เปิดสวนโมกข์กรุงเทพฯคืนพื้นที่บุญให้ประเทศไทย
คนกรุงที่อยากเรียนรู้ แต่ไม่กล้าไปปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นในวัด ก็สามารถมาเริ่มต้นลองชิม ลองชม ก่อนที่จะศึกษาหรือปฏิบัติเชิงลึก
คนกรุงที่อยากเรียนรู้ แต่ไม่กล้าไปปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นในวัด ก็สามารถมาเริ่มต้นลองชิม ลองชม ก่อนที่จะศึกษาหรือปฏิบัติเชิงลึก
โดย...อาทิตย์ เคนมี
วันพระใหญ่ที่ใกล้จะถึงนี้ เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้มีโอกาสชื่นชมกรุสมบัติอันเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของท่านพุทธทาสภิกขุครั้งแรกในพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ในงานเปิดตัว “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ส.ค.นี้
แม้งานก่อสร้างหอจดหมายเหตุฯ อาจยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% ดังที่หลายคนวาดหวังไว้ แต่ความตั้งใจและเจตนารมณ์ของคณะผู้สร้างถือได้ว่าสำเร็จลุล่วงไปแล้ว นับตั้งแต่เสาเข็มต้นแรกของหอจดหมายเหตุฯ แห่งนี้ยังไม่ลงหลักปักฐานก็ว่าได้
แนวคิดในการจัดสร้างเริ่มต้นขึ้นเมื่อทางสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และคณะธรรมทาน มีดำริที่จะก่อตั้งหอจดหมายเหตุฯ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี พุทธทาส เพื่อเก็บรวบรวมผลงาน เอกสาร เทปบันทึกเสียงของท่านพุทธทาสนับหมื่นๆ ชิ้น อันเป็นการสืบสานงานพระพุทธศาสนาผ่านงานของพุทธทาสในการนำพาสันติสุขกลับคืนสู่สังคมมนุษยชาติ อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
9 มิ.ย. 2551 คือวันแรกของการเริ่มต้นโครงการ จวบถึงปัจจุบันทุกอย่างปรากฏโครงสร้างครบถ้วนจนเกือบสมบูรณ์ และพร้อมเปิดต้อนรับผู้คนทุกหมู่เหล่าให้เข้ามาแสวงหาธรรมะ ณ สวนสาธารณะใจกลางกรุง
ท่ามกลางยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังห้ำหั่นกันอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนไม่น้อยล้วนอยู่ในอาการโหยหาความสงบสันติ คณะทำงานมูลนิธิหอจดหมายเหตุฯ จึงถือฤกษ์งามในช่วงวันเข้าพรรษาปีนี้ ขอเชิญชวนคนไทยมาร่วมทำบุญใหญ่เพื่อชุบชโลมสันติสุขในผืนแผ่นดินไทยขึ้นอีกครั้ง
“ช่วงที่ผ่านมาบ้านเมืองเราพูดถึงเรื่องการกระชับพื้นที่กันมามากแล้ว จึงอยากใช้โอกาสนี้ขอคืนพื้นที่บุญให้กับสังคมไทยสักครั้งที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมคืนพื้นที่บุญในใจตน และมาตกลงใจกันว่าต่อไปนี้เราจะขยายพื้นที่บุญให้กว้างขึ้นทุกแห่งทุกหน” นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส กล่าวถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดงานครั้งนี้
อาจเรียกได้ว่าเป็นงานเปิดตัวแบบชิมลาง หรือซอฟต์โอเพนนิง ซึ่ง นพ.บัญชา เปรียบให้ฟังว่า เหมือนกับเป็นการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก่อนจะเข้าอยู่อาศัย หลังจากนั้นเมื่องานก่อสร้างและตกแต่งทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงจะจัดงานแกรนด์โอเพนนิงอีกครั้ง โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
กิจกรรมคืนพื้นที่บุญที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ ถูกออกแบบให้มีรูปแบบอันหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีและจริตของผู้คนสมัยปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรสาธิตอย่างครั้งพุทธกาลที่บริเวณลานหินโค้ง จากนั้นเป็นพิธีเปิดห้องหนังสือและสื่อธรรม การแสดงธรรมกถา การปฏิบัติอานาปานสติภาวนาและเดินจงกรมรอบหอพุทธทาส นำโดย พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม
ขณะเดียวกันสำหรับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคย|กับการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมมหรสพทางวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการศิลปะกับธรรมะ เสวนาธรรมะในสวน เพื่อการเข้าถึงธรรมะในรูปแบบต่างๆ ทั้งดนตรี ศิลปะ บทกวี การแสดงละคร ตามความถนัดของแต่ละคน
“หอจดหมายเหตุพุทธทาส ถูกออกแบบให้เป็น Spiritaul Fitness & Edutainment Center เพื่อให้ทุกคนที่มาที่นี่เกิดการพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันเกิดการเรียนรู้ทางธรรมและปัญญาด้วย” นพ.บัญชา กล่าว
คุณหมอบัญชาหมายมั่นว่า กิจกรรมบุญที่ได้ประมวลไว้ทั้งหมดภายในงานนี้ จะสามารถสื่อสารและเข้าถึงประชาชนผู้ใฝ่หาธรรมะได้ในทุกระดับ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานหลั่งไหลมานับพันชีวิต ซึ่งทางมูลนิธิฯ พร้อมที่จะเปิดกว้างสำหรับคนทุกหมู่เหล่า
“ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วทุกคนล้วนมีจิตใจแสวงหาความสงบและความสุข แม้จะเห็นต่างหรือขัดแย้งกันทางความคิดจนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้ แต่ถึงจุดหนึ่งทุกคนก็คงฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่า แท้จริงแล้วเราคือใคร และจะไปสู่หนไหน ซึ่งสุดท้ายปลายทางของชีวิตก็คือการกลับคืนสู่ความสงบสันติ”
นพ.บัญชา มองว่า หลังจากบ้านเมืองผ่านพ้นเรื่องราวร้ายๆ มาระยะหนึ่ง จึงสมควรที่จะได้มีการตั้งสติและคิดทบทวนตัวเอง เพราะตามคำสอนของพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นพี่น้องกัน แม้เกิดมาจะมีความคิดต่าง แต่สุดท้ายก็คือมนุษย์ปุถุชนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม โดยหนทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดสติและปัญญาขึ้นได้ก็คือการปฏิบัติธรรม
ท่านพุทธทาสภิกขุได้ให้ความหมายของสวนโมกขพลารามไว้ว่า เป็นสถานอันรื่นรมย์และเป็นกำลังเพื่อการหลุดพ้น ส่วนหอจดหมายเหตุพุทธทาสแห่งนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ให้นิยามไว้ว่า เป็น “พารากอนธรรมะ” หรือเป็นตะกร้าสำหรับ|ทุกกิจกรรมดีๆ ที่ปราศจากอบายมุข
“หากพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ บางคนอาจเรียกที่นี่ว่าเป็นเคาน์เตอร์ธรรมะเซอร์วิส เพื่อให้มาทดลองชิมบุญ คนกรุงที่อยากเรียนรู้ แต่ไม่กล้าไปปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นในวัด ก็สามารถมาเริ่มต้นลองชิม ลองชม ก่อนที่จะศึกษาหรือปฏิบัติเชิงลึกในขั้นต่อไป” นพ.บัญชา กล่าว
นพ.บัญชา กล่าวว่า งานเผยแผ่ศาสนาในยุคปัจจุบันนอกจากจะรอให้ผู้คนมุ่งเข้าหาธรรมะแล้ว อีกส่วนหนึ่งจะต้องวิ่งเข้าหาเป้าหมาย จึงจำเป็นที่ต้องขยายขบวนธรรมะให้กว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยพื้นที่ภายในหอจดหมายเหตุฯ ได้มีการจัดสรรพื้นที่รองรับอย่างเป็นระบบหมวดหมู่ ประกอบด้วย ห้องหนังสือและสื่อธรรม สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาและค้นคว้า ห้องปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม รวมถึงพื้นที่แสดงงานศิลปะแขนงต่างๆ
“หลังจากวันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่คณะทำงานก็จะเข้าประจำการเต็มรูปแบบ พร้อมเปิดดำเนินการทุกวัน โดยทุกๆ เย็น เวลา 17.30-18.30 น. จะมีการสวดมนต์ ทำวัตร และนั่งสมาธิ ส่วนห้องหนังสือและสื่อธรรมจะเปิดตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. ทุกวันเสาร์มีจัดเสวนา และทุกวันอาทิตย์จะมีกิจกรรมนั่งสมาธิ โดยมีครูบาอาจารย์เครือข่ายสวนโมกข์มานำปฏิบัติ” นพ.บัญชา กล่าว
จากนั้นตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ต่อด้วยกิจกรรมธรรมะในสวน ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม สนทนาธรรม ร้องเพลงธรรมะ เล่นละครธรรมะ นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
นพ.บัญชา
นพ.บัญชา เล่าว่า เวลานี้หลายภาคส่วนเริ่มติดต่อขอเข้ามาใช้สถานที่กันพอสมควร อาทิ สุกรี เจริญสุข จากสถาบันดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดแสดงดนตรีทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อสร้างความรื่นรมย์และสงบเย็นแก่ผู้ฟัง ขณะที่สถาบันโยคะวิชาการจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน เตรียมจัดให้มีการฝึกสอนสมาธิด้วยวิธีโยคะที่หอจดหมายเหตุฯ เป็นประจำทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมใหญ่ที่จัดขึ้นในวาระต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“คาดว่าหลังจากนี้จะมีกิจกรรมแน่นพอสมควร ซึ่งหากใครต้องการจัดงานก็สามารถมาใช้ที่นี่ได้ หรือสามารถปรึกษากับเราและร่วมกันทำได้ โดยเบื้องต้นก็ต้องพิจารณาคัดสรรว่ากิจกรรมนั้นเป็นข้าศึกต่อกุศลหรือไม่ หรือพาคนไปในทางที่ถูกที่ควรหรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้แนวทางปฏิบัติของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างหลากหลายมาก แต่หลักสำคัญของเราคือ การเป็นทาสของพระพุทธเจ้า อะไรที่ถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้าเราไม่ปฏิเสธ ไม่ยึดติดว่าต้องเป็นแนวทางของท่านพุทธทาส อินทปัญโญ เท่านั้น”
นพ.บัญชา กล่าวถึงปณิธาน 3 ประการของท่านพุทธทาสไว้ว่า 1.การพาให้คนเข้าถึงหัวใจของศาสนาแห่งตน ฉะนั้น ไม่ว่าศาสนิกใดก็ตามก็สามารถเข้ามาใช้สถานที่นี้ได้ ตราบใดที่เป็นไปตามหลักคำสอนของศาสนาเพื่อการเข้าถึงศาสนาแห่งตน 2.เพื่อให้ทุกศาสนิกมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน หากทุกคนมีสันติภายใน ย่อมสามารถแผ่สันติภาพออกสู่ภายนอกได้ ฉะนั้น การใช้พื้นที่ภายในหอจดหมายเหตุฯ จึงไม่มีการแบ่งแยกหมู่เหล่า หากทุกศาสนิกเข้าถึงหัวใจของศาสนาและเชื่อมถึงกันได้ ก็สามารถร่วมกันสร้างสันติแก่โลกได้ 3.ทั้งหมดทั้งสิ้นต้องช่วยกันนำพาเพื่อนมนุษย์ออกจากอำนาจวัตถุนิยม ให้มีจิตที่อิสระจากการผูกมัดรัดรึงของอำนาจวัตถุนิยม ฉะนั้นกิจใดก็ตามที่เกิดขึ้นที่นี่ จึงไม่จำกัดศาสนาและไม่จำกัดครูบาอาจารย์หรือสำนัก
อย่างไรก็ตาม คุณหมอยอมรับว่า จะคาดหวังให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบคงเป็นไปไม่ได้ ศาสนิกทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาต่อไป โดยสามารถเข้าร่วมด้วยการเป็นอาสาสมัคร ทั้งแบบเต็มตัวและแบบเฉพาะกิจเพื่อเป็นธรรมะภาคีในการทำงาน
“การเกิดขึ้นของหอจดหมายเหตุฯ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีเงินเป็นตัวตั้ง แต่เกิดขึ้นด้วยใจ เมื่อใจชัด ปณิธานชัด ผู้ที่มีทุนทรัพย์ก็เข้ามาสมทบ อาคารหลังนี้เสร็จได้ก็ด้วยวิศวกร สถาปนิก มัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตย์ ซึ่งเป็นอาสาสมัครทั้งหมด ทุกคนมาขอช่วยด้วยใจโดยไม่คิดสตางค์ เมื่อหอจดหมายเหตุฯ สามารถก่อตัวขึ้นมาได้จนถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องชื่นชมทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันจนสำเร็จลุล่วงอย่างดียิ่ง สุดท้ายที่นี่จะกลายเป็นชุมชนสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาชีวิตและพัฒนาจิตใจ” นพ.บัญชา กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า คนไทยยังใฝ่หาพระศาสนา และมีความหวังว่าประเทศชาติย่อมมีทางออก