posttoday

‘เพลงกล่อมลูก’ ถ่ายทอดสายสัมพันธ์จากแม่

09 สิงหาคม 2561

อนสาหล่า หลับตาแม่ซิก่อมบทเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นท่อนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง แท้จริงแล้วมันคือ “เพลงกล่อมลูก”

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

นอนสาหล่า หลับตาแม่ซิก่อมบทเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นท่อนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง แท้จริงแล้วมันคือ “เพลงกล่อมลูก” ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ขับกล่อมลูกหลานมาหลายชั่วอายุ แต่เพราะด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาทำให้เพลงกล่อมลูกเหลือเป็นเพียงเสียงจางๆ ในแถบชนบท และสูญสิ้นแล้วในสังคมเมือง

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านที่กำลังหายไป จึงได้จัดการประกวดเพลงกล่อมลูก 4 ภาคขึ้นเป็นประจำทุกปีเนื่องในวันแม่แห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และเพื่อเป็นการอนุรักษ์เพลงกล่อมลูกผ่านการประกวดของคนรุ่นใหม่

การประกวดเพลงกล่อมลูกแบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ เหนือ กลาง อีสาน และใต้โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และประเภทนักศึกษาระดับอุดมศึกษา การแข่งขันจะหาผู้ชนะเลิศ ประเภทและภาคละ 1 รางวัล และรองชนะเลิศ ประเภทและภาคละ1 รางวัล ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 31 มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 72 คน และผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 29 คน

วาทิตต์ ดุริยอังกูร นักวิชาการวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยไม่พบหลักฐานว่าเพลงกล่อมลูกเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากเป็นเพลงที่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน และมีอยู่ในทุกชุมชนซึ่งทุกพื้นที่มีเพลงกล่อมลูกแตกต่างกัน

‘เพลงกล่อมลูก’ ถ่ายทอดสายสัมพันธ์จากแม่

“ในสมัยก่อนเมื่อมีบุตร แม่ก็ต้องร้องเพลงกล่อมให้ลูกนอนหลับ โดยวิธีการกล่อมจะไม่มีแบบแผนตายตัว ไม่มีการกำหนดจังหวะหรือทำนอง ดังนั้นเพลงกล่อมลูกจึงหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ แต่สามารถกล่าวได้ว่าทุกพื้นที่เกิดขึ้นจากเหตุผลเดียวกัน คือ เพื่อกล่อมให้ลูกหลับ เพราะเสียงของแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย รู้สึกว่ามีแม่อยู่ใกล้ๆ จึงทำให้นอนหลับง่ายขึ้น”

ความที่เพลงกล่อมลูกมีความหลากหลาย ด้านสถาบันวิจัยภาษาฯ จึงต้องเลือกทำนองของแต่ละภาคขึ้นมาเป็นเกณฑ์การแข่งขัน ได้แก่ ภาคเหนือใช้ทำนอง “อื่อ” ภาคอีสานใช้ทำนอง “นอนสาหล่า” ภาคกลางใช้ทำนอง “กล่อมลูกภาษากลาง” และภาคใต้ใช้ทำนอง “ชาน้อง” โดยทำนองเหล่านี้ได้มีการศึกษาวิจัยแล้วว่ามีอยู่จริงในแต่ละภาค

สำหรับเนื้อร้องต้องใช้ที่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นเพลงกล่อมลูกพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภาษาถิ่นและทำนองถิ่น โดยเนื้อร้องจะพูดถึงสภาพแวดล้อมรอบตัว ธรรมชาติ คำสั่งสอนรวมถึงการขู่ให้กลัว และคำตัดพ้อต่อความทุกข์ยากของแม่

“เรื่องของวัฒนธรรมจะไปตัดสินผิดหรือถูกก็คงไม่ได้ เพราะทุกพื้นที่ก็มีความถูกต้องของตัวเอง แต่เนื่องจากเป็นเวทีการแข่งขันจึงต้องมีการเลือกทำนองเพื่อเป็นเกณฑ์ โดยเราได้เลือกทำนองที่ผ่านการทำวิจัยมาแล้วว่า เป็นทำนองที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่คุ้นเคย เช่น พอพูดถึงทำนองอื่อแล้วคนภาคเหนือส่วนใหญ่รู้จัก เพราะไม่เช่นนั้นเราคงตัดสินบนความหลากหลายไม่ได้”

‘เพลงกล่อมลูก’ ถ่ายทอดสายสัมพันธ์จากแม่ วาทิตต์ ดุริยอังกูร

นักวิชาการวัฒนธรรมยังกล่าวถึงลักษณะของเพลงกล่อมลูกว่า มีลักษณะไม่เหมือนเพลงลูกทุ่งที่ต้องร้องมีลูกคอ เพราะเป็นเพลงธรรมชาติที่แม่ร้องให้ลูกฟัง บางครั้งสามารถถอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมออกมาได้ทั้งประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชุมชน และการใช้ชีวิตในอดีต โดยในปีแรกๆ ที่มีการประกวด ผู้สมัครจะเป็นประชาชนทั่วไปอย่างคุณย่าคุณยาย (เวทีประกวดยกเลิกประเภทประชาชนทั่วไป และเปลี่ยนเป็นประเภทนักเรียนและนักศึกษาในปี 2556) สถาบันจึงได้มีการบันทึกเสียง อัดวิดีโอ และจดเนื้อร้องไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล โดยผู้ที่สนใจหรือนักเรียนนักศึกษาที่อยากสมัครเข้าประกวดในปีต่อไป สามารถเข้าไปฝึกฝนเพลงกล่อมลูกแบบดั้งเดิมของทั้ง 4 ภาคได้ทางเว็บไซต์ www.lullaby.lc.mahidol.ac.th

“ทุกวันนี้ เราพบว่าในชนบทยังมีคุณย่าคุณยายที่ใช้เพลงกล่อมลูก หรือเพลงกล่อมเด็กเลี้ยงหลานอยู่บ้าง แตกต่างจากการเลี้ยงลูกในเมืองยุคใหม่ที่ไม่พบว่ามีการใช้เพลงกล่อมลูกแล้ว มีบ้างที่ใช้เสียงกล่อมแต่จะไม่มีเนื้อร้องเหมือนคนสมัยก่อน ดังนั้นเพลงกล่อมลูกจึงหายไปกับกาลเวลาและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป”

การประกวดดังกล่าวจึงมีบทบาทในการอนุรักษ์เพลงกล่อมลูก 4 ภาคให้คงอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาโดยปราศจากเสียงเพลงกล่อมลูกให้ได้รู้จักและสืบทอด เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งนี้ยังมีความหมายและมีคุณค่าทางวัฒนธรรม

แม้ว่าเพลงกล่อมลูกแทบจะสูญหายแต่ทุกปีกลับยังมีนักเรียนนักศึกษาสมัครเข้าประกวด ทำให้เพลงกล่อมลูกยังคงมีชีวิตต่อ แต่เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของการอนุรักษ์ โดยในทัศนะของอาจารย์วาทิตต์ มองว่า การประกวดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นให้สถานศึกษาส่งนักเรียนนักศึกษาเข้ามาแข่งขัน โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาที่มีจำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นทุกปี

“จนถึงตอนนี้การศึกษาวิจัยเรื่องเพลงกล่อมลูกก็ยังเก็บไม่ครบทุกชุมชน แต่ปัจจุบันนักศึกษาปริญญาโทของสถาบันกำลังสนใจและดำเนินการเรื่อง การขับร้องเพลงกล่อมลูกในการประกวด ว่ามีตัวแปรอะไรที่ทำให้เพลงกล่อมลูกยังได้รับความสนใจ เพื่อที่จะได้เป็นคำตอบในการสนับสนุนทำให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงยังจะรวบรวมการขับร้องเพลงกล่อมลูกในรอบชิงชนะเลิศทำเป็นฐานข้อมูล ตอนนี้เราทำย้อนหลังไปถึงปี 2554 และจะทำเป็นซีดีและเอ็มพี 3 เพื่อเผยแพร่ต่อไป ซึ่งอาจนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ในการรื้อฟื้นเพลงกล่อมลูกให้กลับคืนมาสู่สังคมไทยในอนาคต”

‘เพลงกล่อมลูก’ ถ่ายทอดสายสัมพันธ์จากแม่ วันดี พลทองสถิต

คนรุ่นใหม่ที่เข้าประกวดส่วนใหญ่จะฝึกขับร้องจากผู้ใหญ่ในครอบครัวและจากอาจารย์ในสถานศึกษา แม้ว่าเพลงกล่อมลูกจะไม่ใช่วิชาหรือถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร แต่ก็มีการสอนในวิชาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของบางมหาวิทยาลัย

วันดี พลทองสถิต ปราชญ์ชาวบ้านแห่งต.ศิลา และอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ แขนงดนตรีพื้นเมือง เอกขับร้องเพลงพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยขอนแก่นผู้สอนการร้องเพลงกล่อมลูก เล่าว่า เธอเคยแข่งเวทีนี้เมื่อปี 2547 และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในประเภทประชาชนทั่วไปของภาคอีสาน หลังจากนั้นจึงถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเพลงกล่อมลูกในมหาวิทยาลัยและผลักดันให้นักศึกษาที่สนใจเข้าประกวดทุกปี

“เพลงกล่อมลูกมีทั้งคุณธรรมจริยธรรมอยู่ในนั้น การหาอยู่หากิน และทำให้รู้จักว่าอีสานมีอะไร อย่างฉันเองตอนลูกยังเล็กก็จะร้องกล่อมให้ลูกฟัง โดยจำมาจากแม่อีกทีว่าร้องยังไง มันซึมซับมาเรื่อยๆ ไม่ต้องมีใครสอน จนถึงวันที่กลายเป็นแม่ก็นำมาร้องต่อให้ลูกฟัง แต่ก็มีการแต่งเองบ้างบางคำบางช่วงผสมกับของดั้งเดิมไป”

เธอยังเชื่อว่า เพลงกล่อมลูกจะทำให้ลูกรู้บุญคุณพ่อแม่ และรู้ว่าวิถีชีวิตของชาวอีสานเป็นอย่างไร เช่น การทำไร่ทำนา เลี้ยงควาย หรือกระบวนการทอผ้าที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลง

“ทุกวันนี้ไม่มีบ้านไหนแล้วร้องเพลงกล่อมลูก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ต้องเชิดชูและดึงชง พัฒนาให้เป็นวิชาสอนนักศึกษาเลยก็ยิ่งดี เพราะในเมื่อชีวิตจริงไม่มีการร้องแล้ว ถ้าในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่มีการเรียนการสอนอีกก็คงไม่หลงเหลือเพลงกล่อมลูกอีกต่อไป” ปราชญ์ชาวขอนแก่นกล่าวเพิ่มเติม

‘เพลงกล่อมลูก’ ถ่ายทอดสายสัมพันธ์จากแม่ ญาดา นาคะดำรงวรรณ

ด้านคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเพลงกล่อมลูกอย่าง ญาดา นาคะดำรงวรรณ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผู้ชนะเลิศประเภทอุดมศึกษาของภาคเหนือ กล่าวว่า เธอมีความสนใจเพลงพื้นบ้านเป็นทุนเดิม ชอบร้องเพลงลูกทุ่ง และหลงใหลในเพลงกล่อมลูก เมื่อทราบว่ามีการประกวดจึงไม่ลังเลที่จะฝึกฝนและลองลงสนามแข่งขัน

“เพลงกล่อมลูกของภาคเหนือจะมีลูกเอื้อนหรือที่เรียกว่า อื่อ ซึ่งมันไม่เหมือนกับการร้องเพลงลูกทุ่งที่มีลูกคอทั่วไป จึงต้องเรียนรู้จากรุ่นพี่ จากอาจารย์ และอ้างอิงจากคลิปวิดีโอของปีเก่าๆ แต่สไตล์การร้องไม่จำเป็นต้องเหมือนกับต้นฉบับทุกอย่าง เพราะการร้องเพลงกล่อมลูกต้องจินตนาการว่าเรากำลังกล่อมเด็กอยู่จริงๆ แล้วถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของพี่กล่อมน้องหรือแม่กล่อมลูกออกมาให้ได้ ซึ่งจะทำให้น้ำเสียงเป็นไปตามที่เรารู้สึกและจะฟังซาบซึ้งกว่าการร้องให้เหมือนคนอื่น”

เธอกล่าวด้วยว่า เนื้อหาของเพลงยังทำให้เธอเรียนรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษซึ่งแทบไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน รวมถึงยังสัมผัสได้ถึงความรัก ความหวังดี และสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างแม่กับลูก

เพลงกล่อมลูกมีความสำคัญ ในฐานะที่เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน มีเนื้อหาและโบราณอุบายในการสอนเด็ก และยังสะท้อนให้เห็นรากเหง้าของความเป็นไทย ถึงแม้ว่าการเลี้ยงลูกในปัจจุบันจะไม่ใช้เพลงกล่อมลูกขับกล่อมอีกแล้ว แต่การส่งเสริมให้มีเวทีสำหรับเยาวชนประกวดการขับร้องเพลงกล่อมลูกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะส่งต่อมรดกภูมิปัญญาสู่สังคมไทย

ที่สำคัญ ยังเป็นการอนุรักษ์และทำนุบำรุงวัฒนธรรมของชาติไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา