posttoday

พบตะขาบพันธุ์ไทยชนิดใหม่ของโลก

07 ตุลาคม 2557

จุฬาฯพบตะขาบม่วงสิมิลัน ไส้เดือนชนิดใหม่และปลิงควายรองรับภาคเกษตรดูแลสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศวิทยา

จุฬาฯพบตะขาบม่วงสิมิลัน ไส้เดือนชนิดใหม่และปลิงควายรองรับภาคเกษตรดูแลสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศวิทยา

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นพ. สุทธพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศ. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว ม่วง สิมิลัน ตะขาบ ซึ่งเป็นชนิดใหม่ในวงการชีววิทยา

ทั้งนี้ ได้พบไส้เดือนสายพันธุ์ของไทยกว่า 50 สายพันธุ์ และไส้เดือนชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ ในระบบนิเวศที่หลากหลายของไทย การค้นพบนี้เป็นผลมาจากการสนับสนุนของจุฬาฯ และสกว. เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านอนุกรมวิธาน และซิสเทมาติกส์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดินได้แก่หอยทาก กิ้งกือ ตะขาบ และไส้เดือนอย่างต่อเนื่อง

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างและศึกษาไส้เดือนทั่วประทศไทยพบว่าจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการค้นพบ และยืนยันแล้วกว่า 50 สายพันธุ์ และคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ไส้เดือนชนิดที่โดดเด่นได้แก่ไส้เดือนยักษ์แม่น้ำโขง Amynthas maekongianus พบที่ริมชายหาดแม่น้ำโขงหลายพื้นที่สองฝั่งโขงของไทยและลาว มีบทบาททำให้ดินบริเวณแม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร ไส้เดือนขี้ตาแร่ Metaphire peguana พบทั่วไปในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย  ขี้คู้ Metaphire posthuma ไส้เดือนแดง Perionyx excavatus ไส้เดือนคันนาสกุล Drawida ที่พบในระบบนิเวศป่าแบบต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศทางการเกษตร เกษตรกรนำไส้เดือนบางสายพันธุ์มาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ไส้เดือนชายหาด Pontodrilus littoralis ทำหน้าที่เป็นเทศบาลที่ชายหาดทรายทางทะเล กำจัดสิ่งปฏิกูลในหาดทราย ทำให้หาดทรายมีสิ่งมีชีวิตต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย สะอาด เป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีของคนไทย

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า  2-3 ปีที่ผ่านมาคณะนักวิจัยได้ค้นพบไส้เดือนชนิดใหม่ในประเทศไทยมากกว่า 20 สายพันธุ์ ชนิดที่โดดเด่นน่าสนใจ ได้แก่ 1.ไส้เดือนยักษ์สุรินทร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas arenulus Bantaowong & Panha, 2014 เป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ 1-2 ซม. ยาวประมาณ 30-40 ซม. ตัวใหญ่สุดมีความยาวเกือบ 50 ซม. พบครั้งแรกที่จ.สุรินทร์ โดยอาศัยอยู่ตามคันนาในดินร่วนปนทราย ที่ระดับความลึกประมาณ 20-30 ซม. 2.ไส้เดือนยักษ์ท่าคันโท มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas thakhantho Bantaowong & Panha, 2014 มีขนาดลำตัวกว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 30-40 ซม. ที่น่าสนใจคือไส้เดือนชนิดนี้ถ่ายมูล หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ขุยไส้เดือน” มีลักษณะเป็นหอคอยสูง 20-30 ซม. กระจายอยู่เต็มพื้นที่สวนของเกษตรกรที่อำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์  3.ไส้เดือนป่าเต็งรังชัยภูมิ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amynthas longicaeca Bantaowong & Panha, 2014 ชนิดนี้พบอาศัยอยู่ในป่าเต็งรังที่จ.ชัยภูมิ มีขนาดลำตัวประมาณ 1 ซม. ยาว 20-30 ซม. เป็นต้น

ศ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ของตะขาบที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว พม่า และมาเลเซีย ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2554 และได้ค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย จากหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยตะขาบชนิดใหม่ของโลกนี้ได้รับพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์จากพระองค์ท่านว่า Sterropristes violaceus Muadsub and Panha, 2012 หรือ ตะขาบม่วงสิมิลัน โดยคำว่า “violaceus” ในชื่อวิทยาศาสตร์หมายถึงสีม่วงของลำตัวตะขาบซึ่งตรงกับสีวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านโดยการค้นพบครั้งนี้ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ตะขาบม่วงสิมิลันนี้พบอาศัยอยู่บนหมู่เกาะในทะเลอันดามันเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบปลิงควาย จ.นครพนม ปลิงควายที่คนไทยรู้จักกันดีจัดอยู่ในสกุล Hirudinaria ซึ่งสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง และปลักควาย เป็นต้น จากการจัดจำแนกปลิงน้ำจืดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยใช้ลักษณะลำตัวภายนอก และอวัยวะภายใน พบว่ามี 2 ชนิดที่พบได้ทั่วไปคือ Hirudinaria manillensis (Lesson, 1842) Hirudinaria javanica (Wahlberg, 1856 ) และชนิดที่ยังจำแนกไม่ได้คือ Hirudinaria sp. ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้รับการยืนยันด้วยวิธีตรวจดีเอ็นเอ และโครโมโซมว่าเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่จริง โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว