"กรุงเทพ"ต้องดีขึ้น
หากไม่คิดจะแก้ปัญหาด้วยความรู้ ปัญหาทุกสิ่งอย่างในกรุงเทพฯ ก็จะถึงจุดวิกฤตเช่นเดียวกับเรื่องฝุ่นพิษ
หากไม่คิดจะแก้ปัญหาด้วยความรู้ ปัญหาทุกสิ่งอย่างในกรุงเทพฯ ก็จะถึงจุดวิกฤตเช่นเดียวกับเรื่องฝุ่นพิษ
*******************
โดย...ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะ และอธิการบดี สจล.
คุณพ่อคุณแม่คนกรุงเทพฯ ที่มีลูกเล็กเหมือนผม ทุกวันนี้คิดเหมือนกันคือ “เป็นห่วงลูก” ไม่เพียงแค่ปัญหามลภาวะฝุ่นพิษ PM2.5 ที่วิกฤตอยู่ในขณะนี้ แต่ยังมีปัญหาอื่นอีกร้อยแปดพันประการ ที่ลูกต้องเผชิญในวันนี้และวันหน้า หากต้องใช้ชีวิตทุกวันอยู่ในกรุงเทพฯ
ตั้งแต่เรื่องคุณภาพการศึกษา ที่วันนี้คนไทยไม่นิยมมีลูกมากกว่าหนึ่งคน หรือไม่ยอมมีลูกเลย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านการศึกษา คนกรุงเทพฯ ต้องยอมขับรถข้ามเมืองวันละเป็นร้อยกิโลเมตร เพื่อไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียนชื่อดังไกลบ้าน หรือบางครอบครัวกลัวสิ่งแวดล้อมมลพิษ จนวางแผนส่งลูกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เล็กก็มี ไม่ใช่ว่าคนกรุงเทพฯ จะร่ำรวย แต่เพื่อลูก ครอบครัวคนไทยทำให้ได้ทุกอย่าง เท่าที่ตนเองจะพอเอื้อมได้ น่าเห็นใจ
แทนที่คนกรุงเทพฯ จะได้ส่งลูกเรียนใกล้บ้าน เช่น โรงเรียนสังกัด กทม.ที่มีถึง 537 โรงเรียน ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ก็ไม่นิยมส่งลูกไปเรียน ดูจากสถิตินักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. จากเคยมีกว่าสี่แสนคน ปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึงสองแสนคน บางโรงเรียนแทบไม่มีเด็กนักเรียน เพราะผู้ปกครองกังวลเรื่องคุณภาพ ลองจินตนาการดู หากโรงเรียนสังกัด กทม.ใกล้บ้านดี มีมาตรฐาน มีการพัฒนา ครูได้รับการดูแล เรียนก็ฟรี แบบนี้ใครก็อยากส่งลูกเรียน แต่วันนี้แม้เรียนฟรี ใกล้บ้าน เรายังต้องขวนขวายหาทางเลือกอื่น นี่คือตัวอย่างที่เจ็บปวดของครอบครัวคนกรุงเทพฯ อย่างแรก
ปัญหารถติดก็ไม่เคยเบาบาง มีแต่หนักขึ้นทุกวัน เด็กเล็กต้องตื่นนอนเช้าขึ้นกว่าปีก่อน รถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างแม้จะเป็นทางเลือกเพื่อการเดินทางในเมือง แต่คนกรุงเทพฯ ยุคนี้ต้องไปซื้อบ้านไกลออกไปทุกปี เช่น ที่ลาดกระบัง หนองจอก หมู่บ้านจัดสรรขึ้นหลายพันหลัง รถไฟฟ้าไม่มีทางจะสร้างทันการขยายตัวของเมืองได้ ขณะที่บ้านเดี่ยวหรือแม้แต่ห้องชุดคอนโดมิเนียม ราคาได้ทะยานสูงมาก จนเด็กรุ่นใหม่ยากที่จะเป็นเจ้าของได้ อาจต้องผ่อนทั้งชีวิต เพราะที่ดินกรุงเทพฯ ราคาพุ่งไปมากถึงหลายล้านบาทต่อตารางวา ในพื้นที่ใจกลางเมือง วันหน้าคนกรุงเทพฯ อาจไม่มีบ้านอยู่ น่าตกใจ
คนกรุงเทพฯ ยังต้องดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพเช่นเดียวกับผม ที่พ่อกับแม่อายุแปดสิบกว่าปีแล้ว ยังต้องตื่นนอนตีสาม เดินทางไกลไปรอคิวโรงพยาบาลชั้นนำของรัฐ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในกรุงเทพฯ ขณะที่ กทม.มีโรงพยาบาลในสังกัดถึง 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 68 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาอีก 76 แห่ง มากที่สุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำอย่างไรผู้สูงอายุจะได้ใช้บริการคุณภาพ ใกล้บ้าน หลายคนจำต้องใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพราะเชื่อมั่น เรื่องชีวิตของคนที่เรารักมีเท่าไรก็ต้องจ่าย ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 1 ล้านคนในกรุงเทพฯ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำอย่างไรจะดูแลกันอย่างทั่วถึง สงสารผู้สูงอายุ สงสารลูกหลาน น่าห่วงใย
วันนี้ วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 จึงเป็นเพียงหนึ่งในหลายเรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องวิตก และเป็นสัญญาณเตือนแรงๆ ว่า หากเราไม่คิดจะแก้ปัญหาด้วยความรู้ ปัญหาทุกสิ่งอย่างในกรุงเทพฯ ก็จะถึงจุดวิกฤตเช่นเดียวกับเรื่องฝุ่นพิษ ทั้งปัญหาจราจร ปัญหาการศึกษา ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาสาธารณสุขของคนเมือง ปัญหาพื้นที่สาธารณะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน จนไม่กล้าจินตนาการกรุงเทพฯ 10 ปีจากนี้ไป
ผมจึงหวังให้ลูกหลานของเราที่เกิดและโตในกรุงเทพฯ จะกล้ามีจินตนาการ และมีความมุ่งมั่นช่วยกันให้ “กรุงเทพฯ ต้องดีขึ้น” เพราะเป็นบ้านของเรา คงไม่มีใครอยากจากบ้านไปอยู่ที่อื่น และคงไม่อยากเห็นกรุงเทพฯ แย่ไปกว่านี้