posttoday

เขตปกครองตนเอง'สิเกา'แม่ข่ายเศรษฐกิจชุมชน

15 กันยายน 2555

เขตปกครองพิเศษอาจฟังดูน่าประหลาดใจ แต่สำหรับสิเกา นี่คือรูปแบบการจัดการตนเองให้สอดคล้องกับสภาพวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

โดย...ธนก บังผล

เขตปกครองพิเศษอาจฟังดูน่าประหลาดใจ แต่สำหรับสิเกา นี่คือรูปแบบการจัดการตนเองให้สอดคล้องกับสภาพวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

ภูเขาและทะเล ทำให้ อ.สิเกา จ.ตรัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลไปยังเกาะแก่งต่างๆ มากมาย

ภายใต้ธรรมชาติอันงดงามนั้น อ.สิเกา ยังมีการบริหารจัดการภายในชุมชนน่าสนใจ โดยเฉพาะเขตปกครองตนเองใน 9 หมู่บ้าน พื้นที่ ต.บ่อหิน ซึ่งกลายเป็นโมเดลที่ถูกนำไปศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้

ธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน (อบต.บ่อหิน) ฉายภาพรวมพื้นที่ อ.สิเกา ซึ่งเน้นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ว่ามีประชากร 6,754 คน 1,950 ครัวเรือน นับถือศาสนาพุทธประมาณ 70% และศาสนาอิสลาม 30%

“อ.สิเกา มี 5 ตำบล 40 หมู่บ้าน ซึ่งระบบบริหารจัดการท้องถิ่นใน ต.บ่อหิน หมู่ 4 มีสภาองค์กรชุมชนทำงานควบคู่ไปกับสภา อบต.บ่อหิน โดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 7 เขต ตามจำนวนประชากร การคมนาคม คูคลอง เทือกเขา ให้ชาวบ้านเลือกเองว่าอยากจะอยู่เขตไหน เพราะบางหลังคาเรือนก็ไม่สะดวกที่จะข้ามเขาเพื่อไปอยู่อีกเขต ก็สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่กับอีกเขตหนึ่งในละแวกใกล้กัน แต่ละเขตก็จะมีประมาณ 2030 ครอบครัว ตกลงกันเอง แล้วมีการเลือกหัวหน้าเขต กรรมการบริหารเขต แล้วแต่ชาวบ้านจะตั้งกติกาขึ้นมากันเอง เพื่อมาทำงานวาระ 2 ปี ทำงานเหมือนเป็นรัฐบาลในหมู่บ้าน มีการเลือกคณะรัฐมนตรีหมู่บ้านทำงาน 8 ด้าน เหมือนกระทรวงที่กรุงเทพฯ”

เขตปกครองตนเอง\'สิเกา\'แม่ข่ายเศรษฐกิจชุมชน

 

ในฐานะนายก อบต.ธรรมฤทธิ์ ได้วาง 6 ระบบให้กับชุมชน ได้แก่ 1.ระบบบริหารจัดการท้องถิ่น 2.ระบบอาสาเพื่อชุมชน 3.ระบบการเรียนรู้ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น 4.ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.ระบบเศรษฐกิจชุมชน และ 6.ระบบสวัสดิการชุมชน

“การเลือกหัวหน้าเขตนี้ แต่ละเขตก็จะไม่เหมือนกัน บางเขตก็มีการเลือกตั้ง เพราะมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน บางเขตก็ไม่มีผู้สมัคร ก็จำเป็นต้องให้คนในเขตทั้งหมดสรรหาตัวแทนขึ้นมาเป็นหัวหน้าเขต โดยให้เป็นที่ยอมรับด้วย ระบบการแบ่งเขตปกครองนี้จะทำให้ได้หัวหน้าเขต 7 คน จะเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง สะท้อนปัญหาในแต่ละเขตได้ชัดเจน เมื่อถึงเวลาประชุมก็เอาปัญหา เอาข้อเสนอมาคุยกับผู้ใหญ่บ้าน จากเดิมในอดีตที่ผู้ใหญ่บ้านกับกำนันอยู่เฉยๆ ระบบแบ่งเขตนี้ก็จะทำให้ผู้ใหญ่บ้านกับกำนันได้มีงานทำ”

ธรรมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การให้อำนาจหัวหน้าเขตปกครองเทียบเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง มีสิทธิ และได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกระบวนการทางสังคม การเลือกตั้งหัวหน้าเขต คณะกรรมการ

การตั้งระบบหัวหน้าเขต 7 เขต แต่ละเขตนอกจากจะมีหัวหน้าแล้ว จะมีรองประธาน เหรัญญิก เลขานุการ และมีกรรมการเขต โดยหัวหน้าเขตมีอำนาจเท่าเทียมผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้หัวหน้าเขตทั้ง 7 จะเลือกคณะรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลชุมชน 8 คน 8 ด้าน

ซึ่ง 8 ด้าน จะเหมือนกระทรวงของรัฐบาล ประกอบด้วย 1.ด้านอำนวยการ 2.ปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย 3.แผนพัฒนาหมู่บ้าน 4.ส่งเสริมเศรษฐกิจ 5.สังคม สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข 6.การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 7.เยาวชน กีฬาและสันทนาการ 8.การพัฒนาและส่งเสริมสตรี

“การแบ่งเขตการปกครองให้กับหมู่บ้าน เป็นไปตาม พ.ร.บ.ปกครองส่วนท้องที่ ซึ่งระบบนี้ที่หมู่ 9 บ้านปากคลอง การเลือกตั้งที่ผ่านมาสามารถทำให้ชาวบ้านออกมาใช้สิทธิ 100% ในเวลา 1 ชั่วโมง ผมมองว่าการดำเนินการในมิติที่เอื้ออาทรทำให้สังคมมีความสุข คนเข้าถึงโอกาสมากกว่าให้คนที่ด้อยโอกาสอย่างเอื้ออาทรด้วยสวัสดิการชุมชน” ธรรมฤทธิ์ กล่าว

ไม่เพียงเฉพาะระบบบริหารจัดการท้องถิ่นเท่านั้นที่เห็นผลเป็นรูปธรรม อีกระบบหนึ่งที่สำคัญทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือ ระบบเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงบริหารจัดการทุนโดยชุมชนเพื่อชุมชน ในรูปแบบ “สถาบันการเงินชุมชนไสต้นวา หมู่ 4”

สุนทร แซ่เลี้ยว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 กล่าวว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากกองทุนหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2544 และได้ยกระดับมาเป็นสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2550 โดยเปลี่ยนการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุน

“สถาบันการเงินเปิดวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยวันที่ 11 ของทุกเดือนจะต้องเปิดให้ลูกค้ารายใหญ่ คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาฝากเงิน ที่บอกว่าลูกค้ารายใหญ่เพราะสถาบันการเงินมีทุน 10 ล้านบาท โดยกลุ่มออมทรัพย์เป็นหุ้นส่วนถึง 8 ล้านบาท”

เขตปกครองตนเอง\'สิเกา\'แม่ข่ายเศรษฐกิจชุมชน

กลุ่มสมาชิกของสถาบันการเงิน อาทิ กลุ่มผลิตเครื่องแกงบ้านไสต้นวา หมู่ 4 กลุ่มจักสานเตยปาหนันบ้านดุหุน หมู่ 3 กลุ่มน้ำยางสดบ้านดุหุน สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านดุหุน ธนาคารโรงเรียนบ้านดุหุน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดุหุน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด หมู่ 2 บ่อหินฟาร์มสเตย์ หมู่ 2 กองทุนปุ๋ยเพื่อการเกษตร เป็นต้น

“นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกรายบุคคลอีก 135 รายในหมู่บ้าน โดยจะทำธุรกรรมตั้งแต่เวลา 10.0014.00 น. รับฝาก ถอน กู้ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งการกู้จะคิดดอกเบี้ย 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือ 6 บาทต่อปี ต้องฝาก 6 เดือนก่อนจึงจะกู้ได้”

และจากผลประกอบการที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินมีผลกำไร สามารถมีสวัสดิการรองรับให้กับคนในชุมชนได้ เช่น 300 บาทต่อครั้ง ในการนอนโรงพยาบาล ทุนการศึกษานักเรียนโรงเรียนไสต้นวา สมทบการแข่งขันกีฬาประจำปีของหมู่บ้าน

“ในแต่ละกลุ่มที่เป็นสมาชิกกับสถาบันการเงิน ก็จะมีการจัดการ คิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน แล้วแต่จะตกลงกันเอง บริหารจัดการกันเอาเอง โดยในแต่ละปีส่วนใหญ่กลุ่มก็จะต้องให้ผลกำไร 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,000 บาท มาสนับสนุนกิจกรรมในหมู่บ้าน”

สถาบันการเงิน นอกจากจะเป็นที่กู้เงินฝากเงินให้กับกลุ่มต่างๆ ใน ต.บ่อหินแล้ว ในอนาคตยังจะวางแผนให้มีแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้กับคนในชุมชน และเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และอุปกรณ์ทางการเกษตรเพื่อให้สมาชิกซื้อผ่อน

“ปัญหาที่ผ่านมาก็คือเราทำบัญชีกันแบบบ้านๆ ไม่มีความรู้หลักบัญชีสากล อีกทั้งการเมืองทำให้คณะกรรมการหาย สมาชิกลาออกไปบางส่วนบ้าง แต่เมื่อมีปัญหาเราก็จะเรียกประชุมกันทันที ซึ่งวันนี้สถาบันการเงินทำให้กลุ่มต่างๆ อยู่ได้ ไม่เกี่ยวกับการเมืองแล้ว คือเราสามารถที่จะนำเงินไปสนับสนุนทีมฟุตบอล ซื้อเสื้อให้ได้ จากเดิมที่ต้องไปขอ อบต. ก็กลายเป็นว่าสถาบันการเงินทำให้ นักการเมืองไม่ต้องควักเงินส่วนตัวมาซื้อเสียงผ่านกิจกรรมชุมชน” สุนทร กล่าว

ความเชื่อมร้อยระหว่างระบบบริหารจัดการท้องถิ่นกับระบบเศรษฐกิจชุมชน จึงสัมพันธ์กันตรงที่กลุ่มต่างๆ นั้นก็อยู่ในเขต โดย ต.บ่อหิน ได้แบ่งเขตไปแล้วทั้ง 9 หมู่บ้าน และกำลังจะแบ่งเขตทั้ง อ.สิเกา

“เศรษฐกิจชุมชนทำให้ชาวบ้านได้ทำกิจกรรมด้วยกัน ในขณะที่ลูกหลานบ้านไหนที่เกเร หรือเกิดเรื่องขึ้นมา นายอำเภอสามารถจี้ลงมาที่ผู้ใหญ่บ้าน ให้ผู้ใหญ่บ้านถามหัวหน้าเขต ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นใคร บ้านอยู่ไหน ไม่ว่าจะหนีเรียน หรือมั่วสุมยาเสพติด เราสามารถเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ได้” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 กล่าว

รูปแบบของสิเกา เป็นตัวอย่างของการที่ชุมชนหาวิธีการจัดการตนเอง ซึ่งควรส่งเสริมเพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกันทั้งด้วยสภาพสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งเศรษฐกิจ