ใครๆ ก็รัก การ์ตูน Peanuts
ในวันที่ 2 ต.ค. ปี 1950 การ์ตูน 4 ช่องชุด Peanuts โดย ชาร์ลส์ เอ็ม. ชูลซ์ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
โดย...ปณิฏา
ในวันที่ 2 ต.ค. ปี 1950 การ์ตูน 4 ช่องชุด Peanuts โดย ชาร์ลส์ เอ็ม. ชูลซ์ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับวันอาทิตย์ และกลายเป็นการ์ตูนช่องที่มีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด และทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์การ์ตูนช่องของอเมริกา โดยมีการตีพิมพ์ไปทั้งสิ้น 17,897 ชุด นับตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 1950 มาจนถึง 13 ก.พ. ปี 2000
ณ ช่วงเวลาที่ฮอตสุด การ์ตูนช่องชุด Peanuts ได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์พร้อมกันทีเดียว 2,600 ฉบับ กับจำนวนผู้อ่านราว 355 ล้านคน ใน 75 ประเทศทั่วโลก โดยได้รับการแปลไปกว่า 21 ภาษา
หลังประสบความสำเร็จจากการ์ตูนช่อง Peanuts ยังได้รับความนิยมอย่างสูงในเวอร์ชั่นการ์ตูนเคลื่อนไหวทางโทรทัศน์ ที่ออกอากาศทางช่องเอบีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลต่างๆ อย่าง A Charlie Brown Christmas, It’s the Great Pumpkin, Charlie Brown ซึ่งไม่เพียงกระชากเรตติ้ง แต่ยังคว้ารางวัล รวมถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเอมมีอวอร์ดส์อีกด้วย โดยในปี 2013 นิตยสาร TV Guide จัดอันดับให้รายการการ์ตูนPeanuts อยู่ที่ 4 ของการ์ตูนที่ดีที่สุดตลอดกาล และไม่แปลกที่จะมี Peanuts ในภาคภาพยนตร์และละครเพลง (Musical) หรือแม้แต่เกมคอมพิวเตอร์
การ์ตูน Peanuts เล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กประถม นำโดย ชาร์ลี บราวน์ เด็กน้อยที่ไร้ความมั่นใจในตัวเอง เขาทำอะไรไม่ดีสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นว่าว เบสบอล หรือฟุตบอล เขาแวดล้อมไปด้วยเพื่อนๆ ที่ขำๆ แล้วเป็นเด็กธรรมดาที่ไม่ได้ดีเด่นในเรื่องใดๆ เช่นเดียวกับตัวเขา ทั้งจากที่โรงเรียนและใกล้ๆ บ้าน รวมทั้ง น้องสาว ลูซี่ น้องชาย ไลนัส แล้วก็สุนัขบีเกิ้ลคู่ใจ นามว่า สนูปปี้
สำหรับชื่อ Peanuts นั้น มาจาก Peanut Gallery ซึ่งหมายถึงที่นั่งที่ถูกที่สุดในโรงหนัง การ์ตูนช่องง่ายๆ มีอารมณ์ย้อนยุค เหมือนเราได้นึกถึงวัยเด็กอันแสนไร้เดียงสา วันๆ ไม่ได้มีสาระอะไรในชีวิต เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ในกลุ่มก๊วนเดียวกัน ทุกคนย่อมมีคืนวันห่วยๆ เช่นเดียวกับชาร์ลี บราวน์ กันมาแล้วทั้งนั้น เรียกว่า ต่างมีอารมณ์ร่วมเมื่อได้อ่านการ์ตูนช่องเหล่านี้
ภาพการ์ตูนช่องกับคาแรกเตอร์หลักๆ ไม่กี่ตัว ที่เต็มไปด้วยเด็กๆ ไม่มีการปรากฏกายของผู้ใหญ่ ท่ามกลางท้องฟ้าที่สวยใส สนามเบสบอล บ้านสนูปปี้สีแดง เรียกว่าตลอด 50 ปีที่ตีพิมพ์ แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย และไม่ใช่การ์ตูนช่องสำหรับเด็กอ่าน หากแฝงปรัชญาที่ลึกซึ้งสำหรับคนที่โตๆ กันแล้วจึงจะเข้าใจเสียมากกว่า แม้จะไม่ได้มีถ้อยคำหยาบคายแบบ The Simpsons หรือ American Dad
การ์ตูนช่องของหนังสือพิมพ์ในยุคแรกๆ มักจะมีการสอดแทรกสถานการณ์บ้านเมือง หรือเรื่องราวที่อินกับยุคสมัยที่ดำเนินไปในขณะนั้น ทว่า Peanuts ของ ชาร์ลส์ เอ็ม. ชูลซ์ เป็นการเล่าเรื่องราวธรรมดาๆ เรื่องที่ไร้พิษภัยใดๆ โดยเขาพัฒนามาจากคอลัมน์ L’il Folks เรื่องราวใสๆ ที่ช่วยให้คนหนีห่างจากสถานการณ์เครียดๆ ของสงครามเกาหลี สงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต สงครามนิวเคลียร์ และอื่นๆ ที่เพิ่มความเครียด เช่นว่า การลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี หรือผู้นำสันติภาพ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ฯลฯ
คนส่วนใหญ่หลงรัก ชาร์ลี บราวน์ เพราะมองเห็นตัวเองอยู่ในคาแรกเตอร์นี้ หรือไม่ก็นำความโชคร้ายของคาแรกเตอร์มาเปรียบกับตัวเองแล้วก็ยังดีกว่า เด็กน้อยที่โชคชะตาไม่เคยเข้าข้าง ปราศจากความมั่นใจ เป็นตัวตลกให้เพื่อนได้ล้อเลียนสม่ำเสมอ
ในเรื่องของความรัก ชาร์ลี บราวน์ ยังอกหักรักคุด กับเด็กหญิงผมแดงในสเปกของเขาได้ตลอดทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าเขาจะวางแผนดีขนาดไหน ก็ไม่เคยได้สมหวังในรักสักครั้ง แถมยังต้องได้อับอายขายหน้าตลอดเวลา
สังคมในการ์ตูน Peanuts ยังเหมือนการจำลองสังคมของผู้ใหญ่ ที่มีการเอารัดเอาเปรียบ กดคนที่สามารถเอาเปรียบได้ ชาร์ลี บราวน์ เป็นเหมือนฮีโร่ในรูปแบบใหม่ ที่แม้ว่าจะโดนหนักทุกครั้งคราว แต่ก็รอดและลุกยืนขึ้นได้ และพร้อมจะต่อกรกับโชคร้ายครั้งต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเป็นในสนามเบสบอล ฟุตบอล หรือสนามรักกับสาวผมแดง และแม้แต่เจ้าสุนัขคู่ใจก็ยังเมินเขาตลอดเวลา ทว่าหมั่นไปสร้างจินตนาการส่วนตัวในความฝันบนหลังคาบ้านสนูปปี้สีแดง
Peanuts เหมือนเป็นยาสมานแผลใจ เรื่องราวที่โดนใจ เป็นวัฒนธรรมใหม่ของการกลับคืนสู่ความเรียบง่ายในชีวิตอเมริกันชน