สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง
ที่ประชุม สนช.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองวาระ2-3
ที่ประชุม สนช.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองวาระ2-3
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่.. )พ.ศ. .... ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว
นายกล้าณรงค์ จักทิก สมาชิก สนช. ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงว่า คณะกมธ.ได้มีการแก้ไขร่างฯทั้งหมด 8 มาตรา และ ตัดออก 1 มาตรา ทั้งนี้ จากการพิจารณาของคณะกมธ.วิสามัญที่มีบุคคลภายนอกทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นภายในศาลปกครองด้วยเหตุและผล
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเป็นรายมาตรา โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบตามกมธ.เสียงข้างมากให้มีการแก้ไข เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 12 กำหนดให้ดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (กศป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้
โดยคณะกมธ.เสียงข้างมากมีมติให้ตัดออกทั้งมาตรา ขณะที่ นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสุงสุด ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นเพื่อขออภิปรายต่อที่ประชุม เพราะต้องการให้คงไว้ซึ่งมาตรา 12 เนื่องจากองค์ประกอบกศป.เป็นการบัญญติในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยมีการระบุไว้ในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯมาก่อน ดังนั้น องค์ประกอบของกศป.ที่จะกำหนดขึ้นมาใหม่ตามร่างฯที่สภาฯรับหลักการ และกำลังพิจารณากันอยู่นี้ ก็ควรมีกำหนดให้การเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดด้วย
อย่างไรก็ตาม การตัดมาตรา 12 ออกทั้งมาตรา น่าจะไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน องค์ประกอบของ กศป.มีอยู่ไม่ครบตามจำนวน เพราะสัดส่วนจากวุฒิสภา และครม.หมดวาระลงไปแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2550 จะสิ้นสุดลง และจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ กศป.ทำหน้าที่ไปพร้อมๆกัน จึงน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดภายหลังจากที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้ไปแล้ว
ขณะที่ นายกล้าณงค์ กล่าวว่า ร่างเดิมที่สภามีมติรับหลักการนั้น มีการยกเลิกกศป.ทั้งหมด และจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ในระหว่างตั้งขึ้นใหม่นั้น ได้ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองเข้าไปทำหน้าที่แทน ซึ่งคณะกมธ.ได้มองเห็นว่ากศป.ชุดนี้ที่เหลือวาระอยู่ถึงวันที่ 19 เม.ย. 2558 หรืออีกราว 6 เดือน จะต้องหมดวาระไปด้วย เมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิกศป.ที่ยังอยู่ในวาระ
อย่างไรก็ตาม การที่ คณะกมธ.ตัดมาตรา 12 เพราะต้องการให้กศป.อยู่ต่อไป จนกว่าจะครบวาระ และเมื่ออยู่ครบวาระแล้ว ทางกมธ.ก็เขียนวิธีการคัดเลือกกศป.ที่ว่างลงได้ โดย คณะกมธ.ได้เขียนรองรับไว้ในมาตรา 13 แล้ว ซึ่งภายหลังที่ประชุมอภิปรายราว 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติในวาระสามเห็นชอบ 169 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง ให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฏหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่สภาจะรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีตุลาการ 101 คน เข้าชื่อเพื่อทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เพื่อให้ระงับหรือชะลอการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฏหมายที่ไม่ผ่านรับความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง กระทั่งนายพรเพชร เปิดให้ตุลาการฝ่ายที่เห็นต่างและสนับสนุนร่างดังกล่าวเข้าเป็นกมธ.ร่วมเพื่อพิจารณา และที่สุดที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติแก้ไขร่างพร้อมบังคับใช้เป็นกฏหมายในที่สุด