posttoday

พระนครคีรี วังบนภูเขากลางเมืองเพชรบุรี

08 มิถุนายน 2557

ไปเที่ยวเขาวัง หรือพระนครคีรี กับสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ที่จัดโครงการวัฒนธรรมสัญจร

โดย...สมาน สุดโต

ไปเที่ยวเขาวัง หรือพระนครคีรี กับสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ที่จัดโครงการวัฒนธรรมสัญจร เรื่องตามรอยฝรั่ง เล่าความหลังเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) เมื่อวันที่ 2526 เม.ย. 2557 จึงเก็บภาพและความประทับใจมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนข้อมูลอ้างอิงจากแผ่นพับที่เจ้าหน้าที่เขาวังแจกจ่ายแก่นักท่องเที่ยวทุกคน

ระวังลิงเขาวัง

การขึ้นชมเขาวังสมัยนี้มีเคเบิ้ลคาร์ให้เลือก เทียบกับสมัยก่อนที่เลือกไม่ได้ เพราะมีแต่บันไดคอนกรีตให้ไต่ขึ้นกว่าจะถึงก็เหนื่อย เมื่อมีทางให้เลือกผู้เขียนและคณะจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จึงเลือกขึ้นเคเบิ้ลคาร์และเดินลง ระหว่างทางพบเจ้าที่ หรือเจ้าจ๋อคอยมองจ้องอยู่เป็นระยะๆ

เรื่องเจ้าจ๋อเมืองเพชรบุรี มีเรื่องเล่าเยอะ รวมทั้งมีประกาศให้ระวังลิง มีข้อห้ามหิ้วของรุ่มร่าม หรือให้ของกิน มิเช่นนั้นจะถูกลิงรุมทึ้ง

พระนครคีรี วังบนภูเขากลางเมืองเพชรบุรี

 

นักท่องเที่ยวชาวจีนไต้หวันใส่ต่างหูยาวแกว่งไปมา ล่อตาเจ้าจ๋อเมืองเพชรยิ่งนัก มันจึงโดดกระตุกไปเลย เจ้าจ๋อไม่ได้แต่ต่างหูยาวติดมือไป แต่ได้ติ่งหูติดไปด้วย เรียกว่าดึงจนหูขาด บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เล่าว่า นักท่องเที่ยวสาวชาวไต้หวันคนนั้นฟ้องกรมศิลปากรเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท กรมศิลปากรบอกว่าไม่มีเงินจ่าย แต่จะรักษาให้ เรื่องจึงจบ

เรื่องลิงเพชรบุรี ยังเป็นเรื่องพูดถึงอีกหลายเรื่อง จะเล่าต่อครั้งต่อไป วันนี้ขอมาดูวังรัชกาลที่ 4 ก่อน

วังบนภูเขา 3 ยอด

เมื่อทุกคนพร้อมกันแล้ว เจ้าหน้าที่แผนกต้อนรับเรียกทุกคนให้มาพร้อมกันที่ภาพจำลองเขาวัง หรือพระนครคีรี พร้อมทั้งบรีฟให้ฟังว่ามีอะไร ตั้งตรงไหน พระที่นั่งแต่ละองค์นั้นชื่ออะไร วัดพระแก้วน้อย พระเจดีย์ อยู่ทิศไหนของวัง

ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่บรรยายกับแผ่นพับมีเนื้อหาสาระเหมือนกัน กล่าวคือ เขาวังนั้นเป็นพระราชวังฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อปี 2402 บนยอดเขาสมน (สะหมน) หรือเขาสมณ (สะมะนะ) พระราชทานนามว่า เขามหาสวรรค์ โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) และผู้ทำหน้าที่นายงานก่อสร้าง คือ พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค)

พระนครคีรีเป็นพระราชวังแห่งแรกของไทยที่สร้างขึ้นบนยอดเขา และที่พิเศษคือ เป็นยอดเขาสามยอดติดต่อกัน

พระนครคีรี วังบนภูเขากลางเมืองเพชรบุรี

 

ยอดเขาทางทิศตะวันออก

เป็นที่ตั้งวัดพระแก้ว หรือวัดพระแก้วน้อย โดยจำลองแบบมาจากวัดพระแก้วที่พระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยพระอุโบสถขนาดเล็กย่อส่วน หน้าบันปูนปั้นเป็นตราประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ” ปัจจุบันได้เก็บรักษาอยู่ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์

พระสุทธเสลเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลม เนื้อหินสีเทาอมเขียว เจดีย์องค์นี้สร้างด้วยวิธีพิเศษ คือ สลักหินประกอบเป็นองค์เจดีย์สำเร็จขึ้นที่เกาะสีชัง แล้วถอดเป็นชิ้นขนโดยเรือมาเพชรบุรี เพื่อมาประกอบที่วัดพระแก้ว

หอระฆัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก

พระนครคีรี วังบนภูเขากลางเมืองเพชรบุรี

 

ยอดเขาตรงกลาง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งมีมาแต่เดิมก่อนการสร้างพระราชวัง ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในองค์เจดีย์ด้วย พระราชทานนามว่า “เจดีย์พระธาตุจอมเพชร”

ยอดเขาทางทิศตะวันตก

เป็นที่ตั้งของหมู่พระมหามณเฑียรสถาน และพระที่นั่งต่างๆ ปัจจุบันพระที่นั่งบางองค์ได้รับการปรับปรุงเป็นอาคารจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ที่สำคัญคือ

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งประธานของหมู่พระที่นั่งต่างๆ ก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมไทยและจีน เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกขุนนาง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงแก้ไขดัดแปลงให้เป็นที่รับแขกบ้านแขกเมือง ประกอบไปด้วยห้องเสวยพระกระยาหาร ห้องทรงพระสำราญ ห้องพระสุธารสชา ห้องบรรทม ห้องสรง และห้องแต่งพระองค์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ จากประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 กล่าวว่า “พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์เป็นที่ประทับ” ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น แบบเก๋งจีน เชื่อมต่อกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ชั้นบนแบ่งเป็นห้องๆ คือ ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร

พระบรมรูปหล่อ

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์แบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ลักษณะเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ 5 ยอด โดยมีปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่เป็นปรางค์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงแก้วโดยรอบ ระเบียงชั้นบนสุดมีโดมโปร่งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสำริดของรัชกาลที่ 4 ทรงฉลองพระองค์ตามแบบพระราชดำริขึ้นใหม่ คือ ทรงสวมพระมาลาสกอต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดหนังสือ ประทับยืนภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร

พระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวยาว หลังคาแบบเก๋งจีน เป็นแบบศิลปะที่ผสมกันระหว่างศิลปะยุโรป จีน และไทย พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประชุมสาธยายธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมส่วนพระองค์ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ดัดแปลงเป็นห้องเสวยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ

หอชัชวาลเวียงชัย หรือหอดูดาว สร้างเป็นรูปโดมลักษณะคล้ายกระโจมแก้ว มีบันไดวนขึ้นชั้นบน หลังคาทำเป็นรูปโค้งมุงด้วยกระจกโค้ง ภายในโดมห้อยโคมไฟ ในสมัยก่อนชาวประมงได้อาศัยแสงไฟจากกระโจมแก้วนี้นำทางเข้าสู่อ่าวบ้านแหลมตอนกลางคืน

พวกเรามีเวลาจำกัด ชมด้านในพระราชมณเฑียรและด้านนอก ซึ่งดารดาษด้วยต้นลีลาวดี มองทิวทัศน์เมืองเพชรบุรีในระยะไกลและลึก แล้วลากลับหลังจากเจ้าหน้าที่เชิญรับประทานข้าวแช่ตำรับเพชรบุรีแท้ เพื่อดับร้อนกันทั่วหน้า

ได้ถามผู้รู้ว่า เพราะเหตุใดพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังฤดูร้อนบนภูเขา ท่านเล่าว่า เมื่อทรงผนวชถึง 27 พรรษานั้น พระวชิรญาณภิกขุ หรือพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา ได้เสด็จทุกถิ่นสถานในสยามประเทศ รวมทั้งเพชรบุรีด้วย จึงต้องพระราชหฤทัยเมืองนี้ โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม ตำนานและพงศาวดาร เมื่อทรงมีโอกาสจึงทรงสร้างพระราชวังขึ้นที่ภูเขากลางเมืองเพื่อแปรพระราชฐานในฤดูร้อน

มิใช่แต่เท่านั้น ยังทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดมหาสมณาราม สำหรับคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่เชิงเขาแห่งนี้ด้วย ผู้เขียนจะเล่าเรื่องวัดนี้ในตอนต่อไป เพราะเมืองเพชรมีดีมากล้น