posttoday

ระบบห่วงโซ่อาหารกุมชะตาผืนป่า

14 กันยายน 2557

ภาพการล่าของบรรดาสัตว์นักล่าและภาพเหยื่อที่เราคุ้นตาจากสารคดีอาจจะถูกมองว่าเป็นภาพความโหดร้าย

ภาพการล่าของบรรดาสัตว์นักล่าและภาพเหยื่อที่เราคุ้นตาจากสารคดีอาจจะถูกมองว่าเป็นภาพความโหดร้าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นกลไกสำคัญของระบบ ห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจินตนาการให้เห็นภาพความเชื่อมโยงนี้ จอร์จ มอนบิออท์ นักทำสารคดีสิ่งแวดล้อมเผยแพร่คลิปสารคดีที่ชื่อว่า “How Wolves Change Rivers” หรือ “หมาป่าเปลี่ยนแม่น้ำได้อย่างไร” ผ่านยูทูบ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน โดยเล่าเรื่องราวหลังจากมีการนำหมาป่าสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ปลายสุดของห่วงโซ่อาหารมาปล่อยคืนสู่ระบบนิเวศในประมาณปี 2538

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เจ้าหมาป่าจะถูกปล่อยกลับคืนสู่พื้นที่นี้ พวกมันซึ่งเป็นนักล่าประจำพื้นถิ่น ถูกมองว่าเป็นศัตรูของคนอเมริกันมาตั้งแต่ยุคอพยพเข้าตั้งรกราก จึงถูกล่าจนหายวับไปจากพื้นที่นี้เป็นเวลายาวนานถึง 70 ปี เมื่อไร้หมาป่า เหล่ากวางในอุทยานฯ ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามหาทางควบคุมประชากรอย่างไร พวกมันก็ยังมีจำนวนที่สามารถแทะเล็มพืชพรรณที่ขวางหน้าจนแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่ทันทีที่หมาป่ากลับคืนมาสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง

เจ้าหมาป่าเริ่มล่ากวางตามวิถีที่มันเรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ แต่สิ่งที่มันทำไม่ได้มีความหมายแค่การล่าเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลที่ตามมา นั่นก็คือ การล่าส่งผลไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกวาง ฝูงกวางซึ่งเป็นสัตว์ผู้ชำนาญพื้นที่ เมื่อถูกล่ามันก็เริ่มรู้ว่าหากจะเอาตัวรอดจากการล่า ต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่บางจุดที่จะถูกหมาป่าต้อนให้จนมุมได้ง่าย พืชพรรณในบริเวณนั้นที่ไม่ถูกกินเป็นอาหาร ก็มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง พื้นที่เตียนโล่งแปรสภาพคืนเป็นป่าไม้พื้นถิ่นอย่างต้นแอสเปิน หลิว และคอตตอนวูด ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

เมื่อป่าฟื้นขึ้น แนวป่าก็กลายเป็นแหล่งนกอพยพ ต่อมาจำนวนสัตว์อื่นๆ อย่าง บีเวอร์ นาก มัสแครต เป็ด ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ก็เพิ่มตามมาด้วย ในเวลาต่อมายังส่งผลให้จำนวนกระต่ายและหนูเพิ่มขึ้น สัตว์กลุ่มนี้คือแหล่งอาหารที่มีกลิ่นยั่วยวน สัตว์ผู้ล่าขนาดกลางอย่างเหยี่ยว สุนัขจิ้งจอก และตัวแบดเจอร์ ขณะเดียวกัน ซากสัตว์ที่หมาป่าเหลือทิ้งไว้ ก็ส่งกลิ่นเรียกให้สัตว์กลุ่มที่กินซากอย่างกาและอินทรีหัวขาวมากิน จนเพิ่มประชากรขึ้นตามไปด้วย

สารคดีนี้เล่าอีกว่า เจ้าหมาป่าได้เปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำ จากที่ไหลบ่ากระจัดกระจาย เป็นมีความคดเคี้ยวน้อยลง เมื่อพืชยึดเกาะริมตลิ่งเพิ่มขึ้นริมฝั่งก็ถูกกัดเซาะน้อยลง ลำน้ำแคบลง เริ่มไหลตามร่องคงตัวมากขึ้น

หมาป่ากลายเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบนิเวศทั้งระบบ จากจุดเล็กๆ ส่งผลแผ่ขยายออกไปหล่อเลี้ยงผืนป่า หุบเขา ธารน้ำ

ความรู้ทางชีววิทยา อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ระบบนิเวศจะถูกหมุนเวียนภายใต้เวลาที่เหมาะสม และมีความสมดุลซึ่งกัน และเป็นวัฏจักรที่เรียกว่า วัฏจักรของสสาร (Matter Cycling) ซึ่งเปรียบเสมือนกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสสารและพลังงานจากธรรมชาติสู่สิ่งมีชีวิตแล้วถ่ายทอดพลังงานในรูปแบบของการกินต่อกันเป็นทอดๆ

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งศึกษาเรื่องเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ป่าแม่วงก์ ป่าคลองลาน และป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่ามากว่า 20 ปี ระบุว่า แม้จะยังไม่มีงานวิจัยหรืองานอนุรักษ์รูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเยลโลสโตน แต่งานวิจัยจากผืนป่าตะวันตกที่ผ่านมาก็ทำให้ทราบว่า เสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยจากที่ได้พบจากพฤติกรรมและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทำให้พบว่า มันเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงของผืนป่า

นักวิชาการด้านเสือเล่าว่า หากป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ถูกเปลี่ยนแปลงหรือบุกรุก เสือก็จะอพยพหนีจากพื้นที่ ส่งผลต่อประชากรของพวกมัน ให้ลดลงหรือกระทั่งหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากเสือโคร่งเพศผู้เต็มวัย มีอาณาเขตในการลาดตระเวนเพื่อหากินประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร การเพิ่มประชากรเสือโคร่งตามธรรมชาตินั้น ยึดโยงอยู่เรื่องของอาณาเขตในการออกล่า ที่อาจจะส่งผลถึงสายพันธุ์ของประชากรสัตว์อื่นด้วย

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ระบุว่า แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางงานวิจัยยืนยัน แต่แน่ใจได้ว่า การตายของกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากวงจรระบบนิเวศ การควบคุมประชากรและคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติของกระทิงในพื้นที่ พื้นที่ป่ากุยบุรีซึ่งไม่มีเสือหรือสัตว์ผู้ล่าซึ่งอยู่ปลายสุดของห่วงโซ่อาหาร ส่งผลให้กระทิงไม่ต้องอพยพเพื่อหนีเสือ กระทั่งตัวที่อ่อนแอจากการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันก็ไม่เคยถูกล่า ในที่สุดกระทิงทั้งฝูงก็อ่อนแอไม่สามารถต้านทานโรคได้ วิกฤตเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์ตามระบบห่วงโซ่อาหารนี้กำลังเกิดขึ้นกับผืนป่าซึ่งไม่มีอาณาบริเวณที่กว้างพอที่เสือจะใช้เป็นพื้นที่หากินได้

บทเรียนจากสองพื้นที่ที่ยกมา เป็นตัวอย่างระบบห่วงโซ่อาหารที่ส่งผลโดยตรงต่อความหลากหลายของระบบนิเวศ แน่นอนว่า เรื่องนี้จะย้อนกลับมากระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราในแง่อื่นๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้