"โรแมนซ์สแกม" เมื่อคนรักออนไลน์กลายเป็นโจร!
ฝันร้ายของสาวนักแชท เมื่อหนุ่มรูปงามแปลงร่างเป็นมิจฉาชีพหลอกเอาเงิน
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
วิวัฒนาการการหาคู่ระหว่างชายหญิงผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ไล่ตั้งแต่เขียนจดหมายรักฝากไปรษณีย์ โทรศัพท์หยอดเหรียญ ส่งข้อความเอสเอ็มเอส จนถึงแชทผ่านโปรแกรมเอ็มเอสเอ็น แคมฟรอก และเฟซบุ๊ก จากคนแปลกหน้าพัฒนาเป็นคนรัก ทั้งที่ไม่เคยเจอตัวจริงกันสักครั้ง
ตรงนี้กลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพกระโจนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผู้หญิงหลายคนแทนที่จะได้สามี กลับต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่า สิ้นเนื้อประดาตัว แสนเจ็บช้ำและอับอาย
"โรแมนซ์สแกม" หลอกรักออนไลน์
คำว่า "โรแมนซ์สแกม" หรือ "โรแมนซ์สแกมเมอร์" หมายถึง พฤติการณ์ของมิจฉาชีพที่หลอกเอาเงินเหยื่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นชายชาวต่างชาติหน้าตาหล่อเหลา สร้างเรื่องราวดูดีมีชาติตระกูล ปรนเปรอคำหวานให้หลงรักและไว้ใจ ก่อนจะล่อลวงให้ส่งเงินไปให้ด้วยการยกสารพัดเหตุผลมาอ้าง
จากการเปิดเผยของ พ.ต.อ.ภาณุวัฒน์ ร่วมรักษ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ระบุว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา เฉพาะคดีเกี่ยวกับโรแมนซ์สแกมถูกร้องเรียนเข้ามาถึง 80 คดี มูลค่าความเสียหาย 150 ล้านบาท ยังไม่นับคดีที่ถูกร้องเรียนไปยังสถานีตำรวจท้องที่และเหยื่อที่ไม่กล้าเข้าแจ้งความอีกเป็นจำนวนมาก
"มิจฉาชีพกลุ่มนี้จะใช้รูปโปรไฟล์ชาวต่างชาติผิวขาว หล่อเหลา แต่งตัวดี ประกอบอาชีพเป็นวิศวกร หมอ สถาปนิก นักธุรกิจ อ้างว่าโสด หย่าร้าง ภรรยาเสียชีวิต แล้วโพสต์ภาพการใช้ชีวิตหรูหรา จิบแชมเปญ ล่องเรือยอร์ช กินอาหารร้านแพงๆ แต่ความจริงคือ ผู้ต้องหาที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นชายผิวดำมาจากแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะไนจีเรีย วันๆนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มีเงินหน่อยก็ซื้อแลปท็อปคอยจ้องหาเหยื่อตามเว็บไซต์หาคู่ นัดเดท รวมถึงโปรแกรมแชทต่างๆ เช่น ยาฮูแมสเซนเจอร์ สไกป์ เฟซบุ๊ก
เหยื่อส่วนใหญ่เป็นหญิงโสดอายุ 40-60 ปี การศึกษาดี หน้าที่การงานมั่นคง ที่สำคัญคือมีสตางค์ แก๊งโรแมนซ์สแกมเมอร์จะป้อนคำหวาน ชวนคุยเอาอกเอาใจให้ความหวังสารพัด จนผ่านไปสักพักจะเริ่มออกอุบายล่อลวง ถ้าเหยื่อตายใจก็เสร็จโจร"
ข้อมูลอันน่าตกใจของบก.ปอท.ยังพบอีกว่า ที่ผ่านมาพบเหยื่อที่สูญเสียมากสุดอยู่ที่ 33 ล้านบาท โดยโอนเงินไปให้คนรักออนไลน์ถึง 26 ครั้ง ภายในเวลา 2 ปี ทั้งที่ไม่เคยพบเจอหน้ากันเลยแม้แต่ครั้งเดียว บางคนถูกคนร้ายใช้จิตวิทยาหว่านล้อมจนหลงเชื่อยอมโอนเงินไปให้มากกว่า 83 ครั้ง รวมเป็นเงิน 13 ล้านบาท
ผู้ต้องหาชาวไนจีเรีย ที่กองปราบปรามจับกุมได้ หลังแชทหลอกเงินเหยื่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก
5 สัญญาณเข้าข่าย"ถูกหลอก"
สาวน้อยสาวใหญ่ที่โสดมานาน อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว อยากได้เพื่อนคลายเหงา หากชายหนุ่มชาวต่างชาติหน้าตาหล่อเหลา พูดจาหวานนุ่มหู ฐานะร่ำรวย เข้ามาทักทายชวนคุยพัฒนาความสัมพันธ์ คงยากที่จะไม่หวั่นไหว
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 2 กองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผกก.2 บก.ปอท.) เผยว่า สัญญาณเริ่มต้นบ่งบอกว่ากำลังจะถูกหลอกจากคนรักออนไลน์ มี 5 ข้อที่ควรฉุกคิด
หนุ่มคนนั้นแสดงออกว่าตกหลุมรักอย่างรวดเร็ว หลังรู้จักกันไม่นานก็ใช้คำเรียกว่า Honey, Baby, My love, My wife ทั้งที่ยังไม่เคยเจอหน้ากัน สาเหตุที่ใช้คำเหล่านี้เพราะมิจฉาชีพมักคุยกับเหยื่อพร้อมกันหลายคน จึงคัดลอกข้อความเดิมๆไปใช้คุยกับเหยื่อรายต่อไป เพื่อป้องกันการเรียกชื่อผิด
ไม่เปิดกล้อง ไม่ยอมให้เห็นหน้า บ่ายเบี่ยงเมื่อขอนัดเจอตัว เป็นธรรมดาที่โจรมักไม่ใช้รูปตัวเอง แต่เอารูปของคนอื่นที่หน้าตาดีมาหลอกให้เหยื่อตกหลุมรัก
รักกันไม่นานก็มีเหตุการณ์แปลกๆชวนให้เสียเงิน หนุ่มคนนั้นจะอ้างเหตุผลร้อยแปดให้หญิงสาวโอนเงินให้ เช่น ป่วยหนักต้องใช้เงินรักษา ชวนลงทุนทำธุรกิจ บอกว่าจะส่งของขวัญแสนแพงมาให้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนก่อนถึงจะได้รับของ ผ่านการปลอมแปลงเอกสารราชการอย่างแนบเนียน และการสมรู้ร่วมคิดกับมิจฉาชีพคนไทย
เขียนภาษาอังกฤษผิดไวยากรณ์ เนื่องจากกลุ่มมิจฉาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวไนจีเรีย แต่แอบอ้างโปรไฟล์ว่าเป็นฝรั่งผิวขาว การสื่อสารจึงกระท่อนกระแท่น แปร่งๆ และผิดเพี้ยน
คุยกันได้แป๊บเดียวแต่ชวนเปิดกล้องทำกิจกรรม Sex online กรณีนี้เหยื่อส่วนมากจะเป็นผู้ชายที่นึกสนุกทำตามคำชวนของสาวแปลกหน้า เช่น ให้ช่วยตัวเองโชว์ คุยเซ็กซ์โฟน หารู้ไม่ว่าขณะกำลังเมามันก็ถูกบันทึกบทสนทนาและภาพเคลื่อนไหว ก่อนจะนำวีดีโอมาขู่แบล็คเมล์เรียกเอาเงินภายหลัง
"เหยื่อส่วนมากเข้ามาแจ้งความหลังถูกหลอกจนแทบหมดตัวแล้ว วันที่มาแจ้งความ บางคนยังปักใจเชื่อด้วยซ้ำว่าตัวเองไม่ได้ถูกหลอก ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ เดี๋ยวนี้มีถึงขนาดนัดมาเจอตัวแล้วจับเรียกค่าไถ่
ผมเคยเปิดสมุดไดอารี่ของผู้ต้องหาบางคนดูพบว่า มีการจดไว้อย่างละเอียดว่าใครโอนมาแล้วเท่าไหร่ ใครหลอกง่ายหลอกยาก คนไหนชอบอะไร มีรสนิยมยังไง มีข้อความระบุว่าเคยฆ่าทิ้งไปแล้วก็มี"
ยกตัวอย่างเหยื่อผู้น่าสงสารที่ต้องประสบเคราะห์กรรมจากการหลงรักชายแปลกหน้าในโลกออนไลน์
สุรีรัตน์ (นามสมมติ) อายุ 69 ปี อดีตอาจารย์วิทยาลัยชื่อดัง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.นครราชสีมา จับกุม หลังพยายามนำธนบัตรดอลลาร์ปลอมใบละ 100 ดอลลาร์ จำนวน 20 ใบไปแลกที่ธนาคาร เธอสารภาพว่าคุยกับชายชาวต่างชาติคนหนึ่ง หน้าตาหล่อเหลามาได้ 1 ปีเศษอ้างว่าเป็นหมอชาวสหรัฐทำงานอยู่ประเทศซีเรีย ต้องการเดินทางมาพบเธอที่เมืองไทย แต่ติดขัดเรื่องเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำเอกสาร
ด้วยความหลงรักอย่างหัวปักหัวปำ เธอตัดสินใจโอนเงินไปให้ชายคนรักเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท สุดท้ายเขาส่งเงินมาชดใช้ให้เป็นธนบัตรปลอมสกุลดอลลาร์ ต้นทางจากประเทศกาน่า
ความฝันพังทลายในวัยบั้นปลายของชีวิต หนำซ้ำยังอาจถูกดำเนินคดีติดคุกติดตะรางอีกด้วย
รู้ไว้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
เพจเฟซบุ๊กชื่อ Thai Anti Scam (สาวไทยรู้ทันกลลวง) ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 40,000 คน แนะนำวิธีการสังเกตพฤติกรรมของบรรดามิจฉาชีพโรแมนซ์สแกมเมอร์ไว้อย่างน่าสนใจ
เมื่อเห็นข้อความจากชายชาวต่างชาติส่งเข้ามาทำทีอยากรู้จัก หรือสนใจเรา
1.ให้เข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ของคนนั้นว่า มีรูปส่วนตัวน้อยเกินกว่าคนเล่นเฟซบุ๊กปกติพึงมีหรือไม่ มีเพื่อนอยู่ไม่กี่คน และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เฟซบุ๊กไม่มีการอัพเดตเท่าที่ควร
2.ดูรูปภาพว่าหล่อเกินจริง ดูดีมีฐานะเกินกว่าคนปกติจะพึงมีเวลาเล่นเฟซบุ๊กหรือเปล่า ลองนำภาพนั้นไปค้นหาใน google หากเป็นรูปนักการเมือง ดารา นายแบบ ก็จะโชว์ลิงค์และชื่อจริงของรูปนี้ขึ้นมา
3.โจรเหล่านี้ใช้คำหวาน เช่น Honey, Baby, My love, My wife ตลอดเวลา
4.ชอบให้ความหวังสวยงามราวคัดลอกมาจากนิยาย เช่น 'รักคุณมากมายเหลือเกิน' 'แต่งงานกับผมนะ' 'สักวันนึงเราจะได้เจอกันและอยู่ด้วยกัน'
5.คุยสักพักจู่ๆก็อยากเห็นหน้าคุณใจจะขาด ชวนให้เปิดกล้องเว็บแคม พยายามพูดจาส่อเสียดไปทางกามอารมณ์ เพื่อให้คุณเผยสรีระร่างกาย สุดท้ายจะอัดคลิปไว้แบล็คเมล์
6.ชายคนนั้นจะขอเบอร์คุณ แล้วโทรมาหาเพื่อสร้างความประทับใจว่าโทรข้ามทวีป เช่น จากอเมริกา แคนาดา อังกฤษ จงอย่าเชื่อ เพราะเบอร์โทรเหล่านั้นสามารถเช่าได้ไม่ยาก อาจโทรมาจากใกล้บ้าน หรือประเทศเพื่อนบ้าน
7.อยากจะส่งของ จึงขอที่อยู่เพื่อส่งเงินสด เครื่องประดับสุดหรูมาให้ แต่คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและภาษีนำเข้า โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะติดต่อคนกลางซึ่งเป็นคนไทยอ้างตัวว่ามาจากบริษัทส่งของ
8.นอกจากส่งของ ยังมีการสร้างเรื่องราว สร้างสถานการณ์คับขัน เช่น ลูกป่วย โดนคดี ได้รับมรดก ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน เพื่อให้คุณเห็นใจ และโอนเงินให้
9.ถ้าคุณบอกว่าได้เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ครั้งนี้ให้ครอบครัว หรือเพื่อนฟัง ชายคนนั้นจะออกอาการฉุนเฉียว และน้อยใจ อ้างว่าโตแล้วทำไมต้องไปเล่าให้คนอื่นฟัง
10.หากชายคนนั้นเปิดกล้องเว็บแคมให้เห็น แล้วนั่งนิ่งๆ หรือเห็นเพียงแวบๆ อย่ามั่นใจว่าคนที่เห็นเป็นพ่อเทพบุตรของคุณจริงๆ อาจอัดคลิปมาจากเหยื่ออื่นแล้วมาหลอกให้คุณตายใจก็เป็นได้
"วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นคือ ตระหนักรู้ด้วยการติดตามข่าวสารเพื่อรู้เท่าทันพฤติการณ์ของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในเฟซบุ๊ก ไม่แชทคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะเรื่องความรัก ถ้าจะคุยควรคุยผ่านวีดีโอคอลล์หรือเฟซไทม์ และอย่าลืมสังเกตสำเนียงการพูด สุดท้ายขอเรียนให้ทราบว่าราชการไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อโอนเงิน"พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อความรัก หลงใหล เชื่อใจ ทำให้ผู้หญิงหลายคนหน้ามืดตามัว ยอมทำตามชายหนุ่มแปลกหน้าคนรักออนไลน์แทบถวายชีวิต รู้ตัวอีกทีรักครั้งนี้อาจมอบบทเรียนอันแสนเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืม
ตัวอย่างแชทหลอกลวงของมิจฉาชีพ ที่เฟซบุ๊ก Thai Anti Scam (สาวไทยรู้ทันกลลวง) นำมาเผยแพร่เพื่อเตือนประชาชน