"BTS เสียบ่อย ใครควรทำอย่างไร?"
โดย...เฟซบุ๊ก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี - ปชป.
โดย...เฟซบุ๊ก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี - ปชป.
‘BTS เสียบ่อย ใครควรทำอย่างไร?’
.
รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สาย 1 หรือ สายสุขุมวิท หรือ สายสีเขียวอ่อน ตั้งแต่สถานีหมอชิต ถึงสถานีอ่อนนุช ปัจจุบันได้มีการเดินรถถึงสถานีสำโรง
และสายที่ 2 หรือ สายสนามกีฬา - สาทร หรือสายสีเขียว ปัจจุบันได้มีการเดินรถถึงสถานีบางหว้า ที่ถนนเพชรเกษม ที่เราเรียกกันว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รถไฟฟ้า
สองสายแรกของไทยที่เปิดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2542 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว
.
การเดินรถไฟฟ้า BTS ทั้งสองสายที่ผ่านมาในอดีตไม่ค่อยจะมีปัญหาสักเท่าไร จากสถิติปี 2010 เกิดปัญหา 5 ครั้ง, ปี 2011 เกิดปัญหา 9 ครั้ง, ปี 2012 เกิดปัญหา 3 ครั้ง, ปี 2013 เกิดปัญหา 2 ครั้ง, ปี 2014 เกิดปัญหา 5 ครั้ง, ปี 2015 เกิดปัญหา 2 ครั้ง แต่เพิ่งมาเกิดเหตุขัดข้องมากขึ้นในระยะหลังตั้งแต่ปี 2016 เกิดปัญหา 24 ครั้ง, ปี 2017 เกิดปัญหา 46 ครั้ง จนมาถึงปีนี้มีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ ทุกเดือน โดยเฉพาะช่วง 1-2 เดือนมานี้ และมักจะเกิดช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้าตั้งแต่ 07.00-09.00 น. และตอนเย็น 17.00-19.00 น. ถึงขนาดบีทีเอสต้องเปิดให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเข้างานสายหรือลากันกันเลยทีเดียว จนถึงขนาดลองให้ดีแทคปิดเสาสัญญาณไปบริเวณเส้นทางเดินรถไฟฟ้าแต่ยังมีปัญหาเช่นเดิม จึงเกิดเป็นคำถามว่า ใครควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้
.
ก็ต้องไขข้อข้องใจให้ทราบกันก่อนว่า ระบบรถไฟฟ้า BTS ส่วนสำคัญอยู่ที่ระบบอาณัติสัญญาณ ที่จะใช้บอกว่าแต่ละขบวนจะใช้เวลาเดินรถเท่าใด ระยะห่างเท่าไร รวมถึงการควบคุมความเร็วด้วย เป็นการสื่อสารในระบบไร้สาย โดยคลื่นความถี่ที่ BTS ใช้อยู่ในคลื่นความถี่ช่วง 2,400-2500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ประชาชนใช้กันอยู่โดยทั่วไปโดยไม่ต้องขออนุญาต เป็นที่รู้กันว่าเดี๋ยวนี้มีทั้ง อินเตอร์เนตไวไฟ บลูทูธ สัญญาณไมโครเวฟลิงก์ เพียบเลย
เดิมรถไฟฟ้า BTS มีการสื่อสารกันในย่านความถี่นี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง เมื่อคนใช้ช่องสัญญาณมากขึ้น จึงเป็นผลให้รถไฟฟ้า BTS มีปัญหามากขึ้นในระยะหลัง
.
ปกติรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่วโลก มักจะใช้คลื่นสัญญาณของตัวเองที่ไม่ได้ปะปนกับคลื่นสัญญาณที่คนทั่วไปใช้ แต่ปัญหาในลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน อย่างปี 2012 การรถไฟมหานครเสิ่นเจิ้นเขียนจดหมายถึงหน่วยงานกำกับคลื่นความถี่ของจีน เพื่อขออนุญาตบล็อกสัญญาณ 3G ในระบบรถไฟใต้ดิน หลังจากระบบรถไฟถูกรบกวนหลายครั้ง เพราะผู้ใช้จำนวนมากปล่อยคลื่น Wi-Fi ไปด้วย
.
สำหรับประเทศไทย รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) การบริหารจัดการแบ่งเป็นสองส่วนคือ
1.ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สาทร เป็นสัญญาสัมปทานโดยมอบให้บริษัทระบบขนส่งมวลชน จำกัด (มหาชน) (BTS) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถเป็นเวลา 30 ปี และ 2.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากอ่อนนุช - ถึงสถานีสำโรง และส่วนต่อขยายสายสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีบางหว้า
ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจที่ กทม.เป็นผู้ถือหุ้น 99.98 เปอร์เซ็นต์) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ซึ่งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ก็ได้
ว่าจ้าง BTS เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ เป็นเวลา 30 ปี
.
จะเห็นได้ว่าระบบรถไฟฟ้าทั้งสองส่วนมี BTS เป็นคู่สัญญาผู้รับผิดชอบต่อจากกรุงเทพมหานคร และพบว่าภายใต้เงื่อนไขสัญญาบริหารรถไฟฟ้าทั้งสองส่วน “BTS จะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการให้บริการ ความสะดวก ความปลอดภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ได้” รวมทั้งค่าปรับรายวันหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดด้วย ซึ่ง “กทม.จะต้องใช้มาตรการควบคุมดังกล่าวเพื่อกำกับดูแลให้ผู้รับจ้างปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด”...ขีดเส้นใต้ 500 ครั้ง “ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ได้”
.
แค่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ทราบกันอยู่แล้วว่าปัญหาเกิดขึ้นมากแค่ไหน จากที่ผมได้สาธยายไปตอนต้นแล้ว แม้ทาง กทม. จะขู่ไว้เมื่อปลายเดือนที่แล้วว่าจะปรับ BTS ประมาณ 1.8 ล้านบาท แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเสียค่าปรับกันกี่ครั้งแล้ว ซึ่งต้องให้ กทม. แถลงชี้แจงรายละเอียด ทั้งนี้ กสทช. หน่วยงานรัฐผู้จัดสรรคลื่นความถี่ก็ให้ข่าวว่าได้เตรียมคลื่นความถี่ช่วง 800-900 เมกะเฮิรตซ์ เอาไว้ให้แล้วด้วย
.
คำถาม เมื่อไร ใครเป็นเจ้าภาพ ใครจ่ายเงิน สรุป ใครควรจะทำอะไรกันในงานนี้ หากมีความจำเป็นต้องย้ายคลื่นความถี่ ผมจึงขอร่วมคิดว่าใครน่าจะทำอะไรกันบ้าง
.
1.กทม.จะต้องขอสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่ 800-900 เมกะเฮิรตซ์ ต่อ กสทช. ในฐานะหน่วยงานรัฐ และ กสทช. เอง ก็ต้องให้กทม.ใช้คลื่นฟรีในฐานะหน่วยงานรัฐด้วยเช่นกัน เหมือนกับการขอใช้คลื่นความถี่ฟรี เพื่อสื่อสารผ่านวิทยุกันภายในของกทม.
.
2.กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะต้องปรับ BTS ให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่แค่การขู่เท่านั้น เพราะว่าการปรับจะเป็นเครื่องต่อรองกับ BTS ในทันที
.
3.BTS อาจมีลูกเล่นได้คือ หากจำเป็นต้องย้ายคลื่นความถี่ เจ้าของกิจการคือ กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด อาจเป็นฝ่ายต้องจ่ายเงิน ไม่ใช่ BTS เป็นคนจ่าย แต่ทางออกแบบนี้คงเกิดได้ยากหน่อย คงอยู่ที่ กทม. จะให้คำตอบยังไง หากเอาตามนี้ กทม. ก็จะเสียประโยชน์ และกว่าจะได้แก้ปัญหาก็จะล่าช้าอีกเพราะต้องไปตั้งของบใหม่
.
เรื่องนี้ผมคิดว่า จะต้องใช้วิธีการทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ควบคู่กัน เรื่องค่าเสียหายก็ต้องปรับ การปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณก็ต้องทำ ปัญหาว่า “ทำอย่างไรประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด” งานนี้อยู่ที่ชั้นเชิงต่อรองที่ดี ต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณ หากทาง BTS จะให้กทม.ออกเงินย้ายคลื่นสัญญาณเองทั้งหมด กทม.คงต้องปรับค่าเสียหายกับ BTS อย่างเต็มที่เช่นกัน
.
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้ง กทม. กรุงเทพธนาคม BTS และกสทช. หากจะเล่นง่ายหวังจะให้ กทม. เป็นผู้จ่ายเงินเพียงฝ่ายเดียว การแก้ปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้นภายในเร็วๆ นี้แน่ เพราะมิได้เขียนไว้ในงบประมาณปี 2561 แต่ตอนนี้กทม.อยู่ในระหว่างพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2562 กันอยู่พอดี ก็ต้องรอชมวิธีการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าในคราวนี้ว่า กทม.จะเล่นง่ายยอมจ่ายเองและช้าด้วย หรือจะใช้ศาสตร์และศิลป์ของวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ต่อรองกับ BTS เพราะหากมองให้ลึกถึงสัญญาที่ทำไว้ก็กำหนดชัดเจนว่า “มาตรฐานการเดินรถ” เป็นสิ่งที่ BTS ต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธไม่ได้...อย่าลืม
.
การบริหารกรุงเทพมหานคร ต้องดูแลผู้อยู่อาศัยและแขกผู้มาเยือนกว่า 10 ล้านคน ปัญหาเกิดขึ้นได้ทุกวัน ผู้บริหารต้องกล้าตัดสินใจ แก้ปัญหา ด้วยความรวดเร็ว สุจริต เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ฝากบทความนี้ไว้พิจารณาด้วยครับ