posttoday

ความเสมอภาค

03 สิงหาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                     

*******************

ผู้เขียนอาจจะผิดก็ได้ที่กล่าวว่า นักคิดตะวันตกคนแรกที่นำเสนอแนวคิดเรื่องความเสมอภาคโดยอธิบายลงในรายละเอียดโดยไม่อิงกับพระผู้เป็นเจ้าคือ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษในตอนปลายศตวรรษที่สิบหก  แต่ถ้าใครรู้ว่า มีนักคิดคนอื่นก่อนหน้าฮอบส์ ก็ช่วยให้ความรู้แก่ผู้เขียนเป็นวิทยาทานด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ที่ว่าฮอบส์เป็นนักคิดคนแรกที่ออกมายืนยันว่ามนุษย์เสมอภาคกันโดยไม่อิงกับพระผู้เป็นเจ้า เพราะก่อนหน้านี้ นักคิดมักจะอ้างว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่ากษัตริย์หรือไพร่ล้วนเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงเสมอภาคกันต่อพระผู้เป็นเจ้าแต่ฮอบส์อธิบายว่า ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมกันเท่ากันได้อย่างไร ? เห็นๆกันอยู่ว่า คนเราเกิดมามีตัวโตตัวเล็ก สติปัญญาก็ไม่เท่ากัน ที่ว่าไม่เท่ากัน ไม่ได้หมายความถึงเรื่องการเรียนหนังสือ แต่หมายถึงสติปัญญาไหวพริบปฏิภาณที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

ความเสมอภาค

ซึ่งฮอบส์เองก็ยอมรับว่า ร่างกายและสติปัญญาของมนุษย์ไม่เท่ากัน  แต่เขายืนยันว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางร่างกายและสติปัญญาไม่ได้มีผลมากพอที่จะทำให้มนุษย์ไม่เสมอภาคกัน เพราะเขาเชื่อว่า ความกระหายอยากของมนุษย์นั้นเท่ากัน ไม่ว่าคนตัวใหญ่ตัวเล็ก ฉลาดหรือโง่ต่างมีความต้องการในสิ่งต่างๆเท่ากัน

นั่นคือ ฮอบส์กำลังบอกว่า คนเรามีความอยากเท่ากัน และเวลาที่เขากล่าวว่าคนเราอยากเท่ากันนี้ เขากำลังพูดถึงคนในสภาวะธรรมชาติ ที่ยังไม่ได้มารวมตัวอยู่กันเป็นสังคม ยังไม่มีกฎหมายจารีตประเพณีที่เป็นระเบียบของสังคม นั่นคือ ฮอบส์กำลังบอกว่า คนตัวโต คนตัวเล็กเวลาอยากได้อะไร ไม่มีความอยากของใครรุนแรงมากกว่าของใคร ความกระหายทะยานอยากของคนล้วนเท่ากัน และนี่เป็นที่มาของคำอธิบายที่ว่า ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมหรือเสมอภาคกัน ก็น่าลองคิดดูว่า มันเป็นจริงอย่างที่ฮอบส์ว่าไว้หรือไม่ ?

และแน่นอนว่า แม้ความอยากรุนแรงเท่ากัน แต่คนตัวโตหรือแข็งแรงกว่าหรือมีสติปัญญามากกว่าก็จะสามารถช่วงชิงครอบครองสิ่งที่ตัวเองต้องการได้มากกว่าคนที่อ่อนแอกว่า แต่คนที่อ่อนแอกว่านั้นก็ใช่ว่าจะหยุดความต้องการของตนไป คนที่อ่อนแอกว่าแต่ยังอยากอยู่เท่าเดิม และก็จะพยายามหาทางช่วงชิงเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการจากคนที่แข็งแรงกว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีลอบทำร้ายเวลาคนที่แข็งแรงกว่าเผลอ หรือคนอ่อนแอกว่าหลายๆคนจะใช้วิธีหมาหมู่กุ้มรุมทำร้ายคนที่แข็งแรงกว่า

แต่การใช้วิธีการหมาหมู่นี้ไม่ได้หมายความว่า หลังจากแย่งสิ่งที่ต้องการมาได้แล้ว คนที่อ่อนแอกว่าเหล่านั้นจะเอามาแบ่งปันกัน แต่จะต่อสู้แย่งชิงกันครอบครองเป็นของตัวเองแต่ผู้เดียว ฮอบส์จึงสรุปว่า คนที่อ่อนแอกว่าก็สามารถฆ่าคนทีแข็งแรงกว่าได้ ดังนั้น นอกจากทุกคนแต่ละคนจะมีจิตใจที่เสมอภาคกันในความอยากแล้ว ก็ยังเสมอภาคต่อการเสี่ยงต่อความตายจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะแข็งแรงกว่าปานใดก็ตาม

ที่กล่าวไปนั้น เป็นคำอธิบายความเสมอภาคของมนุษย์ในความเข้าใจของฮอบส์ ต่อจากฮอบส์ ก็ยังมีนักคิดชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งที่ออกมายืนยันว่า มนุษย์มีความเสมอภาค นักคิดคนนั้นคือ จอห์น ล็อก(John Locke)ล็อกได้อธิบายความเสมอภาคของมนุษย์ไว้ว่า ในสภาวะแรกหรืออีกนัยหนึ่งคือ สภาวะธรรมชาติ ไม่มีใครปกครองใคร ไม่มีกฎหมายจารีตประเพณีใดๆ ทุกคนเป็นอิสระ ทุกคนเป็นนายตัวเอง ทำอะไรไม่ต้องขออนุญาตใคร ทุกคนต่างมีอำนาจที่จะตัดสินผิดถูกโดยอิสระ และเมื่อทุกคนแต่ละคนล้วนมีอำนาจอิสระที่เป็นของตัวเอง ทุกคนจึงเสมอภาคกัน

ความเสมอภาค

ดังนั้น ฐานของความเสมอภาคในวิธีคิดของล็อกจึงไม่ได้อยู่ที่ความอยากที่เท่ากันของมนุษย์เท่ากับการที่มนุษย์แต่ละคนมีอิสรภาพเสรีภาพของแต่ละคนอย่างเต็มที่ แต่เสรีภาพที่มนุษย์แต่ละคนมีในความคิดของล็อกไม่ได้หมายความถึงการทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะล็อกบอกว่า โดยธรรมชาติ มนุษย์จะคิดได้ว่า ถ้าตนไม่อยากให้คนอื่นทำอะไรอย่างไรกับตน ตนก็ไม่ควรจะไปทำเช่นนั้นกับคนอื่น ดังนั้น เมื่อแต่ละคนรักชีวิตของตัวเอง แต่ละคนก็ตระหนักได้ว่า คนอื่นก็รักชีวิตของเขาด้วย ดังนั้น แต่ละคนจึงไม่ไปทำร้ายคนอื่น ก็เพราะแต่ละคนรักชีวิตของตัวเอ'

จะเห็นได้ว่า คำอธิบายความเสมอภาคของมนุษย์ไม่มีแบบเดียว แต่มีแบบของฮอบส์ที่เน้นไปที่ความปรารถนาอยากที่รุนแรงเท่ากันที่นำมาซึ่งกระทำตามอำเภอใจ และแบบของล็อกที่เน้นไปที่เสรีภาพของแต่ละคน แต่อยู่ภายใต้สำนึกคิดที่รักตัวเองจนไม่ไปหาเรื่องคนอื่นจนคนอื่นอาจจะกลับมาทำร้ายตัวเองได้ แม้ว่าจะมีคำอธิบายความเสมอภาคต่างกัน

แต่ทั้งสองถูกจัดให้อยู่ภายใต้สำนึกคิดเดียวกันที่เรียกว่า สำนักสัญญาประชาคม  ที่ว่าเป็นสำนักเดียวกันนั้น ก็เพราะกระบวนการคิดเหมือนกัน นั่นคือ อธิบายเหตุผลความชอบธรรมของความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐมีการปกครองในปัจจุบันโดยย้อนกลับไปอธิบายที่จุดเริ่มต้นในครั้งที่ยังไม่มีอะไรเลย  นั่นคือ ย้อนกลับไปอธิบายสภาวะธรรมชาติแรกเริ่ม  และอธิบายถึงเหตุผลที่มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติมาตกลงยินยอมร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นด้วยความจำเป็น เพราะนักคิดในสำนักสัญญาประชาคมจะไม่เชื่อว่า โดยธรรมชาติเป็นมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างที่อริสโตเติลนักคิดกรีกโบราณก่อนหน้าเขาได้เสนอไว้

อย่างไรก็ตาม สำนักสัญญาประชาคมยังมีนักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่ง นั่นคือ ฌอง-ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักคิดฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบแปด ซึ่งแน่นอนว่า รุสโซก็ยืนยันว่า ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์มีความเสมอภาคกันเต็มร้อย เขาอธิบายว่า ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์จะอยู่ตามลำพังแต่ละคน ไม่มีความจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวหรือแย่งชิงข้าวของกันอย่างที่ฮอบส์เข้าใจ

ความเสมอภาค

รุสโซชี้ว่า มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ ไม่ได้มีความอยากรุนแรง เพราะมนุษย์ในธรรมชาติมีความต้องการอันน้อยนิด กินง่าย หาอาหารง่าย เพราะแรกเริ่มมนุษย์กินแต่ผักผลไม้ ใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียงง่าย จึงมีความสุขได้ง่ายโดยไม่ต้องแย่งชิงหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับมนุษย์คนอื่นๆเลย ยกเว้นความต้องการทางเพศ แต่เมื่อตอบสนองความต้องการทางเพศกันแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นคู่แต่อย่างใด

มนุษย์พอใจที่จะอยู่อย่างอิสระตามลำพังมากกว่า และมนุษย์พร้อมที่จะวิ่งหนีกันมากกว่าจะเข้าประหัตประหารกันเพื่อแย่งชิงอะไรกันจริงๆจังๆ และรุสโซก็สรุปคล้ายๆกับล็อก ว่า ที่มนุษย์เสมอภาคกันเพราะมนุษย์แต่ละคนต่างมีอิสรเสรีภาพเต็มที่เท่าๆกันนั่นเอง จะต่างกันตรงที่รุสโซน่าจะมีเหตุผลกว่าล็อกตรงที่เขาบอกว่า มนุษย์จะมีเสรีภาพและความเสมอภาคเต็มที่ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ลำพังคนเดียวไม่ปฏิสัมพันธ์กับใครเลย

ขณะเดียวกัน ก็ชวนให้สงสัยไปในเวลาเดียวกันว่า  มนุษย์จะเป็น “singular animal” ที่ใช้ชีวิตอยู่ลำพังโดยไม่ปฏิสัมพันธ์กันและกันเลยได้หรือ ?

ทีนี้ เราจะพบว่า ปัจจุบัน เวลาพูดถึงความเสมอภาค ก็มักจะโยงไปที่ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น เวลาเราจะอธิบายขยายความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คงต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจเรื่องความอยากอันรุนแรงที่เท่าๆกันของฮอบส์และเสรีภาพของล็อกและรุสโซ ซึ่งทำให้คนขี้สงสัยตั้งคำถามว่า ถ้าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ที่การมีอิสรเสรีภาพ แล้วสัตว์ไม่มีอิสระเสรีภาพตามธรรมชาติหรือ ?

ซึ่งเราก็มักจะได้รับคำตอบกลับมาว่า การที่เราเข้าใจว่าสัตว์มีเสรีภาพนั้น เราคิดไปเอง จริงๆแล้ว สัตว์ไม่มี เพราะพฤติกรรมของสัตว์นั้นไม่ได้มาจากความคิดอิสระหรือเจตจำนงเสรีอย่างที่มนุษย์มีเท่ากับมาจากสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอด ซึ่งสัญชาตญาณกับเจตจำนงเสรีเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบสิ้นว่า สัตว์ไม่มีเจตจำนงเสรีเหมือนมนุษย์ หรือแท้จริงแล้วมนุษย์ก็ไม่ได้มีเจตจำนงเสรีเท่ากับสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดไม่ต่างจากสัตว์

ความเสมอภาค

ด้วยเหตุนี้นี่กระมังที่วอลแตร์ (Voltaire) ปราชญ์ฝรั่งเศสร่วมสมัยกับรุสโซจึงตอบโต้ประชดประชันรุสโซว่า ไม่เคยมีใครเคยพยายามใช้เชาว์ปัญญามากมายในการอธิบายมนุษย์ให้เป็นสัตว์ได้เท่ารุสโซ และผู้เขียนคิดว่า คำกล่าวของวอลแตร์น่าจะรวมไปถึงฮอบส์และล็อกได้อย่างไม่ขัดเขินด้วย (ในขณะที่ปัจจุบันมีคนบางพวกพยายามใช้เชาว์ปัญญาอย่างยิ่งยวดที่จะให้ทำสัตว์เป็นมนุษย์ !)

ความเสมอภาค

แต่กระนั้น ประจักษ์พยานที่บ่งชี้ว่ามนุษย์แตกต่างจากสัตว์ก็มีให้เห็นอยู่มากมาย แต่ไม่ใช่เพียงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเท่ากับการมีเสรีภาพที่จะฉุกคิดตั้งคำถามกับคำบอกเล่าถึงความหมายของการมีศักดิ์ศรีของตัวเอง และเป็นความเชื่อของผู้เขียนว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพความสามารถที่จะคิดและตั้งคำถามดังกล่าวนี้ได้ เพียงแต่จะใช้มันหรือไม่เท่านั้น