posttoday

นานาผ้าน่าน

22 กรกฎาคม 2560

เส้นฝ้ายถักทอเป็นผ้าซิ่นจนมีหัว ตัว และตีน ส่วนหัวใจอยู่กับคนหลังกี่ที่ทุ่มเทให้ด้วยความหวงแหน

โดย...กาญจน์ อายุ

เส้นฝ้ายถักทอเป็นผ้าซิ่นจนมีหัว ตัว และตีน ส่วนหัวใจอยู่กับคนหลังกี่ที่ทุ่มเทให้ด้วยความหวงแหน ซึ่งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมจะถูกสืบทอดจากผ้าทอเหล่านี้ รวมถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่บ่งบอกตัวตน

อย่างในพื้นที่เมืองเก่าน่านประกอบด้วยกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง กลุ่มทอผ้าบ้านปงพัฒนา และกลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ โดยแต่ละกลุ่มล้วนมีอัตลักษณ์ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

ผ้าลายน้ำไหลหยดน้ำ โฮงเจ้าฟองคำ

กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำสร้างสรรค์ผ้า "ลายน้ำไหลหยดน้ำ" ลวดลายที่สะท้อนบุคลิกภาพของชาวน่านที่มีความเป็นศิลปินอยู่ในสายเลือด ซึ่งผู้ใดได้เป็นเจ้าของจะเสมือนได้ครอบครองศิลปะชิ้นเอกของศิลปิน

นานาผ้าน่าน สาคร แห่งโฮงเจ้าฟองคำสาธิตการเส้นฝ้าย

โฮง เป็นคำพื้นเมือง หมายถึงที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย โดยโฮงเจ้าฟองคำสร้างขึ้นประมาณ 200 ปีเศษ เดิมเป็นที่พักของเจ้าศรีตูมมา หลานเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 11 ของราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ ในอดีตโฮงตั้งอยู่ที่คุ้มแก้วที่พำนักเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ

แต่เมื่อรัฐบาลต้องการสถานที่บริเวณคุ้มแก้วเพื่อสร้างค่ายทหาร ทำให้เจ้าบุญยืน ธิดาคนสุดท้องของเจ้าศรีตูมมาและเจ้ามโน ได้ย้ายตัวโฮงมาสร้างในพื้นที่ปัจจุบันและได้ตกทอดสืบต่อมายังเจ้าฟองคำ ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ

นานาผ้าน่าน โฮงเจ้าฟองคำได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559

ปัจจุบันโฮงเจ้าฟองคำได้สืบต่อมาในรุ่นของ แม่ภัทราภรณ์ ปราบริปู ที่ตัดสินใจเปิดโฮงเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้านการทอผ้าและการปักผ้าหน้าหมอนแบบโบราณ โดยใต้ถุนเรือนมีกี่ทอผ้าและมีการสาธิตขั้นตอนการทอผ้าฝ้ายตั้งแต่จากเมล็ดจนเป็นผ้าซิ่น

ซึ่งลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ คือ ลายน้ำไหลหยดน้ำ จากแต่เดิมผ้าพื้นเมืองน่านจะมีแต่ลายน้ำไหล แต่กลุ่มทอผ้าแห่งนี้ได้เพิ่มลูกเล่นซึ่งมีความละเอียดและประณีตกว่าเข้าไปกลายเป็นลายหยดน้ำที่มีเพียงหนึ่งเดียว

นานาผ้าน่าน น้องไต้ฝุ่น คนรุ่นใหม่เมืองน่านสืบสานการปักผ้าหน้าหมอนที่โฮงเจ้าฟองคำ

โฮงเจ้าฟองคำมีลักษณะเป็นบ้านไม้สองหลังเชื่อมต่อกัน สร้างเรือนแบบขวางตะวันเพื่อรับแดดและกระแสลมจากทิศใต้ได้ตลอดวัน ส่วนต่างๆ ของโฮงประกอบด้วยห้องหน้าโฮง ที่เปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน เพราะเป็นห้องสำคัญที่นอกจากจะมีหิ้งพระ โกศ และภาพถ่ายของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ตัดสินคดีความสำคัญของครอบครัว

ด้วยความเชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าพูดปดต่อหน้าผีปู่ย่า ซึ่งแต่เดิมห้องนี้เคยเป็นห้องนั่งเล่นของเจ้าบ้านคือ เจ้าอินต๊ะ บิดาของเจ้าฟองคำ

ถัดจากประตูเข้าไปจะเป็นห้องนอนของเจ้าฟองคำและคุณพ่อถวิล คงกระจ่าง ผู้เป็นสามี โดยในช่วงบั้นปลายชีวิตเจ้าฟองคำได้ใช้ห้องนี้เป็นห้องนอนและรับประทานอาหาร ของที่ยังอยู่ในห้องจึงเป็นของเดิม ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เจ้าฟองคำยังคงมีชีวิตอยู่

นานาผ้าน่าน เครื่องใช้โบราณตกทอดมาถึงแม่ภัทราภรณ์ ปราบริปู บุตรสาวของเจ้าฟองคำ

ทั้งนี้ พื้นที่ห้องนอนของเรือนล้านนาจะแบ่งเป็น 6 ส่วน ส่วนหนึ่งใช้เป็นที่นอน อีกส่วนใช้เป็นที่เก็บของ และด้านหัวนอนใกล้เสามงคลจะมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษที่เรียกว่า หิ้งผีเฮือน ประกอบด้วย เชี่ยนหมาก ขันดอกธูปเทียน ตามความเชื่อที่ว่าผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษจะคอยปกปักคนในบ้าน

ดังนั้น ห้องนอนของล้านนาจึงถือเป็นพื้นที่ปิด หากคนที่ไม่ได้นับถือผีเดียวกัน หากย่างก้าวเข้ามาจะถือว่าผิดผี และต้องทำพิธีขอขมาบรรพบุรุษ

ส่วนอีกเรือนที่เชื่อมต่อกันจะประกอบด้วยห้องเครื่องเงิน โดยแต่เดิมห้องนี้เคยเป็นยุ้งข้าว ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาที่ต้องสร้างยุ้งข้าวในบริเวณเรือนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงฐานะทางเศรษฐกิจของเรือนนั้นๆ แล้ว ยังสะท้อนถึงสังคมเกษตรกรรมในสมัยก่อนด้วย

นานาผ้าน่าน ผ้าทอลายหยดน้ำ ลายเฉพาะของโฮงเจ้าฟองคำ

และภายหลังได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นห้องจัดแสดงเครื่องเงิน ของสะสมเก่าแก่ของตระกูลที่ตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน แสดงให้เห็นถึงงานฝีมือของช่างล้านนาโบราณ โดยมีทั้งของที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน และเพื่อประกวดประขันกันในงานเทศกาลต่างๆ

รวมถึงครัวไฟที่แยกออกมาจากตัวบ้านและตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องนอนเสมอ ภายในครัวไฟจะมีเตาไฟเป็นกระบะบรรจุถ่านและขี้เถ้าอัดแน่น วางหินสามก้อนไว้เป็นฐานสำหรับหุงต้ม เหนือเตามีหิ้งไม้ไผ่สานเพื่อเก็บเครื่องใช้ในครัวทั้งภาชนะและวัตถุดิบปรุงอาหาร ส่วนควันไฟจะช่วยรมภาชนะที่เพิ่งสานเสร็จใหม่ให้แห้งไว ไม่มีมอดหรือแมลงมาชอนไชได้ ซึ่งครัวไฟมีข้อห้ามหรือความเชื่อหลายเรื่อง เช่น ไม่ให้วางหม้อค้างไว้ที่เตา เพราะทำอะไรก็จะไม่เจริญ หรือห้ามหญิงสาวเก็บภาชนะซ้อนกัน เพราะจะเป็นลางว่าจะมีสามีหลายคน เป็นต้น

นานาผ้าน่าน กี่ทอผ้าใต้เรือนโฮงเจ้าฟองคำ

อย่างไรก็ตาม โฮงเจ้าฟองคำได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้มาตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งปัจจุบันที่นี่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ซึ่งหากใครไปถึงแล้วก็ไม่อยากให้เพียงเช็กอิน ถ่ายรูป และจากไป เพราะคุณค่าของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้เมื่อศึกษา ตั้งคำถาม พูดคุย หรือลงมือทำด้วยตัวเอง  

แน่นอนว่าทุกคำถามจะได้คำตอบจากแม่ภัทราภรณ์ หรือพี่ๆ น้องๆ ท่านอื่นที่โฮงเจ้าฟองคำ บุคคลผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเผยแพร่ประวัติศาสตร์ และอยากส่งต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่ผู้มาเยือน

นานาผ้าน่าน กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง

ผ้าลายบ่อสวก บ้านซาวหลวง

กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวงคิดค้น "ลายบ่อสวก" ลวดลายที่เชื่อกันว่าเมื่อสวมใส่จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง เพราะที่มาของลายผ้าได้มาจากลายปากไหโบราณอายุมากกว่า 750 ปีที่พบในบ่อสวก

ที่แห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้เห็นทุกกระบวนการของผ้าซิ่นตั้งแต่ต้นฝ้าย ปั่นฝ้าย ดีดฝ้าย อีดฝ้าย ปั่นฝ้าย ไปจนถึงทอผ้า โดยกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวงมีสมาชิกประมาณ 40 คน ซึ่งแต่ละคนยึดอาชีพทอผ้าเป็นงานคั่นเวลาหลังจากทำไร่ทำสวนเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ บ้านซาวหลวงยังมีกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนกับกิจกรรมทัวร์ชุมชน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น เรียนรู้การดำรงชีวิตของคนท้องถิ่น และลงมือทดลองทำเครื่องปั้นดินเผาตามวิถีของชุมชนบ่อสวกด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีเตาเผาโบราณทั้งที่ขุดค้นพบ และยังรอการขุดค้นจัดแสดงให้ได้ชม

นานาผ้าน่าน อาหารท้องถิ่นบนขันโตกจากฝีมือของแม่บ้านบ่อสวก

แหล่งเตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก อดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่สำคัญแห่งล้านนา ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเตาเผาโบราณอีกแห่ง และมีการจำลองวิถีชีวิตของชาวบ่อสวกในอดีต ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่ช่วยให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้

หมู่บ้านวิถีเศรษฐกิจพอเพียง บ้านเชียงยืนแห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงวิถีน่าน ซึ่งจะมีการสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์ การเพาะเห็ดภูฏานดำ การแปรรูปงานจักสาน และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

ลานหีบอ้อยโบราณ คนเมืองน่านใช้น้ำอ้อยทั้งในการปรุงอาหาร ใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน และใช้ประกอบอาหารในงานบุญต่างๆ ปัจจุบันยังคงมีการผลิตน้ำอ้อยตามสูตรของบรรพบุรุษ เพื่อเป็นการสืบสานกระบวนการผลิตดั้งเดิมและเลี้ยงชีพไปด้วย

นานาผ้าน่าน แม่บ้านกำลังทอผ้าหลังม่านเส้นฝ้าย

ศาลปู่ฮ่อ ปู่ฮ่อคือบรรพบุรุษที่สำคัญยิ่งต่อชาวบ้านบ่อสวก เพราะเป็นผู้ที่นำเตาเผาโบราณมาสร้างเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านค้นพบอัตลักษณ์ของชุมชน และ วัดม่วงเจริญราษฎร์ ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนากันที่วัดม่วงเจริญราษฎร์ ศูนย์รวมจิตใจของคนท้องถิ่น และจะมีการจัดประเพณีนมัสการพระธาตุฉิมพลีเป็นประจำทุกปี รวมถึงมีโฮมสเตย์ให้ใช้ชีวิตแบบบ้านๆ กินบ้านๆ อยู่บ้านๆ แต่มีความสุขมหาศาลกับชาวบ้าน

นอกจากนี้ ชุมชนใกล้เคียงอย่างบ้านปงพัฒนายังมีกลุ่มทอผ้าซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ "ลายดาวล้อมเดือน" ลวดลายที่มีความอ่อนหวานนุ่มนวล ใครได้สวมใส่จะเสริมบุคลิกภาพให้มีเสน่ห์ตรึงใจให้ผู้พบเห็น ประหนึ่งมีหมู่ดาวมาล้อมดวงเดือนผู้งดงาม

นานาผ้าน่าน วัดมหาโพธิ ศูนย์กลางของหมู่บ้านที่พบปะกันของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

ผ้าลายคำเคิบ บ้านมหาโพธิ

กลุ่มทอผ้ามหาโพธิได้สืบสาน "ลายคำเคิบ" ลวดลายโบราณที่จะเลือนหายไปหากไม่มีใครอนุรักษ์และต่อยอด โดยหนึ่งในกำลังสำคัญคือ แม่เพลินจิต พ่วงเจริญ อดีตหัวหน้าบ้านมหาโพธิ (อ่านว่า มหาโพด) ผู้เป็นเส้นใยสานสัมพันธ์ให้เหล่าแม่บ้านกลับมาทอผ้าด้วยกี่และรักษาลายผ้าประจำถิ่นไว้ และได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาไปสู่เด็กรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิง โดยมีการรวมตัวกันเป็นพลังเข้มแข็งอยู่ที่ศูนย์รวมจิตใจอย่างวัดมหาโพธิ

“เรารวมกลุ่มจากสองสามคนจนต้องไปกระทุ้งกระแทกให้เยาวชนมาทอ” แม่เพลินจิต กล่าว “เพราะบ้านเราต้องมีอัตลักษณ์ เชื่อสิว่าถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่มีใครเห็นคุณค่า แต่ต่อไปผ้าทอจะมีคุณค่ามหาศาล เพราะมันเป็นภูมิปัญญา เป็นชีวิต และเป็นตัวตนของชาวมหาโพธิ ถ้าเราลืมรากเหง้าของตัวเองแล้ว ลูกหลานเราจะเติบโตไปยังไง”

นานาผ้าน่าน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเก็บภายในห้องนอนของโฮมเจ้าฟองคำ

แม่พูดมาประโยคหนึ่งว่า “ซิ่นน่านไม่สิ้นน่าน” หมายความว่า ถ้าชาวน่านยังรักษาผ้าซิ่นไว้ จิตวิญญาณของน่านก็จะไม่สูญสิ้นไปอย่างแน่นอน ซึ่งเห็นทีจะเป็นจริงเช่นนั้น แม่เพลินจิตจึงเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอในรั้ววัดมหาโพธิ เปิดสอนทอผ้าแก่ใครก็ได้ที่สนใจเรียน เพื่อหวังต่อลมหายใจซิ่นคำเคิบ ซิ่นม่าน ซิ่นป้อง ให้อยู่คู่ชุมชนเหมือนที่เคยเป็นมา

อย่างไรก็ตาม ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีโครงการสนับสนุนกลุ่มทอผ้าและภาคธุรกิจดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองน่าน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง กลุ่มทอผ้าบ้านปงพัฒนา และกลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ เพื่อขยายตลาดผ้าทอเมืองน่านและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เนื่องจากการทอผ้าผืนด้วยวิธีการแบบเดิมๆ มีตลาดแคบ บางช่วงขายผ้าได้ช้า ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ อพท.จึงชวนนักวิชาการและนักธุรกิจเข้ามาช่วยคิดและหาทางออกร่วมกับชุมชน

นานาผ้าน่าน ผ้าทอลายบ่อสวก เอกลักษณ์ของบ้านซาวหลวง

ทางออกดังกล่าวคือการนำเสนอทางเลือกที่จะปรับเปลี่ยนกลุ่มทอผ้าหรือรัฐวิสาหกิจชุมชนให้เป็น “กิจการเพื่อสังคม” ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างช่องทางการตลาด โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาอบรมพัฒนาความรู้ความเข้าใจ สร้างแรงบันดาลใจ และให้คำแนะนำด้านการใช้สีและการออกแบบลวดลายผ้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ สนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ และปรับปรุงสถานที่ขายผ้าบริเวณโรงทอ

ทั้งนี้ ทั้งสามชุมชนล้วนมีพื้นฐานเดิมของการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาภายในชุมชนของตนหรือแบ่งปันให้กับสังคมอยู่แล้ว เช่น การนำกำไรบางส่วนของกลุ่มทอผ้ามาเป็นสวัสดิการ หรือช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สอดคล้อง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นกิจการเพื่อสังคม

ปัจจุบัน อพท.เป็นตัวกลางประสานงานให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดให้กลุ่มทอผ้าเมืองน่านแล้ว แต่ท้ายที่สุดกลุ่มทอผ้าจะกลายเป็นกิจการเพื่อสังคมหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร นอกจากความเห็นพ้องของสมาชิกกลุ่มว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่เท่านั้นเอง