ตร.ถกคุมเข้ม ‘จักรยาน’ นักกฎหมายหนุนใช้ยาแรง
กลายเป็นเรื่องถกเถียงและยังไม่สามารถหาบทสรุปได้อย่างลงตัว สำหรับประเด็นทางจักรยาน การขับขี่ และความปลอดภัย
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
กลายเป็นเรื่องถกเถียงและยังไม่สามารถหาบทสรุปได้อย่างลงตัว สำหรับประเด็นทางจักรยาน การขับขี่ และความปลอดภัย โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏข่าวนักปั่นหลายรายประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์พุ่งชนจนเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังเกิดเหตุขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อมีรถกระบะโตโยต้า วีโก้ พุ่งชน สุทธิพันธ์ จันทนคูล นักปั่นจักรยานเสือภูเขาวัย 75 ปี บริเวณไหล่ทางของถนนเลียบมอเตอร์เวย์ เขตสะพานสูง เป็นเหตุให้ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจและภายในสัปดาห์หน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประชุมร่วมกับชมรมจักรยานทั้งหมด เพื่อกำหนดแนวทางในการปั่นอย่างปลอดภัย
สำหรับประเด็นการหารือ ทั้งการ “กำหนดเวลา” ในการขับขี่จักรยานบนทางหลวง เนื่องจากพบว่านักปั่นเพื่อสุขภาพมักออกมาขับขี่ยามวิกาล รวมทั้งการ “จัดทำทางจักรยาน” อย่างจริงจัง
“เพราะถนนในประเทศไทยไม่มีความเหมาะสมที่จะขยายทางสำหรับจักรยาน เพราะบางแห่งแทบไม่มีฟุตปาทหรือทางเท้าสำหรับเดิน จึงไม่สามารถขยายเส้นทางจักรยานได้” พล.ต.ท.ประวุฒิ แสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ อาจมีการกำหนดไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขับขี่จักรยานบนถนนใหญ่ และหากผู้ใดจะขับขี่เพื่อออกกำลังกายต้องอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เช่น สวนสาธารณะ หรืออาจเสนอให้จัดทำ “ใบขับขี่” สำหรับจักรยานด้วย
ภายหลัง พล.ต.ท.ประวุฒิ แสดงท่าที เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อวิสัยทัศน์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นจำนวนมาก
ฝ่ายสนับสนุนการปั่นจักรยานยืนยันในหลักการ “share the road” คือถนนเป็นของทุกคนและไม่ควรถูกผูกขาดโดยรถยนต์เท่านั้น
ที่สำคัญ ประชาชนควรมีทางเลือกในการใช้ยานพาหนะใดๆ ในชีวิตประจำวันก็ได้ ประเด็นจึงน่าจะอยู่ที่การกำหนดนโยบายให้ชัดเจนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ถนนทุกประเภท และคุมเข้มวินัยจราจร
อีกฟากหนึ่งคือผู้ขับขี่รถยนต์ซึ่งเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากประสบการณ์การขับขี่ชัดเจนว่าจักรยานที่ปั่นกันอยู่บนท้องถนนนั้น สร้างความลำบากในการขับขี่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่มักจะมองไม่เห็น เพราะนักปั่นไม่ติดตั้งไฟให้สว่าง และยังรวมกลุ่มกันปั่นล่วงล้ำเข้ามาในเส้นทางสัญจร
แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการหา “จุดสมดุล” แต่ยาแรงขนานหนึ่งที่ ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กำหนดออกมา ก็ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น นั่นคือ “ยึดใบขับขี่” ผู้ที่ทำผิดกฎหมาย โดยผู้ที่ถูกดำเนินการจะไม่สามารถขอใบอนุญาตขับขี่ได้จนกว่าจะพ้นโทษไม่ต่ำกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ กฎหมายระบุไว้ว่า นายทะเบียนสามารถยึดใบอนุญาตขับรถได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หากปรากฏว่าผู้ได้รับใบอนุญาต ขับรถถูกกล่าวโทษว่าทำลายความสงบสุขของประชาชนบนถนนหรือทางหลวง และหากผู้ขับรถต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษเพราะเหตุเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น รวมถึงขับรถโดยใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
“กรณีมีผู้ขับรถยนต์ชนนักปั่นเมื่อเร็วๆ นี้ เราได้พิจารณายึดใบอนุญาตไปแล้ว” ธีระพงษ์ ระบุ
พิเชษฐ เมาลานนท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอว่า จำเป็นต้องเพิ่มโทษหนักและบังคับใช้อย่างเข้มงวดกับผู้ที่เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างที่วางแนวทางป้องกันอย่างยั่งยืน
“ในปี 2014 ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรทั้งหมด 126.5 ล้านคน แต่มีผู้ตายจากสาเหตุเมาแล้วขับเพียง 227 รายทั่วประเทศ นั่นเพราะเขาเชื่อว่าต้องใช้ยาแรง เช่น เมาแล้วขับแล้วมีคนตาย จำคุกไม่เกิน 25 ปี ปรับประมาณ 3 แสนบาท” นักวิชาการรายนี้ยกตัวอย่าง