‘MONGKUT’ นิทรรศการศิลปะ สะท้อนความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส
ในช่วงเวลาที่โลกตะวันตกขยายอาณานิคมครอบครองพื้นที่จำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย พริบพันดาว
ในช่วงเวลาที่โลกตะวันตกขยายอาณานิคมครอบครองพื้นที่จำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 27 มิ.ย. 2404 มงกุฎจำลององค์ที่ 2 ถูกนำมาถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 โดยคณะราชทูตของสยาม ที่พระราชวังฟงแตนโบล
พามาชมนิทรรศการศิลปะ “MONGKUT” ของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่นำเสนอถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสยามในยุคอาณานิคมครองโลก ถือเป็นนิทรรศการที่คนไทยที่ชื่นชอบศิลปะในแนวสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์รอคอยมานาน
เพราะนิทรรศการชุดนี้เคยจัดแสดงมาแล้วหลายที่ในประเทศฝรั่งเศส นั่นคือที่ The Jeu de Paume แล้วมาแสดงที่ the Maison d’Art Bernard Anthonioz และที่ The CAPC muse d’art ตามลำดับในปี 2558 และในปี 2560 ที่ผ่านมา ถูกจัดแสดงที่หอศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยเมืองเกียวโต @KCUA ประเทศญี่ปุ่น
นิทรรศการที่ประกอบด้วยศิลปะจัดวาง วิดีโอ และประติมากรรม ซึ่งศิลปินได้จำลองเครื่องมงคลราชบรรณาการจากรัชกาลที่ 4 เพื่อเปิดเผยประวัติศาสตร์ที่น้อยคนรู้ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในความสัมพันธ์ของสยามและฝรั่งเศส เป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3
ในนิทรรศการนี้ไม่มีงานมากมายจัดแสดง แต่องค์ประกอบรวมทั้งหมดคืองานแนวคอนเซ็ปชวล อาร์ต ที่ขมวดรวมความคิดมาเล่าเรื่องในประวัติศาสตร์มานำเสนอ และให้ขบคิดตีความในแง่มุมทางศิลปะทั้งคนสร้างงานและผู้ชมงาน
งานที่จัดแสดงประกอบด้วย มงกุฎจำลองพระมหามงกุฎจำลองที่ส่งมอบให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทำโดย วรลักษณ์ ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา
ภาพวาดจำลองจากภาพวาดของ ฌอง-เลออง เฌโรม เป็นภาพจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และพระจักรพรรดินีเออเฌนี รับการเข้าเฝ้าจากราชทูตสยามเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2404
หนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ อิลลุสเทร่ ฉบับวันที่ 6 ก.ค. 2404 ลงพาดหัวข่าว “การต้อนรับอันทรงเกียรติของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ต่อคณะราชทูตสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.” ซึ่งมาจากภาพร่างของชาร์ลส อีครียาร์ท และลูอิส มูแลง ในปี 2404
การแสดงส่วนประกอบมงกุฎจำลอง ยางรัก เส้นด้ายและไหมทอง อัญมณีสังเคราะห์ และอื่นๆ ในตู้จัดแสดง ห้องดูวิดีโอ “มงกุฎ” ความยาว 28 นาที 48 วินาที (เสียงฝรั่งเศสและไทย) พิมพ์เขียวมงกุฎจำลอง
การชมนิทรรศการต้องค่อยๆ เดินชมอย่างช้าๆ เพื่อซึมซาบรสของวัสดุต่างๆ อ่านเรื่องราว ดูและฟังสารคดี แล้วมาขมวดรวมสรุปเรื่องราวในความคิดของตัวผู้ชม ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นที่เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน
ภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช ได้เขียนสรุปไว้ว่า ผลงานชุดนี้นำพาไปสืบเสาะข้อมูลที่กระจัดกระจายไว้อย่างมากมาย ทั้งข้อมูลภาคประวัติศาสตร์ที่พาเราย้อนอดีต และข้อมูลร่วมสมัยที่นำชุดความรู้ใหม่ที่กำลังถกเถียงและหลั่งไหลผ่าน
ผลงานการเดินทางของศิลปวัตถุจำลองชิ้นดังกล่าวนี้ อาจเปรียบดังการเดินทางของนักการทูตที่พาเราไปเจรจาต่อรองกับอดีตด้วยชุดความรู้ทางปัจจุบัน เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ของประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะ
อริญชย์ได้เล่นแร่แปรธาตุวัตถุจำลองร่วมสมัยที่มีความงดงามทางศิลปกรรมอันวิจิตรและสามารถยึดโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน ราวกับว่าวัตถุจำลองนี้เป็นศูนย์กลางจักรวาลที่กำลังเคลื่อนตัวแตกกระจายออกไปสู่ชุดความรู้ในมิติที่แปลกใหม่
กฤษฎา ชี้ว่า นิทรรศการศิลปะ “MONGKUT” ในงานของอริญชย์ คือวัตถุที่ข้ามพื้นที่และเวลามาเพื่อการทบทวนความเป็นไปในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ผ่านเรื่องราวของสภาวะแห่งความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนว่าด้วยเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาเอกราชของประเทศตนเอง การค้าและการคานงัดต่อรองกับประเทศอาณานิคมอื่นๆ โดยเฉพาะอังกฤษ หรืออาจเป็นเพียงแค่การถวายความเคารพต่อเจ้าอาณานิคม
สำหรับประสบการณ์ทำงานศิลปะของอริญชย์ เขาเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินร่วมสมัยแนวหน้าของเมืองไทย และเป็น 1 ใน 8 ศิลปินเอเชียที่น่าจับตามอง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และทำงานศิลปะทั้งในและนอกประเทศมาตลอด นิทรรศการศิลปะของเขาไปอวดสายตาชาวโลกมาแล้วในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี สิงคโปร์ กัมพูชา นิวซีแลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และกรีซ
นิทรรศการจัดแสดงที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) กรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 24 ก.พ. 2561 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-19.00 น. วันเสาร์ เวลา 09.00-16.00 น. (เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-221-3841