นายกฯ คนนอกมาแน่
เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีคนนอกชัดเจนขึ้น เมื่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีคนนอกชัดเจนขึ้น เมื่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ต้ั้งคำถามประกอบการทำประชามติ ว่า เพื่อให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาล ช่วง 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภา ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (สส.-สว.) พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
สอดรับกับมติของที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนหน้านี้ ที่เสนอมายัง สนช.
ทุกอย่างตอกย้ำข้อครหาเรื่องการ “สืบทอดอำนาจ” เพราะหากจำได้ก่อนหน้านี้ข้อเสนอ เรื่อง “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ถูกจุดประเด็นมาตั้งแต่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งห่วงว่าการกำหนดเงื่อนไขล็อกให้นายกฯ ต้องเป็น สส. อาจทำให้ทุกอย่างเดินหน้าสู่ทางตันซ้ำรอยอดีต
ครั้งนั้นกระแสถล่มทั้งเรื่องถอยหลังเข้าคลองและห่วงกันว่าจะเป็นการเปิดประตูให้คนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแบบไม่ต้องออกแรง
สุดท้าย กมธ.ยกร่างรัฐธรมนูญต้องตัดสินใจ เพิ่มเงื่อนไขกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น สส. จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
ทว่าปัญหายังไม่หมดไปเสียทีเดียว เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดมาตรการ ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาพรรคละ 3 รายชื่อ เพื่อตัดตอนข้อครหาเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก
โดยโยนให้พรรคการเมืองเป็นคนตัดสินใจว่าจะเสนอรายชื่อใครขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ล่วงหน้า ป้องกันมือที่มองไม่เห็นจะแหกโผมาเป็นตาอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย
ที่สำคัญ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคตเพื่อคลายความกังวลเรื่องการสืบทอดอำนาจ
แต่ความกังวลกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อหนึ่งใน 3 ข้อเสนอ คสช. ถูกส่งตรงไปยัง กรธ. ด้วยการเสนอให้ สว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มาจากการสรรหาแทนระบบเลือกไขว้แต่ละสาขาอาชีพ และ กรธ.ตัดสินใจแก้ไขตามข้อเสนอ คสช. ด้วยการไปปรับเพิ่มอยู่ในบทเฉพาะกาล
แม้จะหยิบยกเหตุผลเรื่องการสานต่อการปฏิรูปและการทำให้งานที่ได้ริเริ่มไว้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมี สว.สรรหามาทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต
แต่ข้อกังขาเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” ผ่าน สว.สรรหาชุดนี้ กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง โดยเฉพาะอำนาจหลายอย่างทั้งการให้สภาต้องรายงานความคืบหน้าปฏิรูปให้ สว.รับทราบ
ไม่แปลกที่ พล.อ.ประวิตร ต้องรีบออกมาเบรกกระแสยืนยันว่า สว.สรรหาชุดเปลี่ยนผ่านจะไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ โดยเฉพาะอำนาจแต่งตั้งนายกฯ เพราะหาก สว.สามารถแต่งตั้งนายกฯ ย่อมทำให้ข้อครหาเรื่องสืบทอดอำนาจกลับมาเป็นประเด็น และฉุดกระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญหนักขึ้น
ยิ่งสัญญาณหลายอย่างปรากฏให้เห็นเงื่อนงำ ทั้งเรื่องใบสั่ง เพิ่มจำนวน สว. ในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น 250 คน เพื่อให้มีสัดส่วนเพียงพอจะคัดง้างกับ สส. 500 คน ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา
ต่อด้วยเงื่อนไขสำคัญ กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามลิสต์รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นมา สามารถใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วม สส. สว. เพื่อของดเว้นการบังคับใช้มาตรานี้ อันจะเป็นการเปิดช่องให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกลิสต์ได้
โดยเฉพาะกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ยากจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงเบ็ดเสร็จ ดังนั้นการเลือกนายกฯ ด้วยกรอบปกติจึงไม่ใช่เรื่อง่าย
อีกทั้ง สนช.ตั้งคำถามพ่วงประชามติและประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับการให้ สว. มีอำนาจเลือกนายกฯ คนนอกด้วยแล้ว ย่อมทำให้อำนาจของ สว. สามารถชี้เป็นชี้ตายนายกรัฐมนตรีได้ในอนาคต
เข้าทำนอง “ชงเองกินเอง” ทั้งทำหน้าที่ปลดล็อกให้ สว.เข้ามาเลือกนายกฯ ได้แล้ว สุดท้ายยังมีสิทธิมีเสียงมาลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้เอง
ที่สำคัญ “ที่มา” ของ สว. ชุดเปลี่ยนผ่านชุดนี้ยังมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่ตั้งโดย คสช. ดังนั้นย่อมคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเลยว่าหน้าตาบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกเป็น สว.จะออกมาอย่างไร
อีกทั้งด้วยจุดแข็งเรื่องความเป็นเอกภาพของ สว.ชุดนี้ ยังเอื้อให้ช่วยกำหนดทิศทางและอาจถึงขั้นชี้ขาดคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนอกได้อย่างมีนัยสำคัญ
อยู่ที่ว่าสุดท้ายผลของประชามติจะออกมาเห็นชอบกับเส้นทางของนายกฯ คนนอกหรือไม่