การทำแผนที่สยาม (ตอนที่เจ็ด): พม่ากับปัญหาเรื่องรองเท้า
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
*******************
ในยุคที่ฝรั่งเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กษัตริย์พม่าไม่เข้าใจความเหนือกว่าของมหาอำนาจตะวันตกของอังกฤษ เมื่อเกิดข้อพิพาทเรื่องดินแดน พม่าก็ทำสงครามกับอังกฤษ ด้วยความทะนงตนว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในบริเวณนี้ ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้สูญเสีย กษัตริย์พม่า พระเจ้าจักกายแมงถึงกับสติฟั่นเฟือน ต่อมา พระเจ้าพุกามพยายามจะทวงดินแดนคืน แต่ไม่สำเร็จ จนพระองค์ทรงเสียพระทัยหันมาหมกมุ่นในอบายมุข
ความพ่ายแพ้และสูญเสียของพม่าทำให้เจ้าชายมินดง (Mindon) (พระนามเดิมว่า เจ้าชายมองลวิน) พระราชอนุชาต่างพระมารดาของพระเจ้าพุกามต้องการให้พม่ายุติสงครามก่อนที่จะสูญเสียมากไปกว่านี้ แต่พระเจ้าพุกามไม่ทรงมีใจจะรับฟัง เจ้าชายมินดงจึงทรงตัดสินใจก่อการกบฏขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2395(หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์หนี่งปี) และถอดพระเจ้าพุกามออกจากราชบัลลังก์ แล้วเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ในปีดังกล่าว และพระเจ้ามินดงได้ทรงส่งขุนนางพม่าไปเจรจาสงบศึกกับอังกฤษทันที ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า พระเจ้ามินดงทรงเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่เริ่มเข้าพระทัยและตระหนักถึงศักยภาพและกำลังที่แท้จริงของพม่าเมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษ แต่กว่ากษัตริย์พม่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องผ่านไปถึงสามรัชกาลแห่งความสูญเสีย
นอกจากบริบทของความสูญเสียพ่ายแพ้ที่พระเจ้ามินดงทรงตระหนักรับรู้แล้ว ภูมิหลังของพระองค์ก็มีส่วนในการที่ทำให้พระองค์ไม่ทรงทรนงก้าวร้าวเหมือนกษัตริย์พม่าพระองค์ก่อนๆ พระเจ้ามินดงทรงศึกษาวิทยาการตามแบบอย่างประเพณีดั้งเดิมของพม่า นั่นคือทรงศึกษาจากวัด โดยมีพระภิกษุเป็นผู้ประสาทวิทยาการแขนงต่างๆ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากกษัตริย์พม่าพระองค์อื่นๆ แต่พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพส่วนใหญ่ด้วยการประทับอยู่ในวัด ซึ่งอาจจะมีเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยในพระชนม์ชีพของพระองค์ เพราะถ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ในพระราชวังอาจทรงถูกกำจัดได้ง่ายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินในแต่ละรัชกาล
จากการที่ประทับอยู่ในวัดทำให้ “เจ้าชายมินดง” ทรงอุทิศพระองค์อยู่กับการศึกษาพระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา และจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ทำให้พระองค์ทรงมีชีวิตที่สงบสันโดษ ต่อต้านการต่อสู้หรือการสงครามใดๆ ที่นำไปสู่การเสียเลือดเนื้อ ดังจะเห็นได้จากในรัชกาลพระเจ้าพุกาม เมื่อผู้สำเร็จราชการอังกฤษยื่นคำขาดแด่พระเจ้าพุกาม เจ้าชายมินดงทรงทูลแนะนำพระเจ้าพุกามให้ยอมปฏิบัติตามคำขาดของอังกฤษ และเมื่อพม่าทำสงครามกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2394 พระองค์ก็ทรงคัดค้านการสงครามครั้งนั้น และทูลให้พระเจ้าพุกามทรงเปิดการเจรจาสงบศึกหลังจากที่ทรงเห็นชาวพม่าต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
การที่เจ้าชายมินดงทรงปฏิเสธการศึกสงคราม ยังผลให้พระเจ้าพุกามทรงออกหมายรับสั่งให้จับตัวเจ้าชายมินดง พระองค์และพระอนุชา เจ้าชายคะนอง (Kanaung) ต้องเสด็จออกจากกรุงอมรปุระไปซ่องสุมกำลังคนอยู่ ณ กรุงชเวโบ โดยผู้คนชาวพม่าให้การสนับสนุนพระองค์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าในขณะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พม่าทำสงครามกับอังกฤษ เพราะทราบชะตากรรมของพม่าดีว่าไม่สามารถเอาชนะอังกฤษได้
ความสันโดษและไม่โปรดการสู้รบยังส่งผลให้การเปลี่ยนแผ่นดินหรือการยึดอำนาจจากพระเจ้าพุกามของพระองค์ไม่ค่อยมีเหตุการณ์นองเลือดเหมือนกับรัชกาลก่อนๆ ทำให้ “แบบฉบับของประเพณีการสืบราชสันติวงศ์ของพม่า” ที่ต้องมีการฆ่าฟันล้างบ้างกันมาชะงักลงในรัชสมัยของพระองค์ ด้วยทรงโปรดฯ ให้ไว้ชีวิตพระเจ้าพุกาม และให้กักบริเวณไว้ในพระราชวัง โดยโปรดฯ ให้ถวายความสะดวกสบายและพระเกียรติยศให้ด้วยเหมือนกับสมัยที่ยังทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์อยู่ทุกประการ อีกทั้งพระองค์ยังทรงโปรดให้ปลดปล่อยนักโทษชาวยุโรปที่ถูกกักขังให้เป็นอิสระอีกด้วย
หลังจากที่พระเจ้ามินดงเสวยราชสมบัติได้หนึ่งเดือน ได้ทรงแต่งตั้งแมกเว มิงคยี (Magwe Mingyi) เสนาบดีผู้ใหญ่เป็นทูตไปเจรจาสันติภาพกับอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นได้ผนวกดินแดนพม่าภาคใต้ไปเรียบร้อยแล้ว คณะทูตดังกล่าวพยายามไปเจรจาขอให้อังกฤษถอนกองทัพออกจากเมืองหงสาวดี แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าพระเจ้ามินดงจะทรงปรารถนาให้การสงครามยุติลง แต่พระองค์ไม่ทรงต้องการให้มีการลงนามในสนธิสัญญาใดๆกับอังกฤษเพิ่มเติมอีก ในขณะเดียวกันกลับทรงเต็มพระทัยที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับอังกฤษ โดยพยายามมิให้อังกฤษละเมิดอธิปไตยของพม่า
ในที่สุด สงครามครั้งที่สองระหว่างอังกฤษกับพม่าก็ยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2396 หลังจากที่พระเจ้ามินดงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นเวลาปีกว่าๆ โดยปราศจากการทำสนธิสัญญาสงบศึกที่มีข้อผูกพันถึงการต้องยกเมืองหงสาวดีให้แก่อังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นการยุติสงครามที่พม่าไม่ต้องเสียเปรียบเหมือนที่ผ่านมา
พระเจ้ามินดงจึงทรงมีความหวังว่า เมืองหงสาวดีจะต้องกลับมาเป็นของพม่าในวันหนึ่ง พระองค์ทรงส่งคณะทูตไปยังเมืองกัลกัตตาในปี พ.ศ. 2397 ด้วยเมืองกัลกัตตาถือเป็นเมืองหลวงของบริติชอินเดียเพื่อเจรจาขอเมืองหงสาวดีคืน แต่ก็ไม่สำเร็จอีก กระนั้น พระเจ้ามินดงก็ยังทรงดำเนินความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับอังกฤษอีกต่อไป อันเป็นพระราโชบายที่แตกต่างไปจากกษัตริย์พม่าพระองค์ก่อนๆ โดยสิ้นเชิง อีกทั้งพระองค์ยังพยายามแสดงพระองค์ว่า ทรงมีความจริงใจต่ออังกฤษ ทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของพม่าโดยหันมาทำสนธิสัญญาทางพาณิชย์กับอังกฤษถึง 2 ครั้ง คือใน พ.ศ. 2405 และ พ.ศ. 2410 ซึ่งการทำสนธิสัญญาทางพาณิชย์นี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของอังกฤษและประเทศยุโรปที่เดินทางเข้ามาในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาทั้งสองฉบับมิได้ทำให้อังกฤษพอใจ เพราะพระเจ้ามินดงทรงละเมิดข้อตกลงที่ว่าด้วยการผูกขาดสินค้าของหลวง ดังนั้นอังกฤษจึงพยายามเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาใหม่ในปี พ.ศ. 2420 แต่ในระยะนั้น พระเจ้ามินดงทรงมีท่าทีต่ออังกฤษเปลี่ยนไปจากเดิม คือไม่ทรงยอมรับรู้อำนาจของรัฐบาลอินเดียพระองค์จึงไม่ทรงตกลงแก้ไขสนธิสัญญา
พระเจ้ามินดงยังทรงมีพระราโชบายที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ นั่นคือ พระองค์ทรงพยายามแสวงหาพันธมิตรจากมหาอำนาจตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี เพื่อหวัง ให้ประเทศเหล่านี้รับรองและประกันเอกราชของพม่า เกิดการถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษ
แต่จากการที่พระองค์ทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเหล่านี้ทำให้อังกฤษมีความระแวงสงสัยพม่า ในเวลาต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับอังกฤษเสื่อมลง จากกรณี “ปัญหารองเท้า” (Shoe Question)
ปัญหาเรื่องรองเท้าเกิดจากการที่ตัวแทนของอังกฤษไม่ยอมถอดรองเท้าและไม่ยอมหมอบคลานในการเข้าเฝ้ากษัตริย์ในพระราชวัง น่าจะมาจากเหตุผลสองประการ ประการแรกคือ ฝรั่งไม่มีธรรมเนียมถอดรองเท้า (การถอดรองเท้าเป็นสิ่งไม่น่าดูด้วยซ้ำ) สอง ตัวแทนอังกฤษเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษเหนือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของพม่า ตัวแทนอังกฤษจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะกดดันให้พม่ายกเว้นจารีตประเพณีถอดรองเท้าและหมอบคลานให้แก่พวกตน และอ้างว่า ตอนที่พวกเขาไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ของสยาม พระมหากษัตริย์สยามไม่ได้บังคับให้ชาวยุโรปต้องถอดรองเท้า ทำไมกษัตริย์พม่าจะต้องมาบังคับพวกตนด้วย ยิ่งตัวแทนอังกฤษอ้างกษัตริย์ไทย กษัตริย์พม่าคงรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะพม่าคิดอยู่เสมอว่าตนเหนือกว่าไทย
พระเจ้ามินดงทรงยึดมั่นอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของราชสำนักพม่าอย่างเคร่งครัด ไม่ทรงยอมผ่อนปรนให้แก่ชาวต่างประเทศ ขณะเดียวกัน อังกฤษก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้พม่าเช่นกัน ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พระเจ้ามินดงไม่เสด็จออกให้ทูตอังกฤษได้เข้าเฝ้าอีกเลยในช่วงปลายรัชกาล
จะสังเกตได้ว่า แม้นว่าพระเจ้ามินดงจะทรงมีพระราโชบายที่ผ่อนปรนและประนีประนอมกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ของพม่า แต่กระนั้นความทรนงและการมุ่งมั่นในการรักษาจารีตประเพณีของพระองค์ก็ยังดำรงอยู่
กล่าวในเชิงประเมินสถานะความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ จะพบว่าการกระทำของพระเจ้ามินดงในขณะนั้นนับว่าเป็นอันตรายต่อเอกราชของพม่าอยู่มาก ด้วยเหตุว่าในการแข่งขันกันระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่จะสำรวจเส้นทางการค้าไปยังมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนเพื่อแข่งกันสั่งสมความมั่งคั่ง
ส่วนพระมหากษัตริย์สยามที่รู้จักการปรับตัวและประนีประนอม (compromise ) ตั้งแต่เนิ่นๆคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรานี่เอง (การประนีประนอมดังกล่าว ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงพระราชดำรัสรัชกาลที่สิบที่ว่า “Thailand is the land of compromise.”) (แน่นอนว่า เดี๋ยวคงมีทัวร์ลงเยอะเลย เพราะผู้คนกำลังเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ไม่ได้รับการประกันตัวคงไม่คิดว่า เมืองไทยเราเป็นประเทศที่ประนีประนอม !)
พระองค์ทรงเข้าใจถึงความแตกต่างทางจารีตประเพณี และทรงเปลี่ยนจากการหมอบคลานเข้าเฝ้าหรืออยู่เฉพาะพระพักตร์มาเป็นการยืนโค้งศีรษะตามแบบอารยประเทศ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2416 โดยทรงมีพระราชดำรัสในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองเมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา (ครั้งแรก พ.ศ. 2411) ว่า “—ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ—” ซึ่งเมื่อยกเลิกการหมอบคลาน ก็รวมไปถึงยกเลิกการถอดรองเท้าไปด้วย ด้วยขนบธรรมเนียมราชสำนักสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ให้ข้าราชการใช้เครื่องแบบเครื่องยศอย่างฝรั่ง และสวมถุงน่องรองเท้า เวลาที่มีเหตุให้ต้อง “เข้าวัด” เช่นในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขณะนั้นคงเห็นว่าการต้องมาคอยถอดคอยสวมรองเท้าพร้อมๆ กันจำนวนมาก แล้วไหนจะต้องไปนั่งเท้าเปล่าเปลือยขณะที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างฝรั่งประดับเหรียญตราสายสะพายเต็มยศ ย่อมดูประดักประเดิดและไม่เสริมส่งสง่าราศีแต่อย่างใด จึงอนุโลมกันมาแต่สมัยนั้นว่า ก็ในเมื่อรองเท้าถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เครื่องแบบ” ก็อนุญาตให้สวมเข้าไปในวัด หรือกระทั่งเข้าไปนั่งเก้าอี้ในพระอุโบสถระหว่างการพระราชพิธีด้วยก็ย่อมได้ ถือเป็นการแสดงความเคารพแก่สถานที่ตามแบบใหม่
เมื่อเทียบหลายอย่างระหว่างไทยกับพม่า ดูเราจะเป็น land of compromise มากกว่า ยิ่งสถานการณ์การเมืองในพม่าทุกวันนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่า ชนชั้นนำพม่าไม่น่าจะทำให้ประเทศพม่าเป็น land of compromise
(บทความตอนนี้ คัดลอก เรียบเรียงและปรับปรุงจาก “The ‘Shoe Question’ in Colonial Burma” ของ Christian Gilberti https://www.myanmore.com/2019/05/the-shoe-question-in-colonial-burma/ ) และ “พระราชดำรัส ร.5 ทรงยกเลิก “หมอบคลาน” ปรับธรรมเนียมครั้งใหญ่ช่วงต้นรัชสมัย” ของ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_10739 และ ถอด หรือไม่ถอด (๒)ของ ศรัณย์ ทองปาน สารคดี https://www.sarakadee.com/2018/06/27/take-off-your-shoes-2/ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)