โลกมองไทย
บทบรรณาธิการของเว็บไซต์เอเชีย เซนติเนล ซึ่งเขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
บทบรรณาธิการของเว็บไซต์เอเชีย เซนติเนล ซึ่งเขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ให้ความเห็นภายหลังจากข่าวการเสียชีวิตของ อำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูง วัย 61 ปี เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับอากงไม่ควรจะจบสิ้นลงภายหลังการเสียชีวิตของเขาแต่เพียงเท่านี้
ผู้เขียนให้ความเห็นว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคดีมาตรา 112 ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะมีการบังคับใช้มาตรา 112 ด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องสถาบัน หรือเพื่อเป็นการปราบปรามอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ โดยปวิน มองว่า ยิ่งมาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นตัวการบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันมากเท่านั้น
รายงานระบุว่า อากงได้กลายเป็นเหยื่อที่ดีที่สุดที่สมควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้แค้นทางการเมือง เพราะถึงแม้ว่าอากงเป็นชายไทยเชื้อสายจีนผู้ที่พูดภาษาไทยยังไม่ชัด ที่อาจไม่รู้ทักษะการใช้มือถือหรือการส่งข้อความสั้น ผู้ที่อาจจะรู้หรือแทบจะไม่รู้เกี่ยวกับมาตรา 112 เลย หรือเป็นผู้ที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการเรียกร้องใดๆ ทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่อากงก็ยังไม่รอดพ้นการถูกปรักปรำและถูกจับในคดีมาตรา 112 อยู่ดี
ปวิน กล่าวอีกว่า ถ้าหากไม่มีใครลุกขึ้นต่อต้านการใช้มาตรา 112 ประเทศไทย จะไม่สามารถเดินหน้าและพัฒนาเป็นประเทศที่ประชาชนมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้อย่างสมบูรณ์แบบได้ โดยผู้เขียนยังเชื่ออีกว่า การเสียชีวิตของอากงในวันนี้ จะช่วยเร่งผลักดันให้กระบวนการยกเลิกการใช้มาตรา 112 ในไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย