"กระทิง พูนผล" มือปั้นสตาร์ทอัพไทย
"การเป็นสตาร์ทอัพ คือ การคิดหาทางออกที่ดีกว่าวิธีการแบบเดิม และต้องมองการเติบโตเพิ่มขึ้นสิบเท่า"
โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ
หากเอ่ยถึงคนไทยที่เป็นบุคคลต้นแบบสำหรับคนรุ่นใหม่ในวงการสตาร์ทอัพที่จุดประกายให้กล้าที่จะคิดต่างและออกมาเป็นนายตัวเอง คงหนีไม่พ้น กระทิง พูนผล คนไทยอีกคนหนึ่งที่เข้าไปตามหาความฝันของตนเองในซิลิคอน วัลเลย์ จนได้นั่งในตำแหน่งบริหารชั้นสูงขององค์กรระดับโลกอย่างกูเกิล และกลับมานั่งเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรชั้นนำอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในทีมผู้ริเริ่มโครงการแอคเซเลเรทของดีแทค โรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ และยังเป็นที่ปรึกษาด้านฟินเทคให้กับธนาคารชั้นนำของไทยอีกด้วย
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล เล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตของตัวเอง จากการเป็นพนักงานบริษัทในเครือพีแอนด์จีตั้งแต่เรียนจบนานถึง 7 ปี ที่เรียกได้ว่าทำตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งฝ่ายผลิต โลจิสติกส์ เทคนิค จนก้าวมาเป็นฝ่ายขายและการตลาดจนได้รับรางวัลจากผู้บริหารใหญ่ และเมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็เริ่มมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาและยังเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก
“อินเทอร์เน็ตในยุคนั้นสำหรับผม ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนชีวิต ตอนนั้นผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตนี่แหละที่จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนอนาคต และอยากที่จะก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของอนาคต จึงเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่จากจุดเริ่มต้นภาษาอังกฤษที่เรียกว่าจากศูนย์ แต่เพราะต้องการเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงพยายามสอบจนได้คะแนนเฉลี่ยกว่า 700 ถือว่าเยอะกว่าค่าเฉลี่ยในยุคนั้น”
ชีวิตในอเมริกาช่วงแรกนั้น ไม่ได้ราบรื่นและสุขสบายเลย หนุ่มไทยจากกำแพงเพชรได้เล่าให้ฟังว่า ตัวเองไม่ได้มีเงินถุงเงินถังในการเข้าเรียนและค่าเทอมก็ค่อนข้างสูงมาก จึงสมัครขอทุนการศึกษาเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายและทำงานพิเศษไปพร้อมกันด้วย
“โอกาสที่ดีสำหรับผมอีกเรื่องคือการได้เข้าเรียนในคลาสที่มี อีริค ชมิดท์ ประธานกรรมการบริหาร กูเกิล อิงค์ มาสอนให้คิดแบบยุทธศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นยุคแรกของยาฮูและอีเบย์ จุดประกายให้ผมคิดว่าจะเอาแนวความคิดแบบสตาร์ทอัพและธุรกิจมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร และได้ฟังแนวคิดด้านการเป็นสตาร์ทอัพยุคแรกจาก มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ที่มีผู้ใช้งานเพียง 8 ล้านยูสเซอร์ จนปัจจุบันมีมากกว่าพันล้านคน ก็คิดว่าจะช้าอีกไม่ได้แล้ว”
กระทิงยังเล่าตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างประเทศที่น่าสนใจให้ฟังว่า การเป็นสตาร์ทอัพที่ดีนั้น จะต้องเปลี่ยนชีวิตของคนส่วนมากให้ได้ เช่น แซม โกลด์แมน ซึ่งเป็นซีอีโอของ D.Light ผลิตโคมไฟที่ชาร์จในตอนกลางวันเพื่อนำไปใช้งานตอนกลางคืน ช่วยให้หมู่บ้านที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึงที่มีกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถหารายได้เพิ่มขึ้น 1 เหรียญในตอนกลางคืน และระดมทุนได้กว่าพันล้านบาท จากการขายโคมไฟซึ่งต้นทุนถูกกว่าเทียนไข แต่ประโยชน์คือให้แสงที่มากกว่า โดยเด็กเล็กไม่เสี่ยงตาบอดจากควันไฟจากแสงเทียน ซึ่งตอนนี้มีกว่า 150 ล้านครัวเรือน ที่ได้ใช้งานโคมไฟนี้ และตัวแซมเองก็ติดอันดับสตาร์ทอัพที่มีรายได้สูง 50 อันดับระดับโลกจากนิตยสารฟอร์บส์
หลังจากนั้น กระทิงได้เข้าไปทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิล ซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คาดคิด หากเป็นการเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำของไทยนั้น ระดับกระทิงแล้วรอนั่งตำแหน่งสูงได้เลย แต่เขาเลือกทำตามฝันมากกว่า
“ผมไปสัมภาษณ์งานที่กูเกิลถึง 9 รอบในระยะเวลาเกือบ 6 เดือน ในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกว่าจะได้มานั้นก็มีเรื่องดราม่าในครอบครัวถึง 4 ครั้ง ที่ทำให้ผมเกือบจะตัดใจและเดินทางกลับไทยแล้ว แต่คำสั่งสอนของแม่ทำให้ผมไม่ท้อและคิดได้ว่ากว่าจะมาจนถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าถอดใจและกลับประเทศก็เท่ากับสูญเปล่า และความอดทนของผมก็สมหวังเมื่อได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงข้อมูลดูตลาดกูเกิลในจีนและญี่ปุ่น”
เมื่อครั้งที่ต้องเข้าไปดูตลาดหลักที่จีนนั้น เรียกได้ว่าสร้างความเครียดให้กระทิงไม่น้อย เพราะวันแรกที่เข้าไปถึงกูเกิลถูกสั่งบล็อกเว็บห้ามประชาชนเข้าใช้งานทันที เพราะไม่ทำตามเงื่อนไขของรัฐบาลจีน นั่นคือการเซ็นเซอร์ข้อมูล ทำให้กูเกิลต้องถอนตัวออกจากตลาดจีน และกระทิงก็ดูแลแค่ตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น
“ช่วงที่ดูแลตลาดญี่ปุ่นถือว่าสนุกและดีมาก เพราะทีมที่ทำงานด้วยกันมีความสามารถและคิดค้นนวัตกรรมอยู่เสมอ จากนั้นก็ตัดสินใจมาทำแผนกกูเกิล เอิร์ธ ซึ่งเป็นเอิร์ธ 5 และทำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับใต้ทะเล และเชิญอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ อัล กอร์ บุคคลที่รณรงค์เรื่องโลกร้อน และ จิมมี่ บัฟเฟตต์ นักร้องและนักประพันธ์เพลง มาเปิดตัวในงาน ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดในชีวิต”
จากนั้นได้ย้ายมาทำในส่วนของ กูเกิล มูน ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สามมิติสำหรับดวงจันทร์ที่ช่วยให้คนทั่วไปสามารถเดินทางรอบดวงจันทร์ได้เหมือนอย่าง นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศชาวอเมริกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของการขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ของมนุษยชาติ และทำกูเกิล ฮีโร่ โครงการค้นหาคนจริงระดับโลก
“โครงการต่างๆ ที่ผมทำมาเรียกได้ว่าทุกคนเป็นระดับฮีโร่แล้วทั้งสิ้น เมื่อได้รับหน้าที่ดูแลโครงการนี้ ผมต้องหาคนที่มหัศจรรย์กว่านั้น และต้องทำให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีพลังเปลี่ยนโลกอย่างไร และผมก็ได้พบกับ ชีฟ อัลเมียร์ (Chief Almir) หัวหน้าเผ่าซูรุย (Surui) ในบราซิล ที่ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือมาที่กูเกิล เอิร์ธ ให้มาติดตั้งอินเทอร์เน็ตในป่า เพื่อให้คนทั่วโลกที่ดาวน์โหลดกูเกิล เอิร์ธ กว่า 1,000 ล้านคน ช่วยกันจับตามองคนขาวที่เข้ามาตัดไม้ทำลายป่า และชีฟก็สร้างโอกาสหารายได้ด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทนเพื่อดึงพื้นที่ป่ากลับมา”
เมื่อถึงจุดอิ่มตัวในการทำงาน กระทิงตัดสินใจลาออกจากกูเกิลและกลับมาสานต่อความฝัน คือการผลักดันให้คนรุ่นใหม่รู้จักนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ ด้วยการเปิดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพชื่อว่า Disrupt University ให้แก่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เป็นทีมก่อตั้งโครงการแอคเซเลเรทของดีแทค และเมื่อกลางปี 2558 ที่ผ่านมา ก็จับมือกับไอดอลวงการ
สตาร์ทอัพอย่าง ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือ หมู อุ๊คบี ทำเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนก้อนแรกสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพได้ไปต่อยอดธุรกิจ โดยเวลาเพียง 4 ปี บ่มเพาะไปแล้วกว่า 500 ทีม และยังเตรียมเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่าอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทิงมองถึงการเปลี่ยนแปลงของอินเทอร์เน็ตที่เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต 3.0 ไว้ว่า โลกของเราในเรื่องของเทคโนโลยีตอนนี้ ถือว่าเป็นยุคของ AR (Augmented Reality) หรือเทคโนโลยีที่ผสานโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือน และ VR (Virtual Reality) หรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความจริงเสมือน โดยการจำลองสภาพแวดล้อมให้ปรากฏเหมือนสภาพแวดล้อมในโลกจริง ในรูปแบบของฮาร์ดแวร์ทำงานร่วมกับโมบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคอินเทอร์เน็ต 3.0
“สิ่งที่น่ากลัวคือ Digital Transformation จะเข้ามา Disruption ในทุกอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่าเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานคนแล้ว ผ่านโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เรียกว่าสมาร์ทแมชชีน ทำให้ทุกอย่างรอบตัวเราฉลาดมากขึ้น เห็นได้จากรถยนต์ขับเคลื่อนเองได้ และเกิดความผิดพลาดน้อยมาก ไปจนถึงการจับมือของ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก และซัมซุงในงานเปิดตัวเทคโนโลยีสภาวะเสมือนจริง หรือ Virtual Reality โดยใช้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มและรับชมด้วยแว่นตาร่วมกับซัมซุง กาแล็คซี่ 7 หรือในสิงคโปร์เองก็เริ่มผลักดันยานยนต์ไร้คนขับให้เกิดขึ้นจริงแล้ว แม้จะยังเป็นโครงการนำร่อง แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะเกิดขึ้นจริงแน่นอน”
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทดแทนมนุษย์เหล่านี้ จะก่อให้เกิดปัญหาคนตกงานอย่างมหาศาลทันที เช่น พนักงานแบงก์จะลดลงอย่างน้อย 50% เพราะการใช้งานเบิกถอนเงินจะทำผ่านโมบายแบงก์กิ้งและไม่ต้องเปิดสาขาจ้างพนักงาน แม้กระทั่งอาชีพหมอที่จะเหลือคนที่เก่งที่สุด สำหรับสั่งงานเครื่องมือผ่าตัดแทนการจ้างพยาบาลผู้ช่วย เป็นต้น
ในอนาคตที่เคยมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา 20-30 ปี กว่าที่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์จะมาทดแทนคน แต่ตอนนี้เราอาจก้าวเข้าสู่ยุคนั้นเร็วกว่าเดิม อาจใช้เวลาเพียงแค่ 5-10 ปี เทคโนโลยีจะตามทันมนุษย์ ซึ่งเราต้องก้าวตามเทคโนโลยีให้ทัน
เทคโนโลยีเคยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเรื่องต้นทุนให้ถูกลง แต่ตอนนี้วิวัฒนาการและโลกของเราถูกไอทีพาให้เดินเร็วขึ้นแล้ว จึงเป็นยุคของคนที่ต้องเก่งจริงถึงจะอยู่รอด และรู้วิธีเตรียมรับมือทั้งโอกาสและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกัน และไม่ว่าจะเป็นคนยุคใดหรือวัยใด ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีได้อีกแล้ว
ข้อคิดคนรุ่นใหม่
เด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีความต้องการที่จะเป็นสตาร์ทอัพ หรือเจ้าของธุรกิจด้วยแนวคิดไม่อยากเป็นลูกจ้าง และอยากเป็นนายตัวเองมากกว่าจะยอมให้ใครมาออกคำสั่ง ซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่ไม่จริงเสียเลย กระทิง พูนผล ได้ให้คำนิยามและแนวความคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดแบบนี้ว่า
“ผมเคยผ่านจุดที่เป็นสตาร์ทอัพมาก่อน ซึ่งตอนนั้นทำแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการเช็กอินแบบโลเกชั่นเบส ระดมทุนก้อนแรกได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และติดอันดับท็อปเทนกูเกิลในตอนนั้น ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จได้ ทุกคนในทีมต้องมีความตั้งใจและขยันสูงมาก ไม่เหมือนการทำงานประจำที่เราจะมีเงินเดือนแน่นอน แต่ต้องพยายามมากกว่าการทำงานให้เสร็จไปในแต่ละวัน”
การทำงานในรูปแบบของสตาร์ทอัพนั้น จะต้องมีความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสตาร์ทอัพไม่ใช่เอสเอ็มอี แต่ต้องคิดและทำงานหนักมากกว่าสิบเท่า ต้องโตเร็วมากกว่าธุรกิจทั่วไปและโซลูชั่นจะต้องดีกว่าเดิม เพราะเทคโนโลยีจะต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในสังคมแบบเดิมๆ
“การที่ผมเปิดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพหรือ Disrupt University นั้น เพราะต้องการให้คนรุ่นใหม่หรือคนที่อยากเข้ามาทำธุรกิจแนวใหม่นี้รู้ว่าตัวเองจะเริ่มต้นอย่างไร แนวคิดเกี่ยวกับการทำงานแบบสตาร์ทอัพควรจะมีทิศทางอย่างไร และหาเงินทุนเริ่มต้นจากแหล่งใด ถือว่าเป็นแนวทางตั้งแต่ริเริ่มความคิดจนทำให้ตั้งตัวได้ เพราะเรื่องนี้ยังถือว่าใหม่ในไทยอย่างมาก”
ธุรกิจที่กระทิงสอนจนประสบความสำเร็จไปแล้ว ที่หลายคนรู้จัก ได้แก่ เคลมดิ (Claim di) แอพพลิเคชั่นเคลมประกันสำหรับลดปัญหาการส่งเคลมขณะเกิดอุบัติเหตุ สต็อกเรดาร์ (Stockradars) แอพพลิเคชั่นเช็กข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นที่กำลังโตในธุรกิจฟินเทค ถามครู (TaamKru) แอพพลิเคชั่นการศึกษาสำหรับเด็กประถมต้นที่โด่งดังไปทั่วเอเชีย และไพรซ์ซ่า (Priceza) เว็บไซต์เช็กและเปรียบเทียบราคาสินค้าทุกประเภท เป็นต้น
“เทคโนโลยีสมัยนี้โตเร็วมาก แต่เราสามารถเรียนรู้กันได้ เพราะแนวคิดสำหรับสตาร์ทอัพนั้น ต้องมองปัญหาให้เป็น โดยสิ่งสำคัญของการเป็นสตาร์ทอัพ คือ การคิดหาทางออกที่ดีกว่าวิธีการแบบเดิม (Better Solution) และต้องมองการเติบโตเพิ่มขึ้นสิบเท่า ถือว่าต่างจากธุรกิจแบบเอสเอ็มอี นักพัฒนาควรมองโจทย์เริ่มต้นก่อนว่าเหมาะจะเป็นสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีมากกว่ากัน”
การเติบโตของสตาร์ทอัพจะต่างจากเอสเอ็มอีตรงที่จะต้องโตมากกว่าสิบเท่าและต้องเร็วมากกว่าสิบเท่า เพราะนักลงทุนไม่ได้มีเวลารอเงินปันผลจากธุรกิจได้นาน 10 ปี ทำให้แต่ละปีจะโตครั้งละ 10% ไม่ได้ แต่ต้องเร่งให้เร็วและมากกว่า 90% จึงเห็นการระดมทุนบ่อยครั้งของธุรกิจสตาร์ทอัพในทุก 1-2 ปี และจะต้องมีผลตอบแทนให้นักลงทุนภายในเวลาที่ตกลงสัญญากันไว้ให้ได้
“การสร้างสตาร์ทอัพให้เติบโตต้องเปลี่ยนแนวคิดให้ต่างออกไปก่อน จึงจะสร้างการเติบโตได้ เอสเอ็มอีอาจจะใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ ในขณะที่สตาร์ทอัพใช้เงินน้อยกว่า เพราะรู้จักใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ได้ดีมากกว่า คนจะต่อต้านและไม่กล้าเริ่มนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้แก้ปัญหาเพราะคิดว่ายาก แต่ที่จริงไม่ได้ยากขนาดนั้น
“ยกตัวอย่างเช่น แกร็บแท็กซี่หรืออูเบอร์ที่ทำแอพพลิเคชั่นเรียกรถส่วนตัวและแท็กซี่ผ่านแอพ ถามว่าสตาร์ทอัพต้องลงทุนเปิดอู่เช่ารถหรือไม่ และต้นทุนในการทำธุรกิจก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น นอกจากงบการตลาดที่จะทำโปรโมชั่นหรือประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก ที่เหลือเป็นการเอาความคิดมาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น”
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นสตาร์ทอัพนั้น อยากให้เริ่มคิดจาก 5 ข้อคิด ดังนี้ 1.เปลี่ยนแนวคิดซะ สตาร์ทอัพไม่ใช่งานที่เงินสบาย รายได้ดี ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ตอนผมเป็นสตาร์ทอัพต้องคิดตลอด เวลาพักผ่อนมีแค่ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น 2.อย่าคิดว่าสตาร์ทอัพเป็นอาชีพอิสระ เพราะที่จริงแล้วมีภาระมหาศาลและอาจจะแย่กว่าเอสเอ็มอีด้วยซ้ำในช่วงตั้งต้น 3.ในระยะ 6 เดือนแรกมีโอกาสล้มเหลวถึง 50% ต้องอดทนรับความเสี่ยงและมีความหลงใหล (Passion) ในสิ่งที่ตั้งใจและไม่ท้อ 4.ค้นหาคนที่มีแนวความคิดในการทำงานทิศทางเดียวกัน มีทักษะเสริมกัน สามารถที่จะทำงานเยี่ยงควายได้ แม้รายได้จะไม่ดี 5.อย่ามองแค่การระดมทุน จงสร้างสินค้าที่ผู้ใช้งานรักและหลงใหล ยอมจ่ายเงินแบบไม่มีข้อแม้
หากทำไม่ได้ทั้ง 5 ข้อนี้ อาจต้องกลับมาย้อนคิดว่าคุณอาจจะเหมาะเป็นพนักงานบริษัท หรือทำธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่าเป็นสตาร์ทอัพ เพราะการเริ่มต้นทำสิ่งใดต้องมองแนวคิดตัวเองให้ขาด แต่อย่ากดดันตัวเอง และอย่าให้ใครมากำหนดขอบเขตความฝัน ต้องฝันให้ใหญ่กว่าความสามารถปัจจุบันที่ตัวเองทำได้จนตัวเองกลัว เพราะถ้าทำสำเร็จ เราจะอดทนต่ออุปสรรคใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา