"เกรียน-หื่น" ออนไลน์ เมื่อคนไทยบางส่วนยังขาดมารยาทบนโซเชียล
ชำแหละพฤติกรรมเกรียนคีย์บอร์ดเมืองไทย ผ่านกรณีถล่มไอจีเจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งบรูไน
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
หลังนิตยสารดังได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “เจ้าชายอับดุล มาทีน” เจ้าชายรูปงาม แห่งราชวงศ์บรูไนดารุสซาลาม เล่นเอาแฟนคลับชาวไทยทั้งสาวแท้สาวเทียมพากันคลั่งไคล้หัวปักหัวปำ ต่างคนต่างเข้าไปโพสต์คอมเมนต์ในอินสตาแกรมส่วนพระองค์ "@tmski" อย่างถล่มทลาย ไม่ว่าจะหยอดมุขหวาน จีบแบบห้วนๆ โชว์หื่น พูดจาลามกหยาบคาย ช่างไร้กาลเทศะยิ่ง
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกรียนคีย์บอร์ดไทยก่อวีรกรรมเยี่ยงนี้ ก่อนหน้านั้นเคยสร้างชื่อก้องโลกมาแล้วมากมาย ตั้งแต่จงใจป่วนองค์การนาซ่าขณะถ่ายทอดสดการสำรวจดาวพลูโต เข้าไปด่าเฟซบุ๊กสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ต้องปิดตัวชั่วคราว รวมทั้งสร้างความวุ่นวายระหว่างการถ่ายทอดสดผ่านยูทูบกรณีประกาศค้นพบหลักฐานสำคัญของคลื่นความโน้มถ่วงในทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป
ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามว่า เมื่อไหร่คนไทยจะเข้าใจมารยาทการใช้งานในสังคมออนไลน์เสียที
โลกออนไลน์=ห้องนอนกระจกใสไร้ความเป็นส่วนตัว
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) อธิบายว่า กฎ 3 ข้อสำคัญสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตคือ พื้นฐานความเข้าใจเรื่องพื้นที่กึ่งสาธารณะ มารยาททางสังคม และความเป็นส่วนตัว
"ข้อแรกที่สำคัญคือ พื้นที่บนสังคมออนไลน์ หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว 100 % ซึ่งไม่ใช่ เฟซบุ๊กเคยบอกด้วยตัวเองว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ มีความผสมกันระหว่างพื้นที่สาธารณะและส่วนตัว ฉะนั้นอะไรก็ตามที่โพสต์ เขียน และคอมเมนต์ลงไป คนอื่นจะเห็นด้วย คุณสามารถโพสต์เเสดงความเห็นได้ทุกเรื่อง เพราะมีความเป็นส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันมันก็มีความเป็นสาธารณะอยู่ในนั้นด้วย ข้อสองคือ มารยาททางสังคม เราควรคำนึงถึงมารยาททางสังคมทั้งในชีวิตจริงเเละโลกออนไลน์ ข้อสามคือ ความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าใครจะโด่งดังมาจากไหน ทุกคนมีความเป็นส่วนตัวเหมือนกันหมด ซึ่งสังคมออนไลน์เเต่ละรูปเเบบมีระดับการตั้งค่าส่วนตัวที่เเตกต่างกันออกไป เราต้องเรียนรู้ระดับความเหมาะสมหรือปลอดภัยของสิ่งที่เราแสดงออกมา”
ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียรายนี้บอกว่า กรณีเจ้าชายอับดุล มาทีนแห่งบรูไน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะคุกคาม สัปดน และลามกหยาบคายค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียในเมืองไทยขาดความรู้เรื่องมารยาททางสังคมในการใช้โซเชียลมีเดีย
ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ถอดบทเรียน 7 ข้อกรณีเจ้าชายบรูไน
นักวิชาการประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ บอกว่า กรณีเกรียนไทยถล่มไอจีเจ้าชายบรูไน สามารถถอดบทเรียนมาให้ศึกษาได้ 7 ข้อสำคัญ ประกอบด้วยดังนี้
1.เเม้สังคมออนไลน์จะเป็นพื้นที่อิสระ เเต่มันไม่อิสระเพียงพอให้เราสามารถทำอะไรก็ได้ เหมือนเราอยู่ในห้องนอนเเล้วอยากจะตะโกน ร้องเพลงดังๆ หรือเดินเเก้ผ้า เฟซบุ๊กก็เหมือนคุณอยู่ในห้องนอน แต่ห้องนอนนั้นไม่ได้มีผนังปิดทึบ เเป็นกระจกทุกด้านเลย ทั้งบน ล่าง ซ้าย ขวา ฉะนั้นคุณไม่ควรเดินแก้ผ้าในห้องนอนแบบนี้ ต้องโพสต์ออกมาอย่างสุภาพเรียบร้อย ให้สมกับเป็นคนที่เรียนรู้เเละเข้าใจมารยาททางสังคม
2.การเข้าไปส่องดูรูป ดูข้อมูลส่วนตัว สามารถทำได้เท่าที่ข้อมูลเขาเปิดเป็นสาธารณะ อย่าพยายามเจาะข้อมูลส่วนตัวที่เจ้าของปกปิด
3. รูปภาพหล่อเหลาของเจ้าชาย เซฟ เก็บไว้ดูได้ แต่ห้ามนำไปตัดต่อ ตกเเต่ง หรือเขียนคำทะลึ่งลามกลงไปเพิ่มเติม อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพรบ.ลิขสิทธิ์
4. ระมัดระวังการใช้คำราชาศัพท์ เขียนด้วยถ้อยคำธรรมดาแต่สุภาพดีที่สุด
5.ทุกครั้งที่มีใครโด่งดังในโลกโซเชียล พฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางส่วนในไทยคือ เข้าไปถล่มเพจเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมส่วนตัวจนถล่มทุกทีไป ทุกคนต้องการควบคุมความเป็นส่วนตัวด้วยกันทั้งนั้น
6.ทำอะไร ควรคำนึงถึงมารยาท ธรรมเนียมประเพณี และความละเอียดอ่อนทางการทูต อย่าวิจารณ์กันอย่างสนุกปาก จนลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
7.แสดงความชื่นชม หรือให้ความสนใจที่ตัวผลงานของพระองค์บ้าง อย่าสนใจแต่ความหล่อเหลา เดี๋ยวจะถูกมองว่าคนไทยบ้าบูชาคนแต่เปลือกภายนอก เช่นเดียวกับกรณีวินมอเตอร์ไซค์หล่อ แม่ค้าสวย ยามหล่อ
ธาม ทิ้งท้ายว่า วีรกรรมของเกรียนคีย์บอดไทยทั้งหมดที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า รสนิยมการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยอยู่ในระดับต่ำเเละขาดความเข้าใจเรื่องมารยาททางสังคม
"จริตการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยคือ 'เกรียน' 'ติ่ง' และ 'แก๊งสเตอร์' เกรียนคือ พวกทะลึ่งไม่มีมารยาท ติ่งคือ ฉันอยากส่อง อยากทำอะไรก็ได้ที่ฉันสน และเเก๊งสเตอร์ คือพวกที่พร้อมเข้าไปถล่มในสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ พร้อมตามล่าขุดคุ้ย ทั้งสามอย่างเป็นจริตที่ค่อนข้างไม่ดีในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ควรได้รับการเเก้ไข ขอให้ทุกคนช่วยๆ กันตระหนักว่าสื่อสังคมคือพื้นที่สาธารณะ คิด เขียนอะไรลงไปมันอาจละเมิด คุกคาม ปรามาส ทะลึ่ง ลามก สุดท้ายทุกคนจะเห็นถึงกันหมด”
ผู้หญิงอย่าลดคุณค่าตัวเองด้วยสิ่งที่โพสต์
บรรทัดต่อไปนี้ถือเป็นการเตือนสติสาวๆทั้งหลายที่ออกอาการ "หลงลืมตัว"จนไม่น่ารัก
บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี วิเคราะห์ว่า ทุกวันนี้เรื่องเพศเป็นหัวข้อที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งในโลกอินเทอร์เน็ต หลายคนไม่นำเสนอความคิดเห็นผ่านตัวตนโดยตรง จึงกล้าที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิด ขณะบางคนเห็นว่าสิ่งนี้คือการปลดปล่อย รวมทั้งยังมีหลายคนทำไปเพื่อสร้างตัวตนให้โดดเด่นน่าสนใจ
“สาวๆอาจจะคิดว่าคอมเมนต์ขำๆ เจ้าชายท่านคงเห็นอ่านภาษาไทยไม่ออก เเละไม่มีวันรู้จักเรา หรือบางคนพยายามคอมเมนต์แรงๆ เพื่อให้ตัวเองดูโดดเด่น อยากบอกว่า การสร้างตัวตนให้น่าสนใจแบบนั้นอาจเป็นการลดคุณค่าในตัวเองลงได้ คนอื่นอาจมองคุณหรือตัดสินคุณในแบบที่คุณกระทำ ตอนที่เเสดงความเห็นไป เราอาจจะทำไปด้วยความคึกคะนอง เเต่อนาคตข้างหน้า หากเรากลายเป็นคนที่มีตัวตนขึ้นมา เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เคยเขียนไว้จะกลับมามีผลอย่างไรกับเรา ฉะนั้นก่อนตัดสินใจ ขอให้คิดไกลๆว่าเราสามารถยอมรับผลที่ตามมาในอนาคต จากสิ่งที่เราทำวันนี้ได้หรือไม่”
บุ๋ม ปนัดดา บอกว่า ทุกคนมีสิทธิเเสดงความคิดเห็น เเต่ต้องไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อนเสื่อมเสีย ตรงนี้เป็นกฎหมายเเละมารยาททางสังคมที่พึงกระทำอยู่เเล้ว ควรมีขอบเขตในการกระทำไม่ใช่เคยชินไปกับการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ ภายใต้ความคิดว่าจะพูดหรือจะเขียนอะไรก็ได้
โลกโซเชียลเน็ตเวิร์กเปรียบเสมือนพื้นที่กึ่งสาธารณะ เราๆท่านๆจำเป็นต้องคิดหน้าคิดหลัง ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่น ฉะนั้นคอมเมนต์และเนื้อหาต่างๆที่โพสต์ลงไปต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิผู้อื่น มารยาท และกาลเทศะด้วย