นายกฯเป็นประธานปลดตรวนผู้ต้องขัง
นายกฯเป็นประธานในพิธีปลดตรวนผู้ต้องขัง หมอวิสุทธิ์บอกเป็นนโยบายที่วิเศษสุดที่นักโทษได้รับ
นายกฯเป็นประธานในพิธีปลดตรวนผู้ต้องขัง หมอวิสุทธิ์บอกเป็นนโยบายที่วิเศษสุดที่นักโทษได้รับ
ที่เรือนจำกลางบางขวาง วันที่ 15พ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี “วันประกาศถอดตรวนผู้ต้องขัง”โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายณัชวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายชาติชาย สุทธิกลม เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศ์พัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.ร่วมในพิธี และมีพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้การต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีนักโทษประหาร และนักโทษจำคุกตลอดชีวิต พร้อมครอบครัวกว่า 500 คน เข้าร่วม และมีการจัดอาหารพร้อมเครื่องดื่มให้นักโทษด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามภารกิจเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญและประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมจึงได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ ศึกษาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ในการผ่อนปรน หรือปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการโดยเฉพาะ “ตรวน” ให้แก่ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ต้องจำตรวนตลอดเวลาภายในเรือนจำ
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายภารกิจให้นายวสันต์ สิงคเสลิต ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ดำเนินการ ซึ่งเรือนจำกลางบางขวาง เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงรับควบคุมผู้ต้องราชทัณฑ์สูงสุดถึงโทษประหารชีวิต และเป็นเรือนจำแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีแดนประหารชีวิต เรือนจำกลางบางขวางได้เริ่มดำเนินการทดลองถอดตรวนให้กับผู้ต้องขังที่จำตรวนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2556 โดยผู้ต้องขังที่ได้รับการถอดตรวน ได้แก่ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษต่ำกว่า 50 ปี จำนวน 16 ราย ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 34 ราย และผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษประหารชีวิต จำนวน 513 ราย รวมจำนวน ผู้ได้รับการถอดตรวนทั้งสิ้น จำนวน 563 ราย
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า การถอดตรวนในครั้งนี้ปรากฏว่าเกิดผลดีในเชิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังและญาติ โดยผู้ต้องขังและญาติล้วนมีทัศนคติในเชิงบวกต่อแนวนโยบายดังกล่าว ถึงแม้ว่าวันนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหลายนี้จะยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ แต่การที่ได้ถอดตรวนได้นำมาซึ่งความสุขในอิสรภาพที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ ปราศจากพันธนาการแห่งโซ่ตรวน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่มีการกระทำผิดวินัยผู้ต้องขังแต่อย่างใด ขณะนี้กรมราชทัณฑ์จะได้ขยาย แนวนโยบายนี้ไปยังเรือนจำ และทัณฑสถาน ทุกแห่งทั่วประเทศต่อไป โดยการประกาศถอดตรวน เป็นการถอดตรวนให้แก่ผู้ต้องขังที่จำตรวนอยู่ในเรือนจำตลอด 24 ชั่วโมง เหตุที่เรือนจำและทัณฑสถาน ต้องใช้เครื่องพันธนาการ หรือตรวน แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ภายในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2475 เพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายในเรือนจำ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ส่วนผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ถูกควบคุมตัวไปนอกเรือนจำ ปัจจุบันยังต้องมีการจำตรวนอยู่หากในอนาคต กรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือมาทดแทนการจำตรวนได้ จะสามารถยกเลิกการจำตรวนผู้ต้องราชทัณฑ์ในรูปแบบเดิมทุกเรือนจำต่อไป
น.ช.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อายุ 60 ปี นักโทษในคดีฆ่า พ.ญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยา กล่าวถึงนโยบายการถอดโซ่ตรวนนักโทษว่า ตนเหลือโทษอีก 17 ปี 1 เดือน โดยเข้าอยู่ในเรือนจำมาแล้วกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาตนเคยใส่ตรวนมา 4 ปี นโยบายถอดโซ่ตรวนตนเห็นว่าเป็นนโยบายที่วิเศษสุดเท่าที่นักโทษจะได้รับเพราะโซ่ตรวจมันกัดกร่อนสภาพจิตใจตลอดเวลา การเป็นอยู่หลับนอน ทำกิจวัตรประจำวันต้องใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ช.ม.ตนจึงเห็นด้วยอย่างมากกับการถอดตรวจนักโทษในเรือนจำครั้งนี้
"ตอนใส่โซ่ตรวจมีความรู้สึกว่าเราเป็นสัตว์ร้าย หรือสัตว์นรก สภาพจิตใจตอนนั้นมันแย่ และคิดว่าการยกเลิกการใส่โซ่ตรวจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมนักโทษตรงกันข้าจะทำให้ความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันระหว่างนักโทษกับเจ้าหน้าที่จะดีขึ้นมาก เพราะเป็นความรู้สึกที่ออกจากใจ และส่งผลให้นักโทษมีกำลังใจในการออกไปเป็นพลเมืองดีช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป ส่วนตนตอนนี้ก็เป็นผู้ช่วยแพทย์ในแดนพยาบาล ก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้ต้องขัง ไม่ได้มีความเครียดอะไร"น.ช.วิสุทธิ์กล่าว
สำหรับโซ่ตรวนข้อเท้าที่มีการยกเลิกในครั้งนี้มี 3 ขนาดประกอบด้วย ขนาด 17 มม.หนัก 5 กิโลกรัม ขนาด 12 มม.หนัก 2.6 กิโลกรัม และขาด 10 มม.หนัก 1.7 กิโลกรัม ส่วนโซ่ตรวนใหม่ที่จะมีการนำมาใช้จะมีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเพียง 0.6 กิโลกรัม เป็นทั้งแบบใส่ข้อเท่า และแบบโซ่ตรวนรัดเอวพร้อมมีกุญแจมือ โดยทั้งหมดถูกสั่งซื้อมาจากอเมริกา เพราะโซ่ตรวนมีความแข็งแรงยากแก่การทำลาย โดยจะใช้ใส่นักโทษเฉพาะออกนอกเรือนจำขณะออกไปศาลหรือย้ายเรือนจำ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra