posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (16): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

08 กรกฎาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************

การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามหลักการการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เป็นไปตามความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ที่ต่อมารู้จักกันภายใต้หลักการ “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ”

หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแต่งตั้งพระปิตุลา กรมหมื่นศักดิพลเสพให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการตั้งพระปิตุลามาก่อน มีแต่ตั้งพระราชโอรสหรือพระราชอนุชา ส่วนเหตุผลที่พระองค์ทรงตั้งพระปิตุลา ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่าน่าจะเป็นเพราะเงื่อนไขความจำเป็นในด้านความมั่นคงในการครองราชย์ แม้ว่าจะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสีย เพราะทำให้บรรดาพระปิตุลาพระองค์อื่นเกิดมีความคาดหวังต่อตำแหน่งวังหน้าขึ้น แต่เดิมผู้ที่คาดหวังมีเพียงสอง นั่นคือ ผู้มีสถานะพระราชอนุชาและพระราชโอรส แต่เมื่อเพิ่มผู้มีความคาดหวังขึ้นมาอีก สมการอำนาจทางการเมืองก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น

หลังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ทรงปล่อยให้ตำแหน่งวังหน้าว่าง ทำให้เกิดความคับข้องใจของผู้ที่คาดหวัง พระองค์จึงทรงปรึกษาพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ดูแลพระคลังสินค้า พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษากราบทูลว่า “ถ้าไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังแล้ว ขอให้ยกเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุนขึ้น ข้าไทยจะได้เห็นว่าเจ้านายของตัวได้เลื่อนที่มียศเพียงนั้นๆ แล้วจะได้หายตื่น”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชดำริเห็นด้วยและเลื่อนยศให้เจ้ากรมใหญ่ทั้งสิ้นหกกรม และทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ส่วนกรมที่ได้รับเลื่อนยศจากกรมหมื่นเป็นกรมหลวงได้แก่ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ กรมหมื่นรักษ์รณเรศร กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ และที่ได้รับเลื่อนเป็นกรมขุน ได้แก่ กรมหมื่นรามอิศเรศร กรมหมื่นเดชอดิศร กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์

นั่นคือ แม้จะไม่ตั้งผู้ใดเป็นวังหน้า แต่ก็ทรง “ทำขวัญ” ด้วยการเลื่อนชั้นให้ แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผลทุกคนไป!

หนึ่งในพระปิตุลา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งเคยทรงงานรับใช้ราชการเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาลที่แล้ว และพระชันษา 41 พรรษาไล่เลี่ยกันด้วย กรมหลวงรักษ์รณเรศมีความคาดหวังมากที่สุดในบรรดาพระปิตุลา เมื่อไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงไม่พอพระทัยและเก็บความคับข้องพระทัยนั้นไว้

จนในปี พ.ศ. 2390 กรมหลวงรักษ์รณเรศได้ “เกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้อง..” อีกทั้งยัง “ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมกดขี่หักหาญถ้อยความผิดๆ…” จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ไต่สวนว่า “เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมากจะคิดกบฏหรือ” กรมหลวงรักษ์รณเรศให้การว่า “ไม่ได้คิดกบฏ คิดอยู่ว่า ถ้าสิ้นแผ่นดินไปก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร” และเมื่อถามว่า “ถ้าได้อย่างนั้นแล้วจะเอาผู้ใดเป็นวังหน้า” กรมหลวงรักษ์รณเรศ ให้การว่า “คิดไว้จะเอากรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์” ผู้เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอนุชาของรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับกรมพระนครบาลและกรมพระคชบาล ต่อมามีผู้ถวายฎีกาอยู่เสมอว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศกระทำการกระด้างกระเดื่อง ทุจริตต่อหน้าที่ รับสินบน

อีกทั้งยังมีการส้องสุมกำลังผู้คน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพิจารณาแล้ว เห็นว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศ “คิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง” จากคำให้ว่า เมื่อสิ้นแผ่นดินจะไม่ยอมอยู่ภายใต้ผู้ใด หมายถึงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง พระองค์จึงลงพระราชอาชญาสำเร็จโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศ จะเห็นได้ว่า การสืบราชสมบัติในสมัยก่อนรัชกาลที่ห้า ยังไม่มีฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว มีทั้งตำแหน่งวังหน้าที่ว่าที่ผู้สืบฯอย่างเป็นทางการ ส่วนพระมหากษัตริย์เองก็ย่อมทรงคาดหวังให้พระราชโอรสของพระองค์เป็นผู้สืบฯ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าตอนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจะทรงพึ่งพาการสนับสนุนของขุนนางตระกูลบุนนาค และรวมทั้งผู้มีบทบาททางการทหารสำคัญอีกคนหนึ่งคือ พระยาเกษตรรักษา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ในสมัยรัชกาลที่สอง ได้ออกไปทำศึกรบชนะเขมรในปี พ.ศ. 2354 และได้รับการปูนบำเหน็จจากตำแหน่งพระพรมหสุรินทร์ขึ้นเป็นพระราชโยธา เจ้ากรมมหาดไทยและต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาเกษตรรักษา ซึ่งพระยาเกษตรรักษาเป็นหนี้บุญคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯในครั้งที่พระองค์ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว สมการสัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างพระองค์กับบรรดาขุนนางเสนาบดีที่สนับสนุนพระองค์นั้นย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป พระองค์จะต้องหาทางมีความเป็นอิสระและหาทางถ่วงดุลหรือลดทอนอำนาจขุนนางเหล่านั้นโดยใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองเพื่อไม่ให้อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ขุนนางผู้ใหญ่ เพื่อมิให้มีอิทธิพลเหนือพระองค์และรวมถึงการสืบราชสันตติวงศ์ครั้งต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2393 (วันที่ 9 กุมภาพันธ์) เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระประชวร และขณะนั้น ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ยังว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีกระแสพระราชดำริถึงผู้สืบราชสมบัติ ซึ่งมีหลักฐานข้อมูลที่แตกต่างกันเกี่ยวกักระแสพระราชดำริดังกล่าว

ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพระราชดำรัสยอมให้เป็นความเห็นชอบของที่ประชุมเสนาบดีผู้ใหญ่และขุนนางผู้น้อยทั้งหลายที่จะเลือกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีความเหมาะสมให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ เพราะหากพระองค์ทรงพระราชทานอิสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดซึ่งพอพระทัย แต่ตามชอบพระราชอัธยาศัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวนั้น อาจเกิดความร้าวฉาน ไม่เป็นที่พอใจของไพร่ฟ้าประชาชนและบรรดาเหล่าขุนนางได้ จึงทรงย้ำว่า ขอให้ที่ประชุมเสนาบดีเป็นผู้ตัดสินใจ โดย “ไม่ต้องเกรงพระราชอัธยาศัย เพียงแต่ขอให้เป็นสุขทั่วหน้า อย่าให้เกิดการบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร” นั่นคือ ขอให้อย่าให้มีการแตกแยกแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์

ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสส่วนพระองค์กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ต่อการสืบราชสมบัติ พระองค์ทรงติงว่า “กรมขุนเดช..(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชอดิศร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่ายๆ จะเป้นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้” ส่วน “กรมขุนพิพิธ..(พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คือแต่ละเล่นอย่างเดียว”

ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระองค์ทรงเห็นว่ามีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) แต่ก็ยังทรงติงด้วยว่า ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะให้นำธรรมเนียมการห่มผ้าของพระสงฆ์ของพม่ามาใช้ ส่วนเจ้าฟ้าจุฑามณี ก็ “มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่างๆ แต่ไม่พอใจทำราชการเกียจคร้าน รักแต่การเล่นสนุก เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการ..จะไม่ชอบใจ” และพระองค์ทรง “โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน”

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (16): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

                          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ                      พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

จะเห็นได้ว่า จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้โปรดให้การเลือกผู้สืบราชสมบัติเป็นการตัดสินใจของที่ประชุมเหล่าเสนาบดีและขุนนางทั้งปวง แต่ทรงมีติติงคุณสมบัติของพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ รวมทั้งเจ้าฟ้ามงกุฎและเจ้าฟ้าจุฑามณีอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความเห็นพ้องของเหล่าเสนาบดี

แต่ในหนังสือของ Abbot Low Moffat กล่าวว่า ในช่วงก่อนสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพยายามที่จะเสนอชื่อพระราชโอรสของพระองค์ให้เป็นผู้สืบราชสมบัติด้วย ซึ่งสอดคล้องกับประชุมพงศาวดารของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า พระราชโอรสที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้สืบต่อราชสมบัติคือ หม่อมเจ้าอรรณพ (ต่อมา กรมหมื่นอุดมรัตนราษี) ซึ่งขณะนั้นพระชันษาได้ 31 ปี แต่ที่ประชุมเสนาบดีและเหล่าขุนนางไม่เห็นด้วย แต่พร้อมใจกันเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้สืบราชสมบัติ

จะเห็นได้ว่า การสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่รัชกาลที่สามจนถึงรัชกาลที่สี่มิได้เป็นไปตามหลักการการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เป็นไปตามหลัก “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” และมหาชนที่ว่านี้ก็คือ ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ และถ้าเจาะลึกลงไปก็จะพบว่า ภายในที่ประชุมนี้ ผู้ที่มีอำนาจอิทธิพลคือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค อันได้แก่ คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) น้องชายของเจ้าพระยาพระคลัง และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของเจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยารวิวงศ์ (ขำ บุนนาค) ผู้เป็นน้องต่างมารดาของพระยาศรีสุริยวงศ์

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (16): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

              ดิศ                                   ทัต                                ช่วง                                         ขำ

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ ในคราวที่กลุ่มขุนนางบุนนาคสนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์นั้นก็ด้วยเหตุผลทางการค้า ดังนั้น ด้วยเหตุผลอะไรที่กลุ่มขุนนางบุนนาคเลือกที่จะสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ไม่สนับสนุนหม่อมเจ้าอรรณพ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และไม่สนับสนุนเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ?

(แหล่งอ้างอิง: พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; Abbot Low Moffat, Mongkut the King of Siam; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย)