posttoday

เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

10 กุมภาพันธ์ 2562

เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า คือ เอกลักษณ์สำคัญของเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่โบราณ

โดย...อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า คือ เอกลักษณ์สำคัญของเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่โบราณ มีชื่อเป็นทางการในปัจจุบันว่า วัดมงคลโคธาวาส ตั้งอยู่ที่ ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ

เสือของหลวงพ่อปานนับว่าเป็นเครื่องรางยอดนิยม แกะจากเขี้ยวเสือโคร่ง ลงเหล็กจารด้วยตัวหลวงพ่อเองและใช้คาถาหัวใจเสือโคร่งปลุกเสก

  • ลักษณะแกะเป็นเสือนั่งชันเข่ามีทั้งหุบปาก และอ้าปาก ตำนานเล่าขานว่าท่านใช้ช่างแกะอยู่ 5 คน คือ ช่างฟัก ช่างชม ช่างนิล ช่างมาก และช่างมา จึงมีรูปร่างไม่เหมือนกัน เสือเขี้ยวแกะ มักมีขนาดไม่ใหญ่มาก มีตากลม ขาหน้าทั้งสองใหญ่ และมีทั้งแบบ 3 เล็บ และ 4 เล็บ จิกลงบนพื้น
  • เสือเขี้ยว ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า หน้าเหมือนแมว หูเหมือนหนู คือ เอกลักษณ์มีทั้งแบบเขี้ยวซีกและเต็มเขี้ยว ในยุคแรกเป็นเสือเขี้ยวซีกทั้งสิ้น และมีเสือตัวเล็ก ที่แกะจากปลายเขี้ยวเรียกว่า เสือสาลิกา ซึ่งในสมัยนั้นนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก
  • เสือเขี้ยวมีทั้งหางตั้งขึ้นและหางลง ที่ขาหน้าท่านจะจารตัวอุ ที่ดูคล้ายสายฟ้า และเลข ๗ มากที่สุด หางลากยาวหรือบางทีก็เป็นเลข ๓ ตรงสีข้าง ส่วนใต้ฐานท่านจะจารยันต์กอหญ้าหรือสูญญัง จารเป็นวงรี และใช้คาถากำกับขณะจารว่า นิพพานนัง ปะระมัง สูญญัง ถ้าเสือตัวใหญ่ท่านจะลงยันต์กอหญ้า 2 ตัวตรงข้ามกัน และลงตัว ฤ ฤๅ พร้อมกับตัวอุณาโลม บางตัวมีรอยขีด 2 เส้นขนานกัน ดูให้ดีจะเห็นเป็นเส้นลึกและคมชัด

เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

  • การพิจารณาเขี้ยวเสือที่สำคัญต้องดูความแห้งเป็นธรรมชาติ เขี้ยวเสือต้องมีวรรณะเหลืองใสมองแล้วเป็นธรรมชาติ ของปลอมมักจะเอาเขี้ยวหมี เขี้ยวหมูป่า มาเคี่ยวด้วยน้ำมันงา เมื่อส่องดูจะเห็นเป็นเสี้ยนเล็กๆ และคราบฝุ่นจับแน่นในร่องจาร และอาจมีรอยแตกอันเป็นธรรมชาติของเขี้ยว เมื่อผ่านการใช้งานสีของเขี้ยวจะยิ่งเข้มขึ้น ด้านพุทธคุณครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางเมตตา แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และที่สุดยอดคือมหาอำนาจ
  • เมื่อปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ผู้เชี่ยวชาญระบบชลประทานจากประเทศฮอลแลนด์เข้ามาวางระบบในประเทศไทย แต่ด้วยงบประมาณจำกัดจึงสร้างแค่ประตูระบายน้ำคลองบางเหี้ย ระหว่างที่สร้างนั้นกระแสน้ำคลื่นลมแรงมาก หลวงพ่อปานท่านเสกเขี้ยวเสือขว้างลงไป ปรากฏว่ากระแสน้ำสงบสร้างประตูระบายน้ำได้

เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 ประตูน้ำที่กั้นคลองบางเหี้ยได้เกิดรั่ว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาประทับอยู่ที่ประตูน้ำนั้น 3 วัน พร้อมทั้งนิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้าฯ หลวงพ่อปานให้เด็กชายป๊อดถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะแล้วไปด้วย เมื่อไปถึงที่ประทับ ไม่มีเขี้ยวเสืออยู่ในพานแล้วโดยเด็กชายป๊อดบอกว่าเสือกระโดดลงน้ำ หลวงพ่อปานจึงให้นำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหมู แล้วเสียบไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์
  • แล้วรับสั่งถามว่า “ที่แจกเครื่องรางเป็นรูปเสือมีความหมายว่าอย่างไร หลวงพ่อปานทูลตอบว่า ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า เสือเป็นสัตว์ปราดเปรียวฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะและอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า “ไอ้เสือ” ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั้นเอง ส่วนที่ทำรูปเสือมิใช่สนับสนุนให้คนกลายเป็น “ไอ้เสือ” เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่าที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาด มาเป็นตัวอย่างเท่านั้นภายหลังหลวงพ่อปานได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ” ท่านเป็นชาวคลองด่าน เกิดปี พ.ศ. 2368 ปีระกา มรณภาพวันที่ 29 ส.ค. 2453