การระบาดของโอไมครอนในเด็ก : รุนแรงแค่ไหนรับมืออย่างไรเมื่อต้องไปโรงเรียน
โดย...ดร.ภัทรนุช วิทูรสกุล
****************
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งประเทศไทยด้วย จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ ม.ค. - ก.พ. 2565 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มตามด้วยเช่นกัน และมีรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้คือ “สายพันธุ์โอไมครอน”
เชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลกตอนนี้ มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า และล่าสุดที่กำลังระบาดอย่างหนักเลย คือ “โอไมครอน” ซึ่งมีความน่ากังวลจนกระทั่ง WHO ได้ประกาศเตือนทุกประเทศให้ตื่นตัวกับการมาเยือนของสายพันธุ์นี้ ตัวของสายพันธุ์โอไมครอนนี้ มีการกลายพันธุ์ถึง 50 ตำแหน่ง และมีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) จำนวน 32 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นการกลายพันธุ์จำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์เดลต้ามีการกลายพันธุ์เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น จากการกลายพันธุ์นี้ยังพบอีกว่า ส่วนประกอบของไวรัสโอไมครอนสามารถจับยึดกับเซลล์ของคนได้ถึง 10 ตำแหน่ง ส่งผลให้จับกับเซลล์ของคนได้มากขึ้น เข้าสู่ระบบร่างกายคนได้ง่ายขึ้น อาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น มีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีน ทำให้คนติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนซ้ำได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเชื้อโอไมครอนนี้จะมีการแพร่ระบาดอย่างมาก แต่จากรายงานของ แพทย์หญิงโคเอตซี ประธานแพทยสมาคมแห่งแอฟริกาใต้ กล่าวว่า คนสามารถติดเชื้อโอไมครอนได้ง่ายขึ้น แต่ระดับความรุนแรงของอาการอยู่ในระดับปานกลาง บางรายอาจมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ ระคายคอ ไม่ค่อยมีไข้ และมีอาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ คือ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน และจมูกยังสามารถได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ดี และเมื่อคนติดเชื้อไวรัสโอไมครอนแล้วสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 8-12 วัน หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และจากอาการที่ไม่รุนแรงนี้ ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อบางราย ไม่ทราบว่าตนติดเชื้อ เพราะไม่มีอาการใดๆ ทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อ และเกิดการแพร่กระจายเชื้อไปอย่างรวดเร็วในวงกว้างได้
เนื่องจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนี้ ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ในส่วนของเด็กนั้น ก็สามารถรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน แนวโน้มการติดเชื้อในเด็กจึงสูงขึ้นจากเมื่อก่อนมาก เห็นได้จากการรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ ที่มี cluster ตามสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนต่างๆ จนต้องสั่งปิด เพราะพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนใหญ่มาจากการรับเชื้อต่อจากผู้ใหญ่ภายในบ้าน หรือสิ่งแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่ และเมื่อเด็กได้รับเชื้อแล้วไปโรงเรียน เด็กก็ไปแพร่กระจายเชื้อในโรงเรียนต่อไป ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ออกไปอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง
จากข้อมูลพบว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิค-19 จะมีอาการแสดงน้อยมาก บางรายไม่มีอาการ หรือบางรายมีอาการแต่ไม่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งปัญหาของเด็กติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ คือเด็กจะเป็นผู้กระจายเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ดีมาก เพราะเมื่อเด็กไม่สบายต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจแพร่เชื้อให้ผู้ดูแลได้ ในเด็กบางรายที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยยังคงไปโรงเรียน หรือเล่นกับเพื่อนๆ ตามปกติ ซึ่งสำหรับเด็กเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่มี social distancing ส่งผลให้เด็กที่ติดเชื้อกลายเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
และด้วยสถานการณ์ตอนนี้ สถานศึกษาหลายที่ก็ต้องการเปิด เพื่อให้เด็กได้มาเรียนในโรงเรียนมากขึ้น เพราะจากที่ผ่านมาเด็กต้องเรียน online เป็นเวลานาน ซึ่งก็ถือได้ว่าผิดธรรมชาติของเด็กพอสมควร เพราะธรรมชาติเด็กนั้นต้องได้เล่น วิ่ง เรียนรู้การเข้าสังคมจากการพบเพื่อน ครู ในโรงเรียน จาก 2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้เลยว่า มีผลเสียต่างๆ มากมายจากการเรียน online เช่น เด็กติดหน้าจอ โรคอ้วน เด็กขาดทักษะการเข้าสังคม เด็กมีภาวะเครียดจากการเรียนที่บ้าน ได้รับแรงกดดันจากผู้ปกครองมาก ฯลฯ ส่งผลให้ผลการเรียนรู้ต่ำลง และยังส่งผลต่อผู้ปกครองด้วย เพราะอาจจะต้องขาดงานมาดูแลเด็กๆ ทำให้ขาดรายได้ มีความเครียดมากขึ้น ดังนั้น สถานศึกษาจึงพยายามที่จะเปิดเพื่อให้เด็กได้มาเรียนในโรงเรียนมากขึ้น
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการก่อนที่สถานศึกษาต้องเปิดเรียน โดยมีเกณฑ์หลักๆ คือ ครูต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม ทุกคน มีการจัดทำความสะอาดโรงเรียนตามหลักป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้สอดคล้องตามประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข จัดระบบการคัดกรอง วัดอุณหภูมิ ตรวจ ATK สวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังสำหรับเด็กที่มาเรียน onsite ก็ยังคงต้องเน้นย้ำในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 โดยใช้หลัก DMHTTA ได้แก่
D คือ distancing อยู่ห่างไว้
M คือ mask สวมหน้ากากอนามัยเมื่อพบปะผู้อื่น
H คือ Hand wash ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
T คือ temperature วัดอุณหภูมิ
T คือ test ตรวจหาเชื้อ
A คือ application ไทยชนะ
นอกจากการดูแลตามหลัก DMHTTA อยากรณรงค์ให้ครู ผู้ปกครอง เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลายโรงพยาบาลประกาศให้เด็กที่มีสุขภาพปกติและที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม มีอายุตั้งแต่ 5-18 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ ดังนั้นขอเชิญชวนให้ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานของท่านลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีการประกาศไว้ เพื่อให้บุตรหลานของท่านได้มีภูมิต้านทานในการป้องกันเชื้อโควิด-19 หรือป้องกันการเกิดความรุนแรงภายหลังการติดเชื้อได้
สุดท้ายนี้ วิธีรับมือในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อวิด-19 ในขณะนี้ คิดว่าทุกคนในประเทศตอนนี้น่าจะมีความสามารถในการรับมือแล้ว ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร แต่สิ่งที่ขอเน้นย้ำคือ “เรื่องความเคร่งครัดในการปฏิบัติ” ขอให้ทุกคนยังคงเคร่งครัดและระมัดระวังอย่างมากเหมือนช่วงที่การระบาดในระยะแรก หรือในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักก่อนหน้านี้ หากทุกคนช่วยกันคิดว่าการติดเชื้อก็จะลดลง การแพร่กระจายเชื้อลดลง ประเทศของเราจะได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้