เบื้องหลังโฆษณากระหึ่มโลก!ดราม่าหมอประจักษ์ไม่มีจริง
เผยที่มาโฆษณาสุดซึ้งชุด "Giving" ที่ทรูมูฟเอชระบุว่าเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสังคมออนไลน์
เผยที่มาโฆษณาสุดซึ้งชุด "Giving" ที่ทรูมูฟเอชระบุว่าเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสังคมออนไลน์
จากยอดดูกว่า 14 ล้านวิวในยูทูฟ และข้อถกเถียงในสังคมออนไลน์ ว่า นพ.ประจักษ์ อรุณทอง ในภาพยนตร์โฆษณา ทรูมูฟเอช ชุดใหม่ “Giving” มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของคุณหมอท่านไหน หมอไทยหรือหมอต่างประเทศ ซึ่งได้รับการนำเรื่องราว มาสื่อสารต่อได้ซาบซึ้งกินใจ
ท่ามกลางปริศนาดังกล่าว ทางกลุ่มทรูมูฟเอช ได้เล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังให้ฟังว่า ภาพยนตร์โฆษณาทรูมูฟเอช ชุด “Giving” เกิดจากแนวคิดหลักหรือธีม(Theme) ที่ว่า “การให้คือการสื่อสารที่ดีที่สุด” ในการนำเสนอหรือพรีเซนต์แนวคิดหลักดังกล่าว มีการระดมความเห็นวิธีเล่าเรื่องหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้นำไปสู่การสื่อสารที่ดีที่สุด ด้วยวิธีให้หลายลักษณะ โดยการให้ที่นำมาสู่ภาพยนตร์โฆษณาทรูมูฟเอช ชุด Giving เป็นการให้ที่เค้าโครงเรื่องได้แรงบรรดาลใจมาจากเรื่องราวในสังคมออนไลน์ เรื่องการให้โดยการรักษาพยาบาล และเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อไปให้กับผู้ที่ได้รับชมภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ต่อๆ ไป
ส่วนตัวละครในโฆษณา น.พ.ประจักษ์ อรุณทอง ทางทรูมูฟเอชระบุว่า ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงตัวละครที่แต่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งในภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ ได้มีคำชี้แจงช่วงท้ายไว้ว่าสามารถอ่านเรื่องราวเต็มได้ทางเว็บไซต์ของทรูมูฟเอช http://truemoveh.truecorp.co.th
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์บ้างก็ว่า หมอประจักษ์ อรุณทอง อาจจะเป็นคนเดียวกันกับ นายแพทย์เดชา ทองวิจิตร ที่ปรากฏเรื่องราวคล้ายกันในฟอร์เวิร์ดเมลฉบับหนึ่ง ที่มีการส่งต่อกันเมื่อหลายปีก่อน โดยฟอร์เวิร์ดเมลฉบับนั้นเล่าว่า ตัวละครที่ชื่อ หมอเดชา ในวัยเด็กเคยขโมยยาไปรักษาแม่จนถูกเจ้าของร้านดุ แต่ นางสมพร ภู่จันทร์ ที่เห็นเหตุการณ์รู้สึกสงสาร จึงมาช่วยจ่ายเงินให้ พร้อมกับยื่นส้มให้เด็กนำกลับไปรับประทาน
จากนั้นผ่านไป 20 ปี นางสมพรล้มป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมอง ต้องใช้เงินผ่าตัดถึง 5 แสนบาท ทำให้ทางครอบครัวกลุ้มใจมาก เพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปรักษา แต่สุดท้ายทางโรงพยาบาลไม่คิดเงินค่ารักษาเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะคุณหมอผู้ผ่าตัดที่ชื่อ นายแพทย์เดชา ขอตอบแทนบุญคุณที่นางสมพรเคยช่วยเหลือไว้สมัยเด็ก พร้อมกับระบุว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับแล้ว เมื่อยี่สิบปีก่อนด้วยยาแก้ปวด ยาธาตุ ส้มหนึ่งถุง
ขณะชาวเน็ตอีกกลุ่มหนึ่งระบุว่า เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากฟอร์เวิร์ดเมลต่างประเทศ โดยเรื่องเล่าว่าเด็กน้อยคนหนึ่งขโมยขนมปังแล้วได้คุณป้ามาช่วยเหลือ จากนั้นอีกหลายสิบปีให้หลัง เด็กน้อยคนนั้นได้กลายมาเป็นหมอรักษาโรคให้คุณป้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องเล่าลักษณะนี้ก็ถูกส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ นานนับสิบปี
หรือในเว็บไซต์พันทิปดอทคอมมีสมาชิก Mangashorn ให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้น่าจะหยิบเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของ ดร.โฮเวิร์ด เคลลี (Dr. Howard Kelly) แพทย์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกาที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2401-2486 โดยคุณหมอโฮเวิร์ดในวัยเด็กเคยไปเคาะประตูบ้านผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อขอนม 1 แก้วดื่มประทังความหิว และผู้หญิงคนนั้นก็ใจดีให้นมมาดื่มโดยไม่คิดเงิน
ภายหลัง เด็กชายคนนั้นได้เรียนจบจนเป็นหมอ เมื่อเขาเห็นชื่อผู้หญิงใจดีคนนี้มารักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาก็ไม่รอช้ารีบเข้าไปช่วยรักษาผู้หญิงคนนั้นจนหายจากโรคร้ายโดยไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว เขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเธอจ่ายค่ารักษาให้เขามาแล้วด้วยนม 1 แก้วนั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแรงบันดาลใจของภาพยนตร์โฆษณาเรื่องดังกล่าวจะมาจากไหน และทางเจ้าของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะออกมาบอกแล้วว่าได้มาจากแรงบันดาลใจจากสังคมออนไลน์ จากฟอร์เวิร์ดเมลที่ส่งต่อๆ กันมา ไม่ว่าหมอประจักษ์ จะมีจริงหรือไม่จริง แต่ก็เชื่อว่าคนที่ได้ดูหนังโฆษณาเรื่องนี้ คงจะได้แรงบันดาลใจส่งต่อไปให้กับผู้อื่นบ้าง