ค้นหายีนกลายพันธุ์ โลกใหม่แห่งการรักษา
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ถูกกำหนดด้วยยีน ว่าจะให้มีสีผิว รูปร่าง หน้าตา ส่วนสูง ลักษณะเส้นผม เป็นเช่นไร
เรื่อง:โยธิน อยู่จงดี
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ถูกกำหนดด้วยยีน ว่าจะให้มีสีผิว รูปร่าง หน้าตา ส่วนสูง ลักษณะเส้นผม เป็นเช่นไร และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ค้นพบว่าไม่เพียงแต่ยีนจะกำหนดลักษณะของเรา แต่ยังกำหนดโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้อีกด้วย โดยเฉพาะการค้นหายีนกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการผิดปกติในร่างกายและโรคหายากที่ยังรอวิธีรักษา โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหายากราว 5 ล้านคน การเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีน
ยีนกับการรักษาโรคหายาก
ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมศึกษาโรคที่หายากแต่พบได้ในประชากรไทย กลุ่มโรคหายากส่วนใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรม ซึ่งอาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หรืออาจเกิดได้จากสิ่งแวดล้อมก็ได้ บางครั้งยีนแฝงก็แสดงอาการของโรคตั้งแต่เด็ก แต่ก็มียีนแฝงอีกหลายโรคที่แสดงอาการตอนอายุมากขึ้น
"ยีนที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนไม่เพียงแต่กำหนดลักษณะที่เราเห็นทางภายนอกเท่านั้น ที่จริงแล้วยีนยังเป็นตัวกำหนดความเสี่ยง ต่อการเป็นหรือไม่เป็นโรคต่างๆ ของคนเราอีกด้วย เพราะคนเรามีลักษณะทางกายภาพและความสามารถทางด้านร่างกายที่แตกต่างกันออกไป ในการรักษาเราจะตอบสนองต่อการรักษาแบบไหน ก็กำหนดโดยปัจจัยภายในของเราโดยยีนด้วยเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมีการพูดถึงในวงการแพทย์โดยทั่วไปมากนัก ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นหมอเด็ก ผมจะให้ยาตัวหนึ่งกับเด็ก ผมก็สนใจแต่ปัจจัยทางอื่นที่ไม่ใช่ตัวเด็ก เช่น เชื้อโรค เชื้อไวรัส ที่มีผลต่อเด็ก ดูว่าเป็นเชื้ออะไรและต้องใช้ยาตัวไหนในการรักษา เมื่อทราบแล้วก็ดูที่น้ำหนักของเด็ก น้ำหนักมากให้ยามาก น้ำหนักน้อยให้ยาน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วในทางการแพทย์อย่างที่รู้กันดีเด็ก 2 คนน้ำหนักเท่ากัน อายุเท่ากัน ได้รับยาตัวเดียวกันจะตอบสนองยาไม่เท่ากัน คนนึงอาจดูดซึมได้น้อยกว่าอีกคน หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาไม่เท่ากัน นั่นก็เป็นเพราะว่ายีนของเด็กทั้งสองคนนั้นมีความแตกต่างกัน
ถ้าเรารู้ลักษณะของยีนในเด็กเราก็จะสามารถแยกได้ว่าเด็กคนไหนแพ้ยาอะไร ต้องใช้ยาตัวไหนในปริมาณที่เหมาะสมเท่าไหร่ กับโรคหายากก็เช่นกันถ้าเราตรวจเลือดหายีนของคนไข้ เราก็จะพบสาเหตุของโรคที่แท้จริงว่าเกิดจากความผิดปกติหรือยีนกลายพันธุ์ที่ยีนตัวไหน ก็จะช่วยหาหนทางรักษาได้ตรงจุดมากขึ้นนั่นเอง"
ยีนกลายพันธุ์เพราะอะไร
"โดยปกติแล้วยีนในร่างกายของคนเรามีทั้งหมด 22,000 ยีน เทคโนโลยีตอนนี้เราสามารถจำแนกออกมาได้หมดแล้ว ทุกยีนล้วนมีชื่อเฉพาะทั้งหมด รู้หน้าที่ของยีนแต่ละตัวว่าทำหน้าที่อะไรอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเรายังไม่รู้ว่าทำหน้าที่อะไรแต่ในอนาคตเราจะรู้แน่นอนว่ายีนแต่ละตัวทำหน้าที่อะไรบ้าง
แต่คราวนี้ยีนกลายพันธุ์เกิดจากอะไร เราต้องทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับยีนและการกลายพันธุ์ก่อน โดยปกติแล้วเซลล์ของคนเราจะมีการตายและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา ร่างกายเราจะสร้างเซลล์ที่มียีนและหน้าตาเหมือนเดิมเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ธรรมชาติก็ถือว่าเก่งมากในการก๊อบปี้เซลล์ให้มีหน้าตาเหมือนกันเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เซลล์ลูกที่สร้างใหม่จะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว
อาจจะมีจุดที่แตกต่างกันอยู่ราวๆ 1-3 จุด เป็นเรื่องปกติที่จะมีความแตกต่างกันบ้างและไม่ได้ไปอยู่ในจุดที่ทำให้ระบบการทำงานผิดเพี้ยนไป เราจะเรียกตรงนี้ว่าเซลล์ที่มีความแตกต่างกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ความแตกต่างนั้นมีจำนวนมากเกินค่าทางสถิติที่จะยอมรับได้เราจะเรียกว่าเป็นการกลายพันธุ์ เป็นตัวการทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์แล้วไม่ยอมตายมีการขยายตัวสร้างเซลล์ใหม่อยู่ตลอดเวลาก็คือเซลล์มะเร็งนั่นเอง แนวทางในการรักษาเดิมคือการใช้เคมีบำบัด เป็นเหมือนเอาระเบิดไปลงทำลายเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่ดีในร่างกายโดยตั้งความหวังว่า เซลล์มะเร็งจะตายหมดก่อน
แต่การรักษาด้วยการหายีนในเซลล์ที่กลายพันธุ์ จะช่วยให้แพทย์สามารถระบุความแตกต่างระหว่างเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติในร่างกายเราได้อย่างชัดเจนและหายาเข้ามาจัดการกับเซลล์ที่มียีนกลายพันธุ์ได้โดยไม่ทำลายเซลล์ที่ดีตัวอื่นๆ เพราะความแตกต่างของเซลล์มะเร็งกับเซลล์ปกติ แยกได้ยากมาก มีจุดแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเพราะพื้นฐานเซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ในร่างกายของเราที่กลายพันธุ์ออกไปนั่นเอง
อีกสาเหตุหนึ่งของการกลายพันธุ์ของเซลล์อาจเกิดได้จากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ยาและสารเคมี เช่น คุณแม่ที่กินยาทำแท้ง ทำให้เด็กที่ออกมามีอาการหรือลักษณะที่ผิดปกติไป เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการรักษามีการจับคู่ยีนและยาได้อยู่เพียง 100 กว่าคู่เท่านั้น ที่เหลือเป็นการค้นพบยีนที่มีการกลายพันธุ์ แต่ยังหาคู่ยาที่ไปจัดการรักษาไม่ได้ แต่ในอนาคตเชื่อว่าการจับคู่ยาจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ" ศ.นพ.วรศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติม
พัฒนาฐานข้อมูลยีนในโรคหายาก
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. เสริมว่า องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเรื่องยีนในโรคหายากนี้ ในการศึกษาเริ่มต้นที่การสืบเสาะ ผู้ป่วยด้วยโรคหายากจากทั่วประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยในโรงพยาบาล 33 แห่งทั่วทุกภูมิภาค หลังจากผู้ป่วยเซ็นยินยอมอนุญาตให้นำผลการรักษาไปใช้ทางการแพทย์ได้
ผู้วิจัยก็จะเก็บประวัติการตรวจร่างกาย ลักษณะทางรังสีวิทยา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป และลักษณะทางคลินิกอื่นๆ โดยละเอียด จากนั้นจึงเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย ส่วนของผิวหนัง หรือชิ้นกระดูก เพื่อนำมาสกัดสารพันธุกรรมหรือนำมาเพาะเลี้ยงเป็นเซลล์ แล้วจึงนำสารพันธุกรรมที่ได้ไปวิเคราะห์หาการกลายพันธุ์
เมื่อได้ผลการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของโรคแล้ว จึงนำมาศึกษาต่อ เพื่อหาการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของโปรตีนที่ทำให้เกิดเชื้อที่ก่อโรค แล้วนำไปเปรียบเทียบกับคนปกติ และสมาชิกคนอื่นในครอบครัวเพื่อยืนยันต้นทางของโรคอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วยทำให้การตรวจรักษาคนไข้ ได้รับคำตอบที่ชัดเจนถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์ ต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว ว่ายีนที่อาจก่อให้เกิดโรคหายากนี้มาจากไหนและมีใครในครอบครัวที่อาจจะได้รับยีนนี้ผ่านทางพันธุกรรมบ้าง
ตอนนี้นักวิจัยไทยได้ค้นพบโรคกระดูกเปราะจากยีนที่ก่อโรค และพบพยาธิกลไกของโรค ทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ เข้าใจกระบวนการในการสร้างกระดูกของคนปกติได้ชัดเจนขึ้นด้วย ค้นพบยีนก่อโรค เช่น โรคที่เกิดจากยีน และยีนที่เสี่ยง ต่อการเกิดผลข้างเคียงของยาหลายชนิด เช่น ยา 6MP ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น และปัจจุบันทางกลุ่มวิจัยโครงการยีนก่อโรคในมนุษย์ เปิดให้บริการทางห้องปฏิบัติการขึ้น โดยตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขึ้นมา
การตรวจยีน การรักษาในอนาคต
ศ.นพ.วรศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า การรักษาด้วยการตรวจหายีน ไม่ได้ช่วยเฉพาะการวินิจฉัยโรคหายาก แต่ยังช่วย ให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และยังช่วยทำให้ตัวเรารู้จักตัวเองมากขึ้น ตรวจครั้งเดียวรู้จักตัวเองทั้งหมดว่า จะต้องใช้ชีวิตดูแลตัวเองอย่างไร มีโอกาสเสี่ยงต่อ การเป็นโรคอะไร เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมามีความเสี่ยงจะแพ้ยาตัวไหน ต้องให้ยาอะไรในปริมาณเท่าไร สามารถอ่านข้อมูลที่ได้จากการตรวจยีน ซึ่งเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอด
อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยการตรวจยีนยังไม่ได้ผลกับคนทุกคนและโรคทุกโรค แม้จะมีตัวอย่างการรักษาได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่อาจจะมีเฉพาะบางคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาได้ เพราะว่ายีนแต่ละคนมีความแตกต่างทางด้านโครงสร้างทางพันธุกรรม ทำให้แนวทางการรักษาอาจจะได้ผลดีกับคนหนึ่ง แต่ไม่ได้ ผลดีอีกคน แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปมีการศึกษาค้นคว้ามากขึ้น แพทย์สามารถพัฒนายาที่ตรงกับความต้องการของยีนในแต่ละแบบ แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้นยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่านักวิจัยในแต่ละโรคนั้นจะสามารถพัฒนาตัวยาที่เหมาะสมกับยีนแต่ละแบบมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง n