กลยุทธ์ขุดตัวเองสู้กับความขี้เกียจ
"ขี้เกียจ" เป็นแบบไหน? ใครคิดไม่ออกลองเช็กดูว่า เมื่อเช้าตอนนาฬิกาปลุกให้ตื่นอาบน้ำไปทำงาน เรากดเลื่อนผ่านไปกี่ครั้ง ยังไม่อยากตื่นไปกี่หน นั่นแหละสัญญาณที่กำลังบอกว่า...เราเริ่มขี้เกียจไปทำงานแล้ว
"ขี้เกียจ" เป็นแบบไหน? ใครคิดไม่ออกลองเช็กดูว่า เมื่อเช้าตอนนาฬิกาปลุกให้ตื่นอาบน้ำไปทำงาน เรากดเลื่อนผ่านไปกี่ครั้ง ยังไม่อยากตื่นไปกี่หน นั่นแหละสัญญาณที่กำลังบอกว่า...เราเริ่มขี้เกียจไปทำงานแล้ว
แต่ก่อนอื่นอยากให้ถามตัวเองเสียก่อนว่าที่เราไม่อยากตื่น ไม่อยากไปทำงานนั่นมันเป็นเพราะว่าเรา "ขี้เกียจจริงๆ" หรือแค่อยู่ในสถานการณ์ที่ "กำลังเหนื่อยเกินไป" แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ก็อาจกระทบกับงานทั้งนั้น วันนี้เราจึงนำกลยุทธ์ในการสู้กับความขี้เกียจและค้นหาแรงบันดาลใจในวันที่ขี้เกียจทำงานทั้ง 7 ประการ มาฝากทุกคน
ประการที่ 1 - ซื่อสัตย์กับตัวเอง
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เราต้องระบุปัญหาที่เกิดก่อนที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ เช่น งานเยอะ ทำคนเดียว เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ส่งงานไม่ทันเดดไลน์ งานผิดพลาด จากนั้นให้เราเลิกโทษอย่างอื่นแล้วยอมรับความจริงถึงสาเหตุที่ทำให้การทำงานเป็นแบบนั้น ลองประเมินพฤติกรรมในการทำงานของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะขี้เกียจทำงาน การประเมินด้วยตัวเองเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เปลี่ยนพฤติกรรมและปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น หรือบริหารจัดการเวลาให้ดีกว่าเดิม
ประการที่ 2 - วางแผนการทำงาน
ใช้แพลนเนอร์เพื่อช่วยวางแผนการทำงาน จัดลำดับความสำคัญ เลือกงานสำคัญที่ต้องส่งก่อนมาวางไว้ตรงหน้าแล้วทำมันเป็นสิ่งแรก การใช้แพลนเนอร์ช่วยให้เราโฟกัสและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองตั้งเป้าหมายระยะสั้นและทำให้เสร็จตามแผนเราจะรู้สึกเหมือนบรรลุเป้าหมายและมีแรงกระตุ้นในการทำงานเพิ่มขึ้น
ประการที่ 3 - ตั้งเป้าหมายเป็นประจำ
การทำงานง่ายๆให้สำเร็จตามเป้านั้นจะเป็นเรื่องง่าย แต่อย่าลืมว่าชีวิตคุเราก็ยังต้องการเป้าหมายในการพัฒนาด้วยเช่นกัน เป้าหมายดังกล่าวควรจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะและการรับมือในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เราอาจตั้งเป้าในการเลื่อนขั้น ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือรู้จักเพื่อนร่วมงานให้ดียิ่งกว่าเดิม เป้าหมายดังกล่าวอาจกำหนดเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี พยายามรายงานผลการทำงานให้เป็นประจำสม่ำเสมอด้วย เป้าหมายดังกล่าวจะช่วยให้มีทิศทางในการทำงาน และช่วยขจัดความขี้เกียจในระหว่างวันทำงานอีกต่างหาก
ประการที่ 4 - พักสักนิด
การพักไม่เพียงแต่ช่วยให้หายขี้เกียจ แต่ยังช่วยลดความเครียดและการขาดเป้าหมายในการทำงานได้อีกด้วย ช่วยให้เติมเต็มไฟในการกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง การพักในระหว่างการทำงานยังช่วยไม่ให้เกิดสภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งจะก่อให้เกิดความขี้เกียจอีกด้วย
ประการที่ 5 - สร้างลักษณะนิสัยที่ดีนอกเหนือจากเรื่องงาน
เราสามารถเลือกที่จะใช้เวลาทำอย่างอื่นที่สร้างสรรค์ดีกว่าเสียเวลากับการนั่งดูซีรีย์ เลื่อนฟีดโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน พูดคุยกับคนใกล้ตัว เพียงไม่กี่นาทีก่อนทำอย่างอื่น อย่าลืมเรื่องของการออกกำลังกายด้วย ซึ่งไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังชีวิตการทำงานอีกด้วย การออกกำลังกายช่วยให้สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้ และช่วยให้รู้สึกมีแรงกระตุ้นและพยายามยิ่งกว่าเดิม ไม่เชื่อลองทำดู
ประการที่ 6 - จัดการปัญหาที่แอบแฝงอยู่
ถ้าพบว่าตัวเองยังขี้เกียจในที่ทำงาน แน่ใจหรือยังว่าไม่มีปัญหาอื่นๆ ซ่อนอยู่ สาเหตุที่ขี้เกียจอาจจะมาจากปัญหาอื่นๆ ก็เป็นไปได้ เช่น หากรู้สึกหมดแรง เราอาจต้องปรับการทานอาหาร หรือหากนอนไม่หลับ อาจมีสาเหตุมาจากที่นอนหลับพักผ่อนที่ไม่โอเคก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น สาเหตุจากความเหนื่อยล้าอันเนื่องมาจากความไม่พึงพอใจในทีี่ทำงาน อาจเกิดจากงานที่ไม่เหมาะสมกับเราก็เป็นไปได้
ประการที่ 7 - ให้รางวัลตัวเอง
เมื่อสามารถปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้แล้ว ก็ควรจะให้รางวัลตัวเองด้วยกลยุทธ์ประการสุดท้ายเพื่อทำให้มีแรงกระตุ้นอยู่เสมอ และทำให้เห็นว่าเราเองก็สามารถมาได้ไกลกว่าเดิม เช่น การได้ใช้วันลาพักร้อนนอนพักผ่อน การเดินทางท่องเที่ยว อาหารดีๆ สักมื้อ หรือการช้อปปิ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะก้าวข้ามผ่านความขี้เกียจไปได้
ภาพ : Freepik