"บวรศักดิ์"กางแผนปรองดองหวั่นกระทบปฏิรูปเสียของ
“บวรศักดิ์” กางโรดแม็ปปรองดอง 4ปี ลงโทษคนผิด- เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ประสานคู่ขัดแย้งหาทางออก “เอนก” ผุดไอเดีย “รัฐบาลผสม”
“บวรศักดิ์” กางโรดแม็ปปรองดอง 4ปี ลงโทษคนผิด- เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ประสานคู่ขัดแย้งหาทางออก “เอนก” ผุดไอเดีย “รัฐบาลผสม”
การประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานการประชุม เพื่อให้ที่ปรึกษา คณะกรรมการ จำนวน 20 คน มาร่วมกำหนดแนวทางยุธศาสตร์และแนวทางในการทำงาน มีข้อสรุปดำเนินการ 4 ข้อคือ1.วางกรอบคิดและออกแบบกระบวนการสมานฉันท์ ปรองดอง ให้ควบคู่ไปกับการปฎิรูปประเทศ โดยร่วมทำงานกับกลไลที่มีอยู่และที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญ ของขั้นตอนและผลักดันให้เกิดผลในทางปฎิบัติ
2.แสวงหาจุดร่วมของคนในสังคมในการสร้างความปรองดอง ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นซ้ำผ่านการพูดคุย รับฟัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการถอดบทเรียน โดยสื่อสารและผลักดันมาตรการที่เห็นร่วมกันสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 3.สร้างความตระหนักถึงผลจากความขัดแย้งในมิติต่างๆให้เป็นบทเรียนของสังคม ด้วยฐานข้อมูลรวมเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบ ข้อเท็จจริงและการสังเคราะห์องค์ความรู้4.สร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการสร้างความปรองดอง ฟื้นฟูความสัมพันธ์ ลดอคติและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการทำงานเชิงกระบวนการ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี48 ความขัดแย้งยังคงอยู่ การแก้ปัญหา ต้องมี 3เรื่องคือ1.ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น 2.ความขัดแย้งที่มีสมมติฐานมาจากความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องปฎิรูป 3.ปัญหาการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเรื่องใหม่ปรากฎขึ้น ในภาค 4 การปฎิรูปและการสร้างงความปรองดอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หมวดคือ การปฎิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม การสร้างความปรองดอง สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
"การปฏิรูปอาจใช้เวลาถึง 4 ปี แต่การปรองดองควรทำให้เร็วไม่ควรถึง4 ปี โดยมีกฎหมายเป็นตัวสร้างองค์กรหรือคณะบุคคลที่มาดำเนินการกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน อาจต้องมีการรับผิด นำไปสู่การเยียวยา จดจำเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก จนไปสู่การให้อภัย แต่ไม่ใช่เริ่มจากการให้อภัยแล้วซุกเรื่องอื่นไว้หมด จากนั้นให้รัฐธรรมนูญสิ้นผลไป จึงไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้คนปรองดอง แต่เป็นการสร้างกระบวนการโดยมีคนกลางและนำคู่ขัดแย้งมาพูดคุยรวมถึงการสร้างกระแสในสังคมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง หากทำไม่ได้การรัฐประหารครั้งนี้ก็เสียของ” นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯชุดนี้จะนำผลการศึกษาเรื่องการปรองดองที่มีการทำไว้ก่อนหน้านี้มาพิจารณาประกอบ ควบคู่กับหารือทั้งคณะกรรมาธิการในส่วนของ สปช. สนช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยืนยันว่าการทำงานจะไม่ซ้ำซ้อนกัน รวมถึงจะมีการเชิญอดีตผู้นำ อดีตคู่ขัดแย้งทั้ง กปปส. นปช. มาพูดคุยเพื่อแสวงหาความปรองดองให้เกิดขึ้น ซึ่งแนวทางปรองดองที่เกิดขึ้นควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้คนได้มีปากมีเสียง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ศึกษาแนวทางแต่ยังไม่ถึงขั้นตอนประสานคู่ขัดแย้งมาหาทางออกร่วมกันในทางลับ
นายเอนก กล่าวยืนยันว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมทุจริต ก่ออาชญากรรม ไม่ลอยแพการปรองดองให้เป็นไปตามยถากรรม โดยจะมีการสอบถามประชาชน เชิญทุกฝ่ายให้ความเห็นว่าจะทำให้ประเทศไทยกลับไปเหมือนเดิมอย่างไร สร้างกระแสในสังคมเพราะปองดองในชั้นบนไม่สำเร็จแต่ต้องให้คนในสังคมเบื่อความขัดแย้งจึงจะปรองดองได้ เนื่องจากความขัดแย้งเกิดจากคนส่วนน้อยไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตามอาจต้องมีการเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ โดยจะมีการเยียวยาผู้เสียหายทุกด้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีกลไกจากการตั้งคณะกรรมการจากคู่ขัดแย้งซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับเข้ามาดำเนินการ อย่างไรก็ตามสำหรับโรดแม็ปการปรองดองที่จะเห็นออกมาเป็นรูปธรรมคาดว่าจะใช้เวลา 4เดือน
นายเอนก กล่าวด้วยว่า การสร้างความปรองดองที่เป็นรูปธรรมมีการคิดถึงการเขียนรัฐธรรมนูญให้สองฝ่ายคุยกันได้ โดยคิดถึงขนาดให้มีรัฐบาลผสม และยังมีอีกหลายอย่างแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด เมื่อถามว่า รัฐบาลผสมหมายถึงรัฐบาลแห่งชาติใช่หรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า อาจจะมองอย่างนั้นก็ได้แต่ต้องหมายถึงรัฐบาลที่มาทำหน้าที่ปฏิรูปและปรองดองต่อไป
“ถ้าพูดถึงในแง่รัฐธรรมนูญ เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ทั้งสองฝ่ายมาร่วมกัน เราต้องกล้าคิดถึงรัฐบาลผสม ถ้าเราไม่คิดอะไรเลย มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ในส่วนนี้ยังเป็นเรื่องของรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง เราคิดอะไรไว้เยอะพอสมควร แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด”
สำหรับคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง มีจำนวน20 คน อาทิ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายดิเรก ถึงฝั่ง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ คือนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ญาติวีรชนพฤษภา 35 นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน.ส.กมลเกด อัคฮาด เป็นต้น