บางซิงเกิ้ล ซึ่งก็นั่นล่ะ ถ้าเพลงไม่เข้าตาเข้าทางก็ไม่ได้ทู่ซี้สนับสนุน ดังนั้นศิลปินก็ยังคงทำงานไปได้อย่างอิสระ แต่จะทำให้มีแรงกระตุ้นมากขึ้น เพราะถ้าอยากให้ผลงานเพลงของตัวเองขยายกลุ่มคนฟังออกจากขอบเขตภาคใต้ ก็ต้องทำเพลงให้ดี มีคุณภาพ ให้โดนใจกลุ่มตลาดคนฟังทั่วทุกภาค เพราะเมื่อเพลงดีบวกกับได้รับแรงสนับสนุนจากค่ายเพลงใหญ่ที่มีความพร้อมในการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง การที่เพลงภาคใต้จะเข้าไปฮิตในใจคนไทยทั่วทุกภาคก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต